เผย 3 ลำดับแรกภาวะสุขภาพ-โรคติดต่อสำคัญคนต่างด้าว

เผย 3 ลำดับแรกภาวะสุขภาพ-โรคติดต่อสำคัญคนต่างด้าว

เผย 10 รายการสำคัญภาวะสุขภาพและโรคติดต่อคนต่างด้าว สธ.ชงของบ 90 ล้านบาท ดูแลสุขภาพกลุ่มยังไร้สิทธิรักษา เน้น 3 เรื่อง วัคซีน-วัณโรค-เอชไอวี ขณะที่ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติ 4-5 ล้านคน เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย 50-60 %

       วันนี้(18 พ.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ประจำปี 2562 ภญ.ธนพร บุษบาวไล โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ นำเสนอผลการศึกษาสถานการณ์ภาวะสุขภาพและโรคที่สำคัญของคนต่างด้าวในประเทศไทยว่า คนต่างด้าวในการศึกษานี้หมายถึงแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาวและกัมพูชา รวมถึงผู้ติดตาม ซึ่งจากการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อจัดลำดับความสำคัญของภาวะสุขภาพและโรคที่สำคัญของคนต่างด้าว พบว่า ผลการจัดลำดับความสำคัญของภาวะสุขภาพและโรคติดต่อ 10 รายการเรียงจากความสำคัญมากไปน้อย คือ วัณโรค โรคเอดส์ การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน โรคซิฟิลิสและโรคหนองใน ท้องร่วง ไข้เด็งกี/ไข้เลือดออก โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน โรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคมาลาเรีย
         สำหรับภาวะสุขภาพและโรคไม่ติดต่อ 10 รายการ ได้แก่ ตั้งครรภ์ โรคเบาหวาน ความผิดปกติในทารกแรกเกิด ความดันโลหิตสูง สารเสพติดให้โทษและพิษสุราเรื้อรัง การบาดเจ็บจากการทำงาน การบาดเจ็บในกะโหลกศีรษะ โรคจิต จิตฟั่นเฟือนหรือปัญญาอ่อนหรือจิตเวชอื่นๆ เนื้องอกร้ายของเต้านม และเนื้องอกร้ายของปากมดลูก/มดลูก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กระทรวงแรงงาน หน่วยบริการด้านสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนควรปรับปรุงการดูแลสุขภาพของคนต่างด้าวในประเทศไทย โดนอาจใช้ภาวะสุขภาพและโรคที่ได้จากการจัดลำดับความสำคัญนี้ไปพิจารณาทั้งในเรื่องของการตรวจคัดกรอง การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการรักษาพยาบาล จะช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพของคนต่างด้าวได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
 

      งานเดียวกันมีการเสวนาเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาด้านการดูแลสุขภาพประชากรข้ามชาติระดับประเทศ” โดยนพ.ภูษิต ประคองสาย ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ(ด้านส่งเสริมสุขภาพ) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีประชากรข้ามชาติเข้ามาอาศัยอยู่ประมาณ 4-5 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ 50-60 %เป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย อีก 40 %เป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างไม่ถูกต้องและเข้ามาตามข้อตกลงระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมาตรการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไปในอนาคต
         นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยมีผลต่อจีดีพี(GDP)ของไทย ประมาณ 6.2 % หากมีการผลักดันแรงงานกลุ่มนี้ออกไป จะมีผลต่อจีดีพีของประเทศไทยอย่างแน่นอน ซึ่งการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติเมื่อปี 2557 มีจำนวน 1.7 ล้านคน เป็นชาวกัมพูชามากที่สุด ดังนั้น การให้คนเหล่านี้มีหลักประกันสุขภาพเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งปัจจุบันระบบประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ มี 2 ระบบ คือ ประกันสังคมและบัตรประกันสุขภาพที่ซื้อกับสธ.ซึ่งจะเป็นแรงงานกลุ่มที่ผ่อนผัน ผู้ติดตามที่ไม่ใช่บุตร และแรงงานที่เข้ามาตามเอ็มโอยูระหว่างประเทศ หรือผู้ที่เข้ามาทำงานตามไร่ส่วน ราคาปีละ 1,600 บาท หากเป็นบุตร ปีละ 365 บาท
           อนาคตตัวเลขการซื้อบัตรประกันสุขภาพกับสธ.จะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาจะต้องมีนายจ้างและเข้าสู่ระบบประกันสังคม จากเดิมสัดส่วนระหว่างประกันสังคมและบัตรประกันสุขภาพอยู่ที่ 20 ต่อ 80 % ปัจจุบันอยู่ที่ราว 60 ต่อ 40 % อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยพบว่าแรงงานข้ามชาติไม่อยากไปอยู่ในระบบประกันสังคมเนื่องจากค่อนข้างแพงปีละราว 5,000 บาท เพราะฉะนั้นจะต้องมีการศึกษาถึงแนวทางระบบประกันสุขภาพประชากรข้ามชาติที่มีความเป็นไปได้ ในรูปแบบที่ไม่เป็นภาระกับแรงงานและประเทศชาติไม่มีปัญหาในการดูแล
            

          นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า แผนการดำเนินงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในส่วนของสธ.มีการเตรียมการใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการให้บริการสาธารณสุขบางอย่างแก่ประชากรที่ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นการให้บริการที่ต้องให้ฟรี เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับความมั่นคงของประเทศ โดยที่ผ่านมาไม่มีงบประมาณสนับสนุนในส่วนนี้ที่ชัดเจน เป็นการดำเนินการแบบเลี่ยงบาลี เช่น การให้วัคซีนป้องกันโรค จะคิดการสูญเสียวัคซีอยู่ที่ 30-40 % แต่ในความเป็นจริงคือนำมาให้เด้กต่างด้าว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากนี้สธ.จะดำเนินการเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรวม 80-90 ล้านบาท เพื่อดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.การให้วัคซีนกับคนต่างด้าว ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลทั่วประเทศต้องใช้งบประมาณดำเนินการส่วนนี้อยู่ที่ 28 ล้านบาทต่อปี 2.การป้องกันวัณโรค และ 3.การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสอยู่เดิม ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลก (Global Fund) แต่ปัจจุบันไม่ได้ให้การสนับสนุนแล้ว แต่ประเทศไทยจะต้องดูแลคนกลุ่มนี้ให้ได้รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง
        และ2.แผนพัฒนาสาธารณสุขในเขตสุขภาพพิเศษ มี 4 ด้านคือ พื้นที่อีอีซี กำลังจะเติบโตทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะมีคนหลั่งไหลเข้าไป 8-9 ล้านคนรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย ระบบสุขภาพจึงต้องเปลี่ยน พื้นที่สาธารณสุขทางทะเล ต้องพัฒนาระบบการส่งต่อและการดูแลระบบสาธารณสุขในพื้นที่ให้ดีขึ้น พื้นที่ชายแดน ซึ่งประเทศไทยมี 31 จังหวัดที่ติดชายแดน ต้องมีความร่วมมือกับประเทศที่อยู่ติดกัน ในการการควบคุมโรคและการส่งต่อคนไข้ซึ่งยังเป็นปัญหา และสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะมีการนำแผนนี้มาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นแผน 3 ปีถึงปี 2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ก่อนเข้าสู่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบต่อไป
          “การดำเนินการเรื่องการดูแลสุขภาพประชากรข้ามชาตินี้เป็นการทำเพื่อสิทธิมนุษยชนและป้องกันคนไทยส่วนใหญ่ไม่ให้ติดโรคและประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์ และอยากให้มีการปรับเจตคติว่าการให้การดูแลช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ จะต้องไม่มีเรื่องของเชื้อชาติ ชนชั้นวรรณะ”นพ.ศุภกิจกล่าว