เปิดแถลงการณ์พันธมิตรป้องกันประเทศ 'ไทย-สหรัฐ'

เปิดแถลงการณ์พันธมิตรป้องกันประเทศ 'ไทย-สหรัฐ'

เผยเนื้อหาแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ ระหว่างสหรัฐกับไทย 2020 (Joint Vision Statement 2020 for the U.S. – Thai Defense Alliance) ซึ่งสะท้อนถึงการยกระดับความเป็นพันธมิตร-สัมพันธ์ทางทหารที่แน่นแฟ้น

วานนี้ (17 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายมาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้ลงนามแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม พันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ ประจำปี 2563 ซึ่งรวมถึงการฝึก ศึกษา เสริมสร้างขีดความสามารถการปฏิบัติการร่วมกัน โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

157405332835
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม และมาร์ค เอสเปอร์ รมว.กลาโหมสหรัฐ ลงนามแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ -

การเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาป้องกันประเทศระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกาและกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยในศตวรรษที่ 21 ยังให้เกิดเสถียรภาพ ความมั่งคั่ง และความยั่งยืนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมระเบียบที่เสมอภาคและยึดมั่นในกฎกติการะหว่างประเทศ

แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม ค.ศ. 2020 ขับเคลื่อนวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศของสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2018 และ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย โดยเน้นย้ำจุดยืนที่เรามีร่วมกันต่อการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศที่มีมายาวนาน ทั้งยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่มีลักษณะพิเศษนี้ โดยคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์และคุณค่าร่วมกันในระยะยาว ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคง อันจะนำไปสู่ขีดความสามารถในการป้องปรามและตอบสนองต่อความท้าทายร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

  • การเป็นหุ้นส่วนกัน: กระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกาและกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทย มีขีดความสามารถในปฏิบัติการร่วมกันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จึงร่วมงานอย่างจริงจังกับพันธมิตรและหุ้นส่วนอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน แก้ไขปัญหาความท้าทายด้านความมั่นคงที่มีความซับซ้อนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก การเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศตลอด 65 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน

  • การดำรงบทบาท: การเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งเริ่มขึ้นบนพื้นฐานของสนธิสัญญาการป้องกันร่วมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Collective Defense Treaty) ค.ศ. 1954 และต่อมาขยายขอบเขตออกไปภายใต้แถลงการณ์ถนัด-รัสก์ (Thanat-Rusk Communiqué) ค.ศ. 1962 ส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาคและทั่วโลก โดยยกระดับความพร้อม การปรับตัวตามสถานการณ์ และขีดความสามารถในการฟื้นตัว ความสัมพันธ์ที่พิเศษระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน ช่วยส่งเสริมให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมีเสถียรภาพ มั่งคั่ง มีเสรีภาพ เปิดกว้าง เสมอภาค และยั่งยืนผ่านการดำเนินการในลักษณะต่างตอบแทนกันและความร่วมมือด้านความมั่นคง

  • ความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ยั่งยืน: ประเทศไทยเป็นประเทศพันธมิตรหลักนอกสนธิสัญญานาโต กระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกาและกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทย ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการศึกษาและฝึกอบรม การสร้างศักยภาพ การปฏิบัติการร่วมกัน และการพัฒนาหน่วยงานทางการทหารและความมั่นคงให้มีความทันสมัย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย

  • การเป็นผู้นำ: การเป็นพันธมิตรดังกล่าวสนับสนุนบทบาทการเป็นผู้นำของไทยภายในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และเวทีการประชุมด้านความมั่นคงระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อผลักดันผลประโยชน์ร่วมกันและส่งเสริมระเบียบที่ยึดมั่นในกฎกติการะหว่างประเทศ

  • กลไกความมั่นคงในภูมิภาค: กระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกาและกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทย ตระหนักถึงและมุ่งมั่นที่จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นแกนกลางของอาเซียน ตลอดจนบทบาทที่สำคัญของกลไกด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นผู้นำ เช่น การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM-Plus) ในการส่งเสริมความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

กระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกาและกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทย เน้นย้ำความสำคัญของการเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยในศตวรรษที่ 21 เราตระหนักว่าสายสัมพันธ์ด้านการป้องกันประเทศส่งเสริมความสัมพันธ์ในมิติอื่นๆ ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์อันแน้นแฟ้นทางการทูต เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เราจึงมุ่งมั่นเสริมสร้างการเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในด้านเหล่านี้ เพื่อบรรลุถึงสันติภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไปในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และภูมิภาคอื่น ๆ