เป้าหมายการศึกษาควรกว้างกว่าเพื่อการทำมาหากิน

เป้าหมายการศึกษาควรกว้างกว่าเพื่อการทำมาหากิน

การพัฒนาคน โดยเฉพาะทางด้านการศึกษา ไม่เพียงแต่การพัฒนาทางด้านความรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพเท่านั้น แต่คงจะดีกว่าหากมองให้ครอบคลุมไปถึงจิตใจ อารมณ์ และสังคมด้วย

การศึกษามักจะเน้นการพัฒนา "ทรัพยากรมนุษย์" ให้มีความรู้/ทักษะทำงานหาเงินมาบริโภค แต่จริงๆ แล้ว มนุษย์เรา ไม่ใช่เป็นแค่ทรัพยากรของประเทศ แต่เป็นตัวของตัวเองที่มีความต้องการหลายมิติ ทั้งทางจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก ทางวัฒนธรรม ต้องการได้รับความรัก การยอมรับจากคนอื่นในสังคมด้วย ไม่ใช่แค่ความต้องการทางเศรษฐกิจเท่านั้น

การจัดการศึกษาซึ่งเป็นการลงทุนพัฒนาคนที่สำคัญที่สุด ควรมีเป้าพัฒนาพลเมืองให้ฉลาดทั้งทางปัญญา ทางอารมณ์ และทางสังคม เป็นทั้งคนมีความสุข ความพอใจ และเป็นพลเมืองดีที่รับผิดชอบในทางสังคม ไม่ใช่มีเป้าแคบๆ แค่ให้เก่งในแง่ทำงานที่ประสบความสำเร็จมาก มีรายได้สูง แต่อาจเป็นคนเห็นแก่ตัวมากกว่าเห็นแก่ส่วนรวม ไม่มีความสุข ความพอใจอย่างแท้จริง และไม่ได้ช่วยสร้างให้สังคมดีขึ้นด้วย

แนวทางการปฏิรูปการจัดการศึกษาเพื่อสร้างเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

1.ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจภายในให้เยาวชน ผู้ใหญ่ เกิดความรักในการอ่าน การอยากรู้อยากเห็นอย่างต่อเนื่อง การอยากเรียนรู้ โดยไม่ต้องไปเน้นจุดมุ่งหมายอื่นใด นอกจากเพื่อความรักในการเรียนรู้โดยตัวของมันเอง คนที่รักการอ่าน อ่านหนังสือเป็น จะสนุกหรือเพลิดเพลินกับการอ่านโดยไม่รู้สึกว่า การอ่านหนังสือคือการทำงานภาคบังคับที่น่าเบื่อ

2.เน้นการพัฒนาความสามารถหรือความฉลาดทางด้านสังคมและอารมณ์ของผู้เรียน ควบคู่ไปกับความฉลาดทางปัญญาหรือความรู้/ทักษะทางวิชาชีพที่จะนำไปใช้ในการทำงานในโลกจริงได้อย่างถือเป็นเรื่องสำคัญ การสอนการเรียนควรจะใช้แนวทางการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน ที่ฝึกให้ผู้เรียนเรียนรู้ ทำงานร่วมกันเป็นทีม ช่วยเหลือกัน รุ่นพี่หรือคนที่เก่งกว่าช่วยติวคนอื่น ฯลฯ

3.เปิดกว้างให้เด็กเยาวชนมีโอกาสเล่น ออกกำลังกายและทำกิจกรรมที่เขาสนุก เพลิดเพลิน รวมทั้งกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม และได้เรียนรู้พัฒนาตนเองในหลายด้าน โดยการรู้จักแบ่งเวลาทำกิจกรรมต่างๆ อย่างสมดุล/เหมาะสม

4.เปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินผลหรือสอบ โดยไม่เน้นการท่องจำและจัดลำดับของนักเรียนในชั้นเรียน การประเมินผลที่ดีควรวัดพัฒนาการในการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน เน้นการแข่งกับตัวเอง (พัฒนาตัวเอง) มากกว่าเน้นการแข่งขันกับคนอื่น และให้ผู้เรียนตระหนัก รู้จักการประเมินผลด้วยตัวของเขาเองได้ด้วยเขาจะได้รู้ตัวว่าเขาเรียนได้แค่ไหน ต้องปรับปรุงตัวเองอย่างไร การประเมินผลระดับชาติในระดับชั้นประโยค เช่น มัธยมปลายและการสอบคัดเลือกเข้าสถาบันการศึกษาระดับสูงขึ้น ควรประเมินผลโดยเน้นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ จับประเด็นสำคัญเป็น ฯลฯ แทนการท่องจำข้อมูล และควรพิจารณาพัฒนาการของผู้เรียนจากความฉลาดทางอารมณ์และความฉลาดทางด้านสังคม พิจารณาการพัฒนาบุคลิกอุปนิสัยใจคอ ค่านิยม ที่มีวุฒิภาวะคิดบวก คิดสร้างสรรค์ด้วย นี่คือการศึกษาที่แท้จริงหรือโดยสมบูรณ์ ซึ่งมีความหมายมากกว่าแค่การได้เรียนรู้สาขาวิชาบางวิชาแล้วสอบผ่านหรือได้คะแนนดี

ควรส่งเสริมให้ลูกรู้จักตัวเอง และพัฒนาสิ่งที่เขาถนัดหรือชอบให้ดีที่สุด โดยไม่ต้องไปเน้นเรื่องแข่งขันกับคนอื่น

5.เลิกการสนับสนุนให้เด็กต้องเรียนพิเศษตอนเย็น/เสาร์-อาทิตย์ เพื่อมุ่งแข่งขันให้เรียนเก่งกว่าคนอื่นหรือเรียนได้เร็วกว่าเด็กอื่นตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะถึงเด็กบางคนจะมีความฉลาดทางปัญญาที่จะทำได้ แต่ถ้าพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของเขายังไม่พร้อม หรือเมื่อเขาต้องใช้เวลาเรียนหนักมากไป, เครียดมากไป, อย่างไม่สมดุลกับความต้องการของชีวิตที่ต้องการพัฒนาด้านอื่นๆ พร้อมกันไปด้วย จะทำให้เขาเรียนไปอย่างไม่มีความสุข ถึงตอนต้นๆ เขาจะเรียนได้ แต่ก็อาจมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตตามมาในภายหลังได้

ทั้งนี้รวมทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ไม่ควรคะยั้นคะยอให้ลูกหลานเลือกเรียนสาขาวิชาในระดับอุดมศึกษา ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองชอบหรือคาดว่าจะเป็นอาชีพที่ก้าวหน้า คนยกย่อง มีโอกาสทำรายได้สูง แต่ผู้เรียนไม่ได้ชอบและหรือไม่ได้ถนัดอย่างแท้จริงด้วย พ่อแม่ไม่ควรคาดหมายจากลูกมากเกินไป จนเป็นการกดดันให้เกิดความเครียด ขนาดเด็กเรียนเก่งยังมีปัญหาความเครียดฆ่าตัวตายได้เพราะถูกคาดหวังในเชิงมุ่งแข่งขันกับคนอื่นในสังคมมากเกินไป ควรส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้จักตัวเองและพัฒนาสิ่งที่เขาถนัดหรือชอบให้ดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ โดยไม่ต้องไปเน้นเรื่องการแข่งขันกับคนอื่น

6.ส่งเสริมให้เด็กตั้งคำถาม คิด วิเคราะห์รู้วิธีที่จะเรียนรู้ต่อด้วยตนเอง เช่น การอ่านแบบจับใจความได้ดี รู้วิธีเลือกหนังสือ ค้นคว้าหาข้อมูล เปิดใจกว้าง ลดอคติ มองทั้งด้านบวก ด้านลบอย่างรอบด้าน วิพากษ์วิจารณ์วิเคราะห์ความเชื่อถือของข้อมูล สามารถวิเคราะห์ ตีความข้อมูลแบบเชื่อมโยงและประยุกต์นำไปใช้ในชีวิตจริงได้ เรียนรู้แบบแก้ปัญหาเป็น เรียนรู้แบบทดลอง ฝึกภาคปฏิบัติทำโครงการต่างๆ ออกไปเรียนรู้โลกจริงด้วย

7.รู้จักการแบ่งเวลาและการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์พกพา ฯลฯ อย่างเหมาะสมกับวัย และอย่างสมดุลกับการใช้ชีวิตคนอื่นๆ เพื่อเรียนรู้จากโลกจริง การวิจัยหลายประเทศไม่สนับสนุนให้เด็กเล็กใช้เครื่องมือเหล่านี้ เพราะเขาควรจะได้เรียนรู้จากโลกจริงมากกว่าโลกเสมือน เด็กที่โตหน่อยก็ควรใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์อย่างจำกัดทั้งในเรื่องเวลาและโปรแกรมที่ใช้ เพราะมีทั้งประโยชน์และโทษ ประโยชน์คือ ช่วยให้เราค้นคว้าหาข้อมูลข่าวสารความรู้ ติดต่อสื่อสารกับคนอื่นได้สะดวกรวดเร็วขึ้น โทษคือ หากไปเสพติด หมกหมุ่นใช้เวลากับมันมากเกินไป โดยเฉพาะสำหรับเด็กเยาวชนในเรื่องการเล่นเกม การเล่นการพนันออนไลน์ การหมกหมุ่นในเรื่องเพศ หรือความสนุกแบบฉาบฉวยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำให้สูญเสียทั้งเวลา มีปัญหาทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตและหรือปัญหาอื่นๆ ได้

การวิจัยในหลายประเทศพบว่า เด็กและเยาวชนที่ใช้เวลากับสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป และเรียนรู้โลกจริงน้อยเกินไป มีผลด้านลบหลายด้านมาก แต่ไทยยังเห่อและมองแต่ผลด้านบวกของความทันสมัย สะดวกสบายของเทคโนโลยีด้านนี้มากเกินไป ควรติดตามผลการวิจัยในต่างประเทศและนำมาเผยแพร่ และวิจัยเองเพิ่มขึ้น เพื่อคนไทยจะได้รู้เท่าทันปัญหาและป้องกันปัญหาตามแนวคิด "ปลอดภัยไว้ก่อน" เช่น เดินสายกลาง รักษาความสมดุลระหว่างการเรียนรู้จากโลกจริงและการเรียนรู้จากโลก "จำลอง" ในอินเทอร์เน็ต เรียนรู้จักเทคโนโลยีทันสมัยอย่างวิเคราะห์ให้รู้เท่าทัน เพื่อใช้ด้านบวกให้เป็นประโยชน์ แต่ไม่หลงไหลเสพติดเป็นทาสสิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีมากไป จนทำให้คุณภาพชีวิตที่แท้จริงกลับตกต่ำลงมากกว่าคนยุคก่อน