ต้องระวังไม่ให้ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นการเมือง

ต้องระวังไม่ให้ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นการเมือง

เมื่อช่องว่างของรายได้ระหว่างคนที่ร่ำรวยกับประชาชนคนธรรมดามีมากขึ้น และเห็นชัดในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และนี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐควรจะแก้ไขอย่างจริงจัง

ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ พร้อมกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากขึ้นของประชาชน ทำให้กลุ่มคนที่ร่ำรวยมาก หรืออภิมหาเศรษฐีได้กลายเป็นเป้าทางการเมือง

ตัวอย่างล่าสุดคืออังกฤษ ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 12 เดือนหน้า ผู้นำพรรคแรงงานอังกฤษในการกล่าวเปิดแคมเปญหาเสียง ได้โจมตีกลุ่มคนที่ร่ำรวยมากของอังกฤษทั้งที่เป็นขุนนางและนักธุรกิจเพื่อเรียกคะแนนเสียง นำความเหลื่อมล้ำมาเป็นประเด็นในการเลือกตั้ง นอกเหนือจากเรื่อง Brexit ความปลอดภัยของประชาชนและเศรษฐกิจที่สหรัฐอเมริกา ที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า นายเบอร์นี่ แซนเดอร์ (Bernie Sanders) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี พรรคประชาธิปัตย์ (Democrat) ก็กล่าวชัดเจนว่า เราไม่ควรมีอภิมหาเศรษฐี (Billionnaires should not exist)

  • ทำไมกระแสสังคมจึงไม่เป็นมิตรกับผู้ที่ร่ำรวย ทำไมกระแสดังกล่าวถูกใช้เป็นประเด็นการเมือง คำตอบคงมาจากสามเรื่อง 

1.ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้น ทั้งในอังกฤษและสหรัฐ โดยเฉพาะช่วงสิบปีที่ผ่านมา หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกครั้งใหญ่ในปี 2008 ที่วิกฤติและการแก้ไขวิกฤติกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมาก ขณะที่รัฐบาลก็ใช้ทรัพยากรมากมายแก้ไขปัญหา ประมาณว่าเม็ดเงินกว่า 22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ถูกใช้ไปเพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ แต่ภายใต้ผลของวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปที่ถูกกระทบมาก ปัญหาความเหลื่อมล้ำกลับแย่ลง คือ รายได้ของกลุ่มคนร่ำรวยยังขยายตัวได้มากกว่าของประชาชนทั่วไป ทั้งที่กลุ่มคนที่ร่ำรวยควรต้องรับผิดชอบต่อวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ความรู้สึกไม่เป็นธรรมเหล่านี้จึงอยู่ในใจของประชาชน

2.ความใกล้ชิดของกลุ่มคนที่ร่ำรวยกับการเมืองของประเทศ ที่กลุ่มคนที่ร่ำรวยสามารถใช้พลังทางการเงินสร้างอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายของนักการเมือง เพื่อประโยชน์ของธุรกิจของตน หรือมีคนจากกลุ่มคนร่ำรวยเข้าไปเล่นการเมืองเสียเอง นิตยสารเดอะอีโคโนมิสต์ ฉบับวันที่ 9-15 พฤศจิกายน ที่เขียนเรื่องนี้ เรียกคนกลุ่มนี้ว่า กลุ่มเลขศูนย์เก้าตัว คือ มีรายได้หรือความมั่งคั่งระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป และให้ข้อมูลว่าคนจากเศรษฐีกลุ่มนี้ก็กำลังมีอำนาจอยู่ในรัฐบาลสหรัฐชุดปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อการทำหน้าที่ของรัฐบาลว่าจะเป็นธรรมและเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม จึงมีน้อยลง 

3.ความห่วงใยของประชาชนว่า พลังและอำนาจเงินของคนกลุ่มนี้อาจทำให้การเมืองของประเทศในอนาคต กลายเป็นการเมืองที่ปกครองโดยกลุ่มคนที่ร่ำรวย เพื่อประโยชน์ของคนรวย (Plutocracy) ซึ่งต่างกับการเมืองแบบเจ้าขุนมูลนายในอดีต (Aristocracy) ที่อำนาจการเมืองมาจากความมั่งคั่งและอิทธิพลของความเป็นชนชั้นนำที่สะสมมาจากอดีต ทำให้น่ากลัวว่าอนาคตจะเป็นการเมืองที่มาด้วยเงินและอยู่เพื่อเงิน

ในบทความเดียวกัน นิตยสาร เดอร์อีโคโนมิสต์ ได้ให้ตัวเลขว่า จำนวนกลุ่มคนที่ร่ำรวยมาก คือ ระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปทั่วโลกมีประมาณ 2,200 คน ซึ่งน้อยมากเทียบกับประชาชากรโลก 7.5 พันล้านคน พร้อมวิเคราะห์ว่า หนึ่งในสามของเศรษฐีเหล่านี้ร่ำรวยมาจากมรดก และสองในสามร่ำรวยด้วยฝีมือในการทำธุรกิจ และจากเศรษฐี 2,200 คนนี้ ประมาณสองในสามร่ำรวยจากการทำธุรกิจแบบตรงไปตรงมา

ขณะที่อีกหนึ่งในสามมีรายได้หรือสร้างความร่ำรวยจากการมี "ค่าเช่า" ในระบบเศรษฐกิจ คือ การทำธุรกิจโดยได้ประโยชน์หรือสิทธิพิเศษจากภาครัฐ หรือนโยบายของรัฐ ทำให้รายได้เติบโตได้มากกว่าผลตอบแทนจากการทำธุรกิจทั่วไป เช่น ได้สัมปทานที่นำไปสู่การผูกขาด หรือธุรกิจที่มีการแข่งขันน้อย (ซึ่งในบ้านเราก็เยอะ) การได้โอกาสทำธุรกิจที่ไม่มีการแข่งขัน หรือมีการแข่งขันน้อย ทำให้คนที่ได้สัมปทานที่ได้สิทธิพิเศษเหล่านี้สามารถร่ำรวยได้มากจากสนามแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมและความสามารถในการเอาเปรียบผู้บริโภค จนเกิดวลีว่า เศรษฐีระดับพันล้านทุกคน คือความล้มเหลวของนโยบาย ซึ่งคงไม่จริงทั้งหมด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความจริงสำหรับเศรษฐีที่โตมากับระบบค่าเช่า

กระแสการเมืองที่อังกฤษที่เอาความร่ำรวยมาเป็นประเด็นการเมือง อาจกำลังเป็นสิ่งบอกเหตุของกระแสการเมืองในอนาคต ทั้งในสหรัฐปลายปีหน้า และในประเทศอื่นๆ เป็นประเด็นที่ต้องระวังมากเพื่อไม่ให้สังคมสับสนและเกิดปัญหารุนแรงตามมา โดยเฉพาะถ้ารัฐบาลและกลุ่มที่ได้ประโยชน์พิเศษจากนโยบายของรัฐไม่ปรับตัว ไม่สนใจความทุกข์ยากและการเรียกร้องของประชาขน เพราะนักการเมืองแบบประชานิยมกำลังจ้องฉกฉวยโอกาสที่จะเอาความร่ำรวยเป็นเป้าทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมที่จะเสนอตนเองเป็นตัวแทนของประชาชน เป็นตัวแทนของผู้ที่เดือดร้อน

  • คำถาม คือ ภาครัฐหรือกลุ่มนักธุรกิจจะทำอะไรได้หรือไม่ เพื่อลดแรงกดดันเหล่านี้

เรื่องความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่ตระหนักก็คือ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นเรื่องที่สามารถลดทอนได้ ด้วยการทำนโยบายของภาครัฐที่ถูกต้อง ตัวอย่างง่ายๆ คือ ความร่ำรวยที่เกิดขึ้นจากระบบ "ค่าเช่า" หรือสิทธิพิเศษต่างๆ ก็เกิดจากนโยบายและการตัดสินใจของภาครัฐ ถ้านโยบายเหล่านี้สามารถแก้ไขให้ถูกต้อง ให้การทำธุรกิจของประเทศแข่งขันตามกลไกตลาด ความร่ำรวยที่มาจากระบบค่าเช่าหรือสิทธิพิเศษต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ นโยบายของภาครัฐจึงมีส่วนอย่างสำคัญที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจของประเทศลดลงด้วยนโยบายที่ถูกต้อง หรือทำให้ปัญหาเลวร้ายมากขึ้นด้วยนโยบายที่ผิด

จึงเป็นความรับผิดชอบของผู้ทำนโยบายและการเมืองของประเทศว่าจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ประเทศมีอยู่หรือไม่