"อีสกู๊ตเตอร์"ปลอดภัยหรือไร้อนาคต

"อีสกู๊ตเตอร์"ปลอดภัยหรือไร้อนาคต

อีสกู๊ตเตอร์ การขนส่งทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดูเหมือนกำลังเจอมรสุมกระหน่ำซ้ำเติมไม่หยุด ล่าสุด ทางการกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียเตรียมห้ามใช้บนทางเดินและสะพานคนเดิน หลังผู้ใช้สองรายประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในสัปดาห์นี้

เว็บไซต์จาการ์ตาโพสต์รายงานว่า บริษัทแกร็บวีลส์ ในเครือบริษัทบริการเรียกรถโดยสารแกร็บอินโดนีเซีย เจอปัญหาใหญ่เมื่อผู้ใช้สองรายถูกรถชนนอกศูนย์กีฬาจีบีเคในกรุงจาการ์ตา เมื่อเช้าวันจันทร์ (11 พ.ย.) ทำให้สำนักงานขนส่งจาการ์ตาที่ขณะนี้กำลังร่างกฎหมายดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ใช้แกร็บวีลส์ต้องพบกับตัวแทนบริษัทแกร็บอินโดนีเซียเพื่อหารือกันเรืื่องการใช้อีสกู๊ตเตอร์

ไซอาฟริน ลิปูโต หัวหน้าสำนักงานขนส่งเผยว่า สำนักงานได้หารือกับแกร็บวีลส์แล้ว และเห็นพ้องกันเรื่องสร้างความปลอดภัยและสะดวกสบายให้กับคนเดินถนนมากขึ้น ด้วยการห้ามอีสกู๊ตเตอร์วิ่งบนทางเท้าหรือสะพานลอย อีสกู๊ตเตอร์ใช้ได้เฉพาะพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น เช่น ศูนย์กีฬาจีบีเค และระเบียบนี้บังคับใช้ทั้งกับแกร็บวีลส์และอีสกู๊ตเตอร์ส่วนตัวทุกราย โดยเมื่อออกจากจีบีเคแล้วต้องใช้บนทางจักรยาน ไม่ใช่บนฟุตบาธ และต้องไม่สัญจรปะปนกับยานพาหนะชนิดอื่นบนท้องถนน

นอกจากนี้  การจัดงานคาร์ฟรีเดย์ ก็ไม่ควรให้ใช้อีสกู๊ตเตอร์ พร้อมกันนั้นสำนักงานขนส่งจะจำกัดชั่วโมงเช่าแกร็บวีลส์ที่เวลา 5.00-23.00 น.

ทางการกรุงจาการ์ตาวางแผนลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนนำอีสกู๊ตเตอร์มาใช้บนทางเท้าหรือสะพานคนเดิน ฝ่าฝืนสิทธิคนเดินถนน มีโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 5 แสนรูเปี๊ยะห์

ความเคลื่อนไหวของกรุงจาการ์ตาเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับที่สิงคโปร์ห้ามใช้อีสกู๊ตเตอร์บนทางเท้า และยกเลิกแผนออกใบอนุญาตบริการแชร์อีสกู๊ตเตอร์ เช่นเดียวกับหลายเมืองใหญ่ที่มีท่าทีไม่เอาด้วยกับอุปกรณ์ชนิดนี้

กรุงปารีสของฝรั่งเศสห้ามใช้บนบาทวิถี ฝ่าฝืนปรับ 135 ยูโร กรุงมาดริดของสเปนห้ามใช้ในย่านถนนคนเดิน และบนถนนที่รถวิ่งด้วยความเร็วเกินกว่า 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ในสหราชอาณาจัก การใช้อีสกู๊ตเตอร์บนถนนสาธารณะ ทางจักรยาน และบาทวิถีเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับ 300 ปอนด์ ส่วนที่สหรัฐบางเมืองก็ห้ามใช้เช่นกัน

สถานการณ์เช่นนี้ชวนให้คิดต่อว่าสถานการณ์ของอีสกู๊ตเตอร์ในอาเซียนจะเป็นอย่างไร เว็บไซต์อาเซียนโพสต์รายงานว่า หลายเมืองในอาเซียนขึ้นชื่อเรื่องการจราจรติดขัด รายงานประจำปี 2562 โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า หลายเมืองในฟิลิปปินส์ มาเลเซย และเมียนมา รถติดหนักมาก ส่งผลให้รัฐบาลต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายหลายล้านดอลลาร์ในแต่ละวัน

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจกา) ศึกษาพบว่า ภายในปี 2578 ฟิลิปปินส์จะต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายจากรถติดในแต่ละวันมากกว่า 100,000 ดอลลาร์

นอกจากเสียทั้งเงินและเวลาไปกับรถติดแล้ว คนขับยังต้องใช้เสียเวลาส่วนหนึ่งไปกับการหาที่จอดรถในเมือง แต่รถติดก็เปิดโอกาสให้ผู้คนหาทางเลือกใหม่ในการสัญจรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปในตัว

บริษัทเทคโนโลยีในอาเซียจึงแสวงหาทางเลือกด้วยยานยนต์ระยะสั้น โดยนิยามของนักวิเคราะห์อย่างโฮเรซ โดดิว หมายถึง ยานพาหนะที่ไม่ใช่รถยนต์แต่ยังขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ ตลอดเส้นทางไม่เกิน 8 กิโลเมตร ยานยนต์ที่ตรงกับนิยามนี้ เช่นการแชร์จักรยานไฟฟ้าหรือสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่จะมาเปลี่ยนโลกการคมนาคม

รายงานว่าด้วยยานยนต์ขนาดเล็กของแม็คคินซีย์ชี้ว่า การเปิดตัวยานพาหนะทางเลือกนี้เกิดขึ้นมากในพื้นที่ที่ชาวเมืองตอบรับบริการเรียกรถโดยสารร่วม ในเมืองที่ที่ดินมีจำกัดและการจราจรเลวร้าย

ปีที่แล้ว แกร็บเพิ่งขยายบริการเรียกรถครอบคลุมถึงจักรยานและอีสกู๊ตเตอร์ และเพิ่งมาเน้นที่อุปกรณ์อย่างหลัง ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนชื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แกร็บวีลส์ให้บริการในสิงคโปร์และอินโดนีเซีย

“เราหวังว่าแกร็บวีลส์จะตอบสนองความต้องการของนักศึกษา อาจารย์ และนักวิชาการมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ได้ใช้การคมนาคมทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใช้งานได้จริง เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในการสัญจรรอบมหาวิทยาลัย” ริดสกี กรามาดิบราตา ประธานแกร็บอินโดนีเซียกล่าวเมื่อวันก่อน

เช่นเดียวกับริดวัน กามิล นายกเทศมนตรีนครบันดุงของอินโดนีเซียที่หวังว่า แกร็บวีลส์จะเป็นทางเลือกอันโดดเด่นในเมืองนี้

แม้ความนิยมในอีสกู๊ตเตอร์จะเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีปัญหาด้านความปลอดภัยจนเกิดเสียงเรียกร้องให้มีกฎระเบียบออกมาควบคุมดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

ในมุมของผู้ให้บริการก็ดูเหมือนว่ากำลังหมดเงินไปกับการบำรุงรักษา ซ่อมแซม และผลตอบแทน เป็นไปได้ว่า สกู๊ตเตอร์ที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีมากมายนัก จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมได้ก็ต่อเมื่อต้องบำรุงรักษาน้อยกว่านี้ และลดต้นทุนการชาร์จพลังงานได้

การต้องไปใช้ถนนเดียวกับคนขับรถที่มุ่งหน้าไปถึงปลายทางอย่างรวดเร็ว ย่อมเป็นอันตรายกับผู้ใช้อีสกู๊ตเตอร์ โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้อในหลายเมืองของอาเซียน รวมถึงฟุตบาธไม่เรียบอาจทำให้ผู้ใช้ไม่สะดวกดังนั้นการจะใช้ยานพาหนะทางเลือกในเมืองต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมารองรับด้วย

หากมองในภาพรวม ผลการศึกษาของบริษัทแกรนด์วิวรีเสิร์ชพบว่า ตลาดอีสกู๊ตเตอร์จะมีมูลค่าเกือบ 4.2 หมื่นล้านภายในปี 2573 ผลตอบแทนแบบทบต้นของตลาดอยู่ที่ 8.5% และภายในปีดังกล่าวคาดว่า เอเชียแปซิฟิกจะเป็นผู้นำตลาดอีสกู๊ตเตอร์ เนื่องจากความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตอุปกรณ์ชาร์จแบตเตอรี นักวิจัย และบริษัทผลิตรถยนต์เอเชียแปซิฟิกจะกลายเป็นตลาดใหญ่สุด มูลค่าถึง 2.62 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 ผลพวงจากการลงทุนผลิตโครงสร้างพื้นฐานสำหรับชาร์จพลังงาน แต่ตอนนี้ดูเหมือนสภาพของอีสกู๊ตเตอร์ยังไม่แน่ไม่นอนว่าจะหยุดแค่นี้หรือได้ไปต่อ