'ผมยังอยู่อีกนาน...' จับตารัฐบาล 'พลิกเกม' โหวตสวน

'ผมยังอยู่อีกนาน...'  จับตารัฐบาล 'พลิกเกม' โหวตสวน

ช่วงนี้มีการพูดถึงปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลกันหนาหู หลังกลุ่ม 5 พรรคเล็ก ซึ่งอ้างว่ามี ส.ส.ถึง 8 คน ไปจับมือกันตั้งกลุ่ม “นักชน” โดยตั้งเงื่อนไขอาจไม่โหวตสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งกำลังจะเผชิญศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และคาดว่าจะมีการซักฟอกกันช่วงกลางเดือนธ.ค.นี้

จริงๆ แล้ว เสถียรภาพของรัฐบาลช่วงนี้มาจาก 2 ปัญหา...

หนึ่ง คือ การตั้ง กลุ่มนักชน” อย่างที่เกริ่นไปแล้ว แกนนำมี 2 ตัวจี๊ดอย่าง มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ กับ พิเชษฐ สถิรชวาล ที่ออกไปเป็นฝ่ายค้านอิสระก่อนหน้านี้ ร่วมกับบรรดาพรรคเล็กที่มีมากกว่า 1 เสียง อย่างพรรคพลังท้องถิ่นไท ของ ชัชวาลย์ คงอุดม หรือ “ชัช เตาปูน” และพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ของ ดำรงค์ พิเดช งานนี้ถ้ามี “โหวตสวน” กันจริงๆ ต้องถือว่าทำให้รัฐบาลเหนื่อยไม่น้อย เพราะเสียงสนับสนุนจะหายไปราวๆ 8 เสียง

สอง คือ ปัญหารอยร้าวใน พรรคร่วมรัฐบาล ด้วยกันเอง จากการออกมาเปรยของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลชุดนี้ ในทำนองตั้งข้อสงสัยว่าอาจมี ใครบางคนอยู่เบื้องหลังปล่อยข้อมูลให้สื่อบางสำนักเล่นงานรัฐมนตรีของพรรคตนอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

แม้ “เสี่ยหนู” จะไม่ได้พูดตรงๆ แต่ก็สะท้อนนัยแบบนั้น แถมยังมีลูกพรรคออกมาขยายความว่างานนี้มี แทงข้างหลัง” ขณะที่ “เสี่ยหนู” เองก็ยังเคยประกาศว่าหาก นายศักดิ์สยาม ถูกปรับออกจาก ครม. ตนก็จะออกด้วย โดยนัยก็คือหมายถึงการออกจากการร่วมรัฐบาลนั่นเอง ซึ่งด้วยเสียง ส.ส. 51 เสียง ทำให้รัฐบาลล่มได้เลย

หลังรัฐบาลเผชิญปัญหานี้ ความเคลื่อนไหวที่น่าจับสังเกตก็คือ บรรดา เสาเอก ค้ำยันรัฐบาล นั่นก็คือ “กลุ่ม 3 ป.

ป.แรก ป.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ยืนยันเสถียรภาพรัฐบาลยังปึ้ก ไม่เห็นได้ข่าวเรื่องรอยร้าวหรือความขัดแย้ง

ป.ที่สอง ป.ประวิตร พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พูดช่วงกลางสัปดาห์ทำนองว่าข่าวที่ออกมาไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ และพูดซ้ำอีกครั้งช่วงสุดสัปดาห์ว่า “พวกเขาโอเคกันหมดแล้วนี่” ท่ามกลางกระแสข่าว “พรรคครูไทยเพื่อประชาชน” ที่มีชื่อเป็นหนึ่งใน “กลุ่มนักชน” กลับลำแล้ว

ป.ที่สาม ป.ป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พูดทำนองว่า จะเปิดอภิปรายก็เปิดไป แต่จะโหวตสวนก็เกินไป ขอให้เริ่มอภิปรายก่อนดีไหม แต่ใครจะโหวตอย่างไรก็ตามสะดวก ไม่มีบังคับ และไม่กังวล ปล่อยให้มันเป็นไป let it be ทำนองนั้น

ขณะที่ “หนุ่มบี” พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แกนนำสาย กปปส.ในรัฐบาล ก็ออกมาการันตีเสถียรภาพของรัฐบาล และปฏิเสธข่าว “แทงข้างหลัง” ตามที่พรรคภูมิใจไทยออกมาปูด

จะเห็นได้ว่าท่าทีของบรรดา “เสาเอก” ทั้งหลาย โดยเฉพาะ “กลุ่ม 3 ป.” ไม่กังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้น่าคิดต่อว่า มีการเตรียมแผนรับมือไว้แล้วหรือไม่

จากการตรวจสอบข่าวจากหลายแหล่งในพรรคพลังประชารัฐ ได้ความว่า ขณะนี้ภารกิจ ดีลพรรคเล็ก - ดึง ส.ส.พรรคอื่นมาร่วมงาน อยู่ในมือ “บิ๊กป้อม” แบบเบ็ดเสร็จ โดยในส่วนของ “ผู้กองเลี้ยงลิง” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ลดบทบาทลงแล้ว โดยทีมงานของ “บิ๊กป้อม” ประเมินว่า

1.ในส่วนของกลุ่ม 5 พรรคเล็กยังคุยกันได้ แต่ถ้าไม่คุย หรือตั้งแง่ ก็จะปล่อยให้ไปเป็นฝ่ายค้านทั้งกลุ่ม (ซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครกล้า)

2.การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านไม่น่าจะมีพลังมากพอในการระดมเสียงสนับสนุนถึงขั้นโหวตชนะรัฐบาล ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเองก็มีงูเห่า” ที่ดีลเอาไว้ และประสานงานกันตลอด แต่ยังไม่ได้ใช้งานอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่ามากพอสำหรับอุดรอยรั่วจาก 5 พรรคเล็ก

3.ปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะหากพรรคภูมิใจไทยถอนตัว ว่ากันว่าจนถึงขณะนี้ “บิ๊กป้อม” มีเสียงในมือรองรับสถานการณ์วิกฤติภูมิใจไทยเอาไว้แล้ว โดย ส.ส.ส่วนหนึ่งมาจากพรรคเพื่อไทย และอีกส่วนหนึ่งดีลไว้กรณีพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ซึ่งจะมี ส.ส.เกือบ 60-70 คนแพแตก (ไม่นับกรรมการบริหารพรรคที่เป็น ส.ส.ที่จะต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง)

ความพร้อมของทุกข้อที่ว่านี้ ว่ากันว่าเกิน 90% แล้ว ยังติดแต่เรื่องเงื่อนไขข้อกฎหมายการย้ายพรรคหลังอนาคตใหม่ถูกยุบ กรณีเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่าจะทำได้หรือไม่ โดยต้องรอกรณีตัวอย่างที่นำร่องไปก่อนแล้ว คือ ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป (เหมือนหนูทดลองเพื่อทำพิมพ์เขียวการเมือง) ซึ่งหากสุดท้ายไม่มีปัญหาข้อกฎหมาย ทุกอย่างก็จะไฟเขียว

นี่คือสาเหตุของความไม่กังวล และทำให้นายกฯกล้าประกาศถึงขนาดว่า ผมยังอยู่อีกนาน