'สมเจตน์' ส่งสัญญาณเงื่อนไขร่วมแก้รธน. ห้ามแตะหน้าที่-อำนาจส.ว.

'สมเจตน์' ส่งสัญญาณเงื่อนไขร่วมแก้รธน. ห้ามแตะหน้าที่-อำนาจส.ว.

"พล.อ.สมเจตต์" ชี้หากแตะหน้าที่-อำนาจ ส.ว. พร้อมให้ความร่วมมือแก้รัฐธรรมนูญ ชี้หากไร้ส.ว.หนุนไม่มีทางแก้ได้ 7 พรรคฝ่ายค้านจ่อชงชื่อ “แพนกวิน” นั่งกมธ. เตรียม 10 ขุนพลซักฟอกรัฐบาล จองกฐิน นายกฯ--รัฐมนตรี 5คน ฟันธงรัฐบาลใกล้ล่ม

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ตนมองว่ารัฐธรรมนูญปี2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก ส่วนกรณีพิจารณาหาบุคคลมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรนั้น ขอไม่ออกความเห็น และที่ปรากฏว่ามีชื่อตน จะไปร่วมเป็นกมธ.ในสัดส่วนของส.ว.นั้น ตนจะไม่เข้าร่วมเป็น กมธ.ด้วย

“ต้องปล่อยให้ส.ส.เขาทำไป แต่เชื่อว่าสำเร็จยาก เว้นมีเหตุผลที่ดีว่าจะแก้มาตราไหนโดยต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างไร ถ้าแก้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายการเมืองเท่านั้น คงจะไม่สำเร็จ” พล.อ.สมเจตต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หลายพรรคมองว่า จะแก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับที่มา หน้าที่และอำนาจของส.ว.เป็นอันดับต้นๆ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า อย่าลืมว่า การจะผ่านความเห็นชอบในการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องเสนอในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา

“ที่สำคัญต้องได้เสียง สนับสนุนจากส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียง เมื่อไปตั้งเป้าหมายจะแก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ ส.ว. แล้วจะมีเสียง ส.ว.ที่ไหนมาสนับสนุน” พล.อ.สมเจตต์ กล่าว

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกวิปรัฐบาล กล่าวถึงระเบียบวาระการประชุมสภา ว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุม 3 วัน ระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน โดยจะมีนัดพิเศษเพิ่มอีก 1 วัน วันศุกร์ที่ 22 พ.ย. เพื่อเคลียร์ญัตติที่คั่งค้างจำนวนมาก ซึ่งหากไล่เลียงตามระเบียบวาระขณะนี้ ยังมีเรื่องรับทราบรายงานประจำปีขององค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญอีก 5 เรื่อง ซึ่ง 1 ใน 5 นั้น เป็นรายงานประจำปี 2561 ของศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่า จะมีสมาชิกอภิปรายจำนวนมาก

เช่นเดียวกัน เรื่องเสนอใหม่ที่คณะกมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว คือรายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรมด้วย ดังนั้น ญัตติด่วน ขอตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา 44 กับการพิจารณาตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 จะเข้าสู่ที่ประชุมได้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับการอภิปรายใน 2 วาระดังกล่าวเป็นสำคัญ

ลุ้นญัตติตั้งกมธ.แก้รธน.เข้าสภา20-22พ.ย.

ส่วนกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า การประชุมนัดพิเศษ วันที่ ‪22 พ.ย. จะพิจารณาเฉพาะญัตติทั่วไปที่ค้างอยู่ เท่านั้น โดยแยกเป็น 11 กลุ่มจาก 111 ญัตติ โดยขณะนี้มติวิปรัฐบาลยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ดังนั้น จึงต้องยึดตามระเบียบวาระเดิมโดยเมื่อจบรายงานของพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม

จากนั้นต้องต่อด้วย ญัตติด่วน เรื่องแรก คือศึกษาผลกระทบจากคำสั่งและประกาศของคสช. และตามด้วยญัตติ ขอตั้งกมธ.วิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่สภาได้มีติเอกฉันท์ไปก่อนปิดสมัยประชุมที่แล้ว เป็นอื่นไม่ได้นอกจากที่ประชุมจะมีมติใหม่ออกมา

ดังนั้น เชื่อว่า ในการประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 20 พ.ย. คงจะมีการหารือกันอีกครั้ง เช่นเดียวกับตำแหน่งประธานคณะกมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากวิปรัฐบาลเห็นว่าญัตติดังกล่าว สามารถเข้าประชุมในสัปดาห์นี้ได้ คงมีการหยิบยกขึ้นมาหารือในที่ประชุมวิปรัฐบาลในวันดังกล่าวด้วย

ชง7พรรคค้านส่งชื่อเพนกวินร่วมกมธ.

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นิสิตนักศึกษา 30 สถาบันเสนอชื่อนายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกกวิ้น นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมกมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวทีฝ่ายค้านเพื่อประชาชนว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่นักศึกษาได้ตระหนักถึงเสรีภาพ โดย 7 พรรคฝ่ายค้านขานรับข้อเสนอของนิสิตนักศึกษา 30 สถาบันที่ต้องการมีส่วนร่วม ทั้งนี้จะนำชื่อนายพริษฐ์ เข้าหารือในที่ประชุมวิปฝ่ายค้านต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากเวทีดังกล่าว นักศึกษาต่างเห็นพ้องว่า รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจฉบับนี้ล้วนสร้างอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย มีที่มาที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ทำให้ได้นายกรัฐมนตรีที่ประชาชนไม่ต้องการ จากสูตรคิดคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อแบบพิสดารและได้วุฒิสภาแบบอภิสิทธิ์ชนมายกมือให้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะเกิดขึ้นได้ต้องมีที่มาโดยประชาชน

นพดลแนะรื้อระบบเลือกตั้งก่อน

นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า ประเด็นที่ควรศึกษาหาแนวทางแก้ไขอันดับแรกหรือกระดุมเม็ดแรกที่ต้องกลัดให้ถูกคือหาวิธีทำให้การเลือกตั้งเสรี เป็นธรรม ไม่ซับซ้อน และสะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะการเลือกตั้งต้องไม่ยุ่งยากในการคำนวณที่นั่งส.ส.และต้องไม่นำไปสู่ความไม่แน่นอนในการคำนวณที่นั่งส.ส.ในสภาหากมีการเลือกตั้งซ่อมตามมา

ดังนั้น กมธ.ต้องไปศึกษาว่า เราเอาแนวคิดระบบเลือกตั้งที่ใช้อยู่มาจากไหน และเอามาหมดหรือไม่ ยังมีประเทศใดในโลกใช้วิธีนี้อยู่หรือไม่ และกมธ. จะหาวิธีทำให้การเลือกตั้งดียิ่งขึ้นได้อย่างไร ตนยังไม่เคยเห็นระบบเลือกตั้งในประเทศใดที่ทำให้มีพรรคขนาดเล็กเต็มไปหมดในสภา ซึ่งจะทำให้ฝ่ายบริหารไม่มีเสถียรภาพ นำไปสู่รัฐบาลผสมหลายพรรคจนขาดเอกภาพและไม่สามารถผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่

ฝ่ายค้านถกรูปแบบซักฟอก

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ว่าตอนนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ปรับความคิด ทิศทาง และทีมในการอภิปรายดังกล่าวให้ตรงกันแล้ว

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ทุกคนกำลังกลั่นกรองข้อมูล และหาเนื้อหาเพิ่มเติมบ้างในบางกรณี โดยมีการประชุมเต็มรูปแบบทุกสัปดาห์ และไม่เต็มรูปแบบเฉพาะบุคคลเกือบทุกวัน ซึ่งมีกรณีใหม่ๆและข้อมูลใหม่เข้ามาเรื่อยๆจากประชาชนและผู้หวังดีส่งมาให้ตลอด

จองกฐินนายกฯ-5รัฐมนตรี

โดยในเบื้องต้นมีส.ส.ที่แสดงความจำนงจะอภิปราย ประมาณ 15 คน แต่จะคัดให้เหลือเท่าที่จำเป็นไม่เกิน 10 คน ซึ่งเราจะยื่นขอเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไม่น้อยกว่า 5 คนซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารประเทศ อาทิ เรื่องเศรษฐกิจ ด้านการเมือง ด้านสังคม การปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต ที่เหลือขออุบไว้ก่อน

ส่วนจะยื่นอภิปรายเป็นคณะหรือรายบุคคลนั้น เราจะรอถึงนาทีสุดท้ายก่อนเขียนญัตติจึงจะสรุปอีกครั้ง และการเขียนญัตติจะเสร็จในสิ้นเดือน พ.ย.นี้ และจะยื่นไม่เกินวันที่ 5 ธ.ค. เพื่อให้การอภิปรายเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนไปหาปลายเดือน ธ.ค.นี้

ระดม10ขุนพลปากกล้า

สำหรับผู้อภิปราย 10 คนที่ว่างเอาไว้มาจากเกือบทุกพรรค อาทิ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย

“คนเหล่านี้เป็นขุนพลของพรรคฝ่ายค้านที่มีประสบการณ์ในสภาฯ สามารถชี้ข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบ แต่ไม่คิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก เพราะรัฐบาลมีเสียงมากกว่า แต่การอภิปรายครั้งนี้จะเป็นการเปิดแผลให้ประชาชนได้เห็น แล้วจะไปเน่าข้างนอก ท้ายที่สุดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแน่นอน ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่นั้น อยู่ที่ประชาชน แต่ตนคิดว่าคงใช้เวลาไม่นาน”

ส่วนกรณีที่ นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ (โหรคมช.) ระบุว่ารัฐบาลอยู่ได้ยาวนั้น ตนมองว่าโหรแต่ละคนเขาก็พูดไม่เหมือนกัน นายโสรัสจะ นวลอยู่ โหรชื่อดังก็บอกว่าเริ่มต้นปี 2563 จะเกิดปัญหาขึ้นกับรัฐบาลถึงขั้นลุกเป็นไฟ ดังนั้นส่วนตัวไม่ได้เชื่อโหรเพียงอย่างเดียวแค่ฟังๆไว้ แต่เราต้องดูกันที่ความเป็นจริงดีกว่าซึ่งส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลนี้คงอยู่ไม่นานเพราะมีความเสื่อมมันมีตั้งแต่ต้นและพัฒนามาเป็นลำดับ

 

ย้ำตั้งกลุ่มนักชนไม่ต่อรองการเมือง

นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย กล่าวถึงการรวมตัวกันของพรรคเล็ก ในนามกลุ่มนักชน ว่า เบื้องต้นขณะนี้ เหลือเพียง 4 พรรคและ มี ส.ส. 7 คน โดยกลุ่มของเราจะนัดหารือร่วมกันในทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ โดยจะนำวาระของการประชุมสภามาหารือกันก่อนเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ยืนยันว่าการรวมกลุ่มของเรานั้นไม่ได้ต้องการรวมตัวเพื่อต่อรองตำแหน่งหรือเพื่อผลประโยชน์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ยืนยันว่าเป็นการรวมตัวทำการเมืองเพื่อประชาชน ทำการเมืองแบบสร้างสรรค์ ทำการเมืองเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยแต่ละท่านก็มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านแตกต่างกันไป โดยกลุ่มของเราพยายามทำพรรคให้เป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของประชาชน และเมื่อเรารวมตัวกันแล้วเวลามีเรื่องหรือประเด็นอะไร ก็ต้องหารือ ผลมติกลุ่มออกมาเป็นอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น นี่คือหลักการของกลุ่มเรา