ตีราคาค่า คลื่น 2600 อสมท '3พันล้าน'

ตีราคาค่า คลื่น 2600 อสมท '3พันล้าน'

ชงบอร์ด กสทช. เยียวยา มั่นใจนำมาประมูล 5จี ขายได้หมด

ล่าสุดคณะอนุกรรมการกรรมการเยียวยาคลื่นความถี่คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์พิจารณาแล้ว จะให้เงินเยียวยา 10% ของมูลค่าคลื่นความถี่ในการประมูลให้แก่ บมจ.อสมท แลกกับการเอาคลื่น 2600 ดังกล่าวมาประมูลตามโรดแมพที่ระบุไปข้างต้น ทั้งนี้ ภายใน 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ จะนำวาระเรื่องค่าชดเชยเยียวยาการเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 ให้อสมทได้ต่อไป

ทั้งนี้ นายฐากร คาดว่า เงินเยียวยาที่ อสทม จะได้รับครั้งนี้อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท เนื่องจากมั่นใจว่า คลื่น 2600 จำนวน 190 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็น 19 ใบอนุญาตๆ ละ 10 เมกะเฮิรตซ์ราคาเริ่มต้นประมูลอยู่ที่ 1,862 ล้านบาท จะสามารถประมูลออกได้ครบทุกใบอนุญาต ซึ่งคลื่นดังกล่าวเป็นของอสมท 160 เมกะเฮิรตซ์ และ ของ กรมประชาสัมพันธ์ 30 เมกะเฮิรตซ์ ที่ได้เรียกคืนมาเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม หาก อสมท ไม่พอใจกับเงินเยียวยาที่คณะอนุฯ สรุป และจะจ่ายเยียวยาให้แก่ อสมท.ต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเอง เพราะ กสทช. ยืนยันว่าได้คิดมูลค่าจากคลื่นที่ อสมท ใช้งานจริงเท่านั้น แต่ในความเห็นส่วนตัวมองว่า หากนำเรื่องไปอยู่ในกระบวนการศาลฯ จะทำให้ อสมท ได้เงินล่าช้า จึงควรยอมรับในเงินจำนวนดังกล่าวที่สำนักงานกสทช.จะเยียวยาให้

“คณะอนุฯคำนวณอยู่บนพื้นฐานของมูลค่าคลื่นที่จะมีการใช้งานหากนำมาประมูล 5จี และคำนวณในอัตราที่อสมทสมควรจะได้รับแบบอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งหลังจากนี้จะนำเข้าบอร์ดกสทช.ซึ่งเบื้องเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาให้อสมทต้องจบก่อนวันที่ 27 ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันที่กสทช.ต้องประกาศร่างหลักเกณฑ์ทั้งหมดลงในราชกิจจานุเบกษา”

สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 2600 นั้น สำนักกสทช.ได้กำหนดให้ ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูลเป็นจำนวนเงิน 1,862 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 93 ล้านบาท เป็นใบอนุญาตทั่วประเทศ มีอายุ 15 ปี โดยคลื่นย่านนี้ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 10 ใบอนุญาต ส่วนการชำระเงินค่าประมูล ปีแรก ชำระงวดที่ 1 จำนวน 10% ของราคาประมูลสูงสุดที่ชนะการประมูล ปีที่ 2-4 ยกเว้นยังไม่ต้องชำระค่าการประมูล ปีที่ 5-10 (งวดที่ 2-7) ชำระปีละ 15%

ผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการให้บริการครอบคลุม 40% ของพื้นที่ อีอีซี ภายใน 1 ปี และ 50% ของพื้นที่เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของพื้นที่ทั้งหมดในแต่ละจังหวัด (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา และภูเก็ต) ภายใน 4 ปี