'ฟาร์มาเซฟ' แอพฯเตือนทานยาผู้ช่วยรายสำคัญของวงการแพทย์

'ฟาร์มาเซฟ' แอพฯเตือนทานยาผู้ช่วยรายสำคัญของวงการแพทย์

“ฟาร์มาเซฟ” แอพฯเตือนทานยา ผู้ช่วยรายสำคัญของแพทย์ผ่านระบบแจ้งเตือนบนสมาร์ทโฟน พร้อมเก็บข้อมูลประวัติการใช้ยา ลดปัญหาความผิดพลาดทางการรักษา การใช้งบประมาณของสธ. ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยใช้ยาผิดประเภท 50% ภายใน 4 ปี 

นายจักร โกศัลยวัตร CEO บริษัท วายอิง จำกัด ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน PharmaSafe กล่าวว่า จากการที่มีพื้นฐานเป็นนักออกแบบ กอรปกับเหตุเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาบิดาประสบกับเหตุเส้นเลือดในสมองตีบเฉียดพลันทำให้ต้องเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที และเมื่อมีการซักประวัติถึงการใช้ยาของผู้ป่วยกลับไม่มีข้อมูลดังกล่าวที่สามารถบอกถึงอาการได้ ณ เวลานั้นเนื่องจากแพทย์จะต้องรักษาตามอาการและการทานยาแต่ละตัวจึงจะวินิจฉัยโรคได้อย่างตรงจุด จึงเกิดแนวคิดที่จะทำระบบ Pharmasafe หรือ ฟาร์มาเซฟขึ้นมาและได้นำร่องใช้กับโรงพยาบาลค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา เป็นแห่งแรก และขยายผลสู่โรงพยาบาลอื่นๆเพิ่มมากขึ้น

โดยระบบฟาร์มาเซฟ (PharmaSafe) คือระบบผู้ดูแลการใช้ยาส่วนบุคคลอันดับ 1 ของไทย พัฒนาขึ้นเพื่อลดปัญหาการใช้ยาผิดของผู้ป่วย เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและความคุ้มค่าทางด้านงบประมาณและด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้น ๆ ของการรักษาพยาบาลทั่วโลก โดยฟาร์มาเซฟเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ป่วยใช้ยาได้ครบและถูกต้องตามที่แพทย์สั่ง ด้วยระบบให้ข้อมูลและการเตือนเวลาการใช้ยาอัตโนมัติทางมือถือ อีกทั้งช่วยเตือนยาที่แพ้ ยาซ้ำ ยาที่ตีกัน หรือยาที่อาจเป็นอันตรายกับผู้ป่วย ซึ่งเชื่อมข้อมูลจากโรงพยาบาลที่ใช้ระบบ และผู้ป่วยยังสามารถบันทึกและตั้งเตือนการใช้ยาเพิ่มได้ด้วยตัวเอง สามารถแชร์ข้อมูลการใช้ยาให้กับคนในครอบครัว ซึ่งเป็นประโยชน์ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน

157399577894

นายจักร กล่าวเสริมว่า สำหรับผู้ป่วยแล้ว ได้รับประโยชน์ในเรื่องของการใช้ยาถูกชนิด ถูกวิธี ถูกเวลา สามารถทานยาตรงตามที่แพทย์สั่ง หายไว ไม่ป่วยเรื้อรัง และมั่นใจว่าได้รับยาที่ถูกต้อง มีข้อมูลครบถ้วน รวมถึงมีข้อมูลยาติดตัวตลอดเวลาเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ทั้งยังป้องกันความเสี่ยงก่อนเกิดอันตรายจากยาด้วย ในขณะที่ผู้ให้บริการคือ จะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย (Patient engagement) ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยในการช่วยดูแลความปลอดภัยในการใช้ยา และเพิ่มคุณภาพการรักษาและให้บริการด้านยา รวมถึงเป็นระบบอัตโนมัติลดภาระบุคลากรในระยะยาว ลดการใช้กระดาษ ลดต้นทุน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนช่วยลดอุบัติเหตุจากการใช้ยาและลดความขัดแย้งกับผู้ป่วย เช่น การฟ้องร้องแพทย์ ทั้งนี้สามารถดาวน์โหลดและใช้งานได้ฟรี ส่วนการใช้งานระบบแนะนำการใช้ยาอัตโนมัติ มีการให้บริการในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนกว่า 10 โรงพยาบาล เช่น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลกระบี่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา เป็นต้น และมีแผนจะขยายไปสู่ร้านขายยา และสถานพยาบาลอื่นๆ

การที่ประสบความสำเร็จได้นั้นวายอิงได้ผ่านการเข้าร่วมโครงการจากหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น เอ็นไอเอ ดีป้า และสวทช. เพื่อนำองค์ความรู้จากการสนับสนุนมาส่งเสริมให้ระบบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการได้รับการสนับสนุนจาก สวทช. ผ่านโครงการ Startup Voucher ทำให้ฟาร์มาเซฟสามารถจัดโครงการ Roadshow ในโรงพยาบาลกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านสาธารณสุข ที่ถือว่าเป็นระบบที่ยังไม่มีมาก่อนในประเทศไทย  จากข้อมูลพบว่างบของกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละปีจะอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท และประมาณ 1 แสนล้านบาท จะเป็นงบประมาณด้านยา ซึ่งแต่ละปีจะมีการใช้ยาผิดคิดเป็นสัดส่วน 40% หรือเป็นวงเงินประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี จากการใช้ยาผิดประเภทและจากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอีกสาเหตุทำให้ประเทศไทยเกิดผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลและเกิดการใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า จึงนับว่าวายอิงเป็นสตาร์ทอัพไทยที่มีคลังอาวุธอย่าง ฟาร์มาเซฟที่เปรียบเสมือนเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขไทย ซึ่งนับเป็นปัญหาระดับประเทศพร้อมทั้งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดียิ่งขึ้นผ่านแอพพลิชั่นบนสมาร์ทโฟนที่สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง IOS และ Andoild แบบไม่มีค่าใช้จ่าย

 

157399580128

ทั้งนี้ฟาร์มาเซฟมุ่งเป้าที่จะให้บริการในโรงพยาบาลรัฐ เอกชน รวมถึงร้านขายยาอย่างครอบคลุมเพื่อลดปัญหาตรงจุดนี้ให้มีการใช้ยาผิดในผู้ป่วยลดลง 50% ภายใน 4 ปี  โดยกลุ่มลูกค้าจะเน้นขยายความร่วมมือกับกรมการแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีโรงพยาบาลในสังกัดรวม 30 แห่ง อีกทั้งที่ผ่านมาได้มีการขยายสู่ตลาดประกันภัย รวมถึงระยะยาวจะผลักดันการขยายธุรกิจไปในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้น และในส่วนของรายได้นั้นก็จะมาจากการขายระบบซอฟต์แวร์ให้กับทางโรงพยาบาล หรือสถานประกอบการด้านการแพทย์นั่นเอง

ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่นตัวใหม่ที่มีชื่อว่า “ฟาร์มาซี”(Pharmasee) ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้เอไอในการวิเคราะห์เม็ดยาว่าเป็นยาประเภทไหน มีคุณสมบัติอย่างไร เมื่อคนไข้นำยาชนิดนั้นๆมาแจ้งก่อนรับการรักษาต่อเนื่องแพทย์ และเภสัชกรก็จะสามารถประมวลและรักษาตามอาการต่อไป เพราะเนื่องจากยามีมากกว่า 3 หมื่นรายการที่ขึ้นทะเบียนอย.จึงทำให้บางครั้งอาจเกิดความสับสนได้ เพราะยาบางชนิดมีส่วนผสมที่เหมือนกันแต่ชื่ออาจแตกต่างกัน จึงเป็นการดีหากเราจะมีแอพพลิเคชั่นช่วยบอกคุณสมบัติของยานั้นๆได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้ง 7 แห่งไม่ว่าจะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้มีการเรียนรู้และป้อนข้อมูลลงในระบบ ทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนผ่านดีป้า และบริษัท ไมโครซอฟต์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งจะเปิดให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ฟรีในเดือนกุมภาพันธ์ 63 นี้นายจักร กล่าวทิ้งท้าย