เจาะยุโรปรันเวย์ พลิกเที่ยว Cheap..! สู่พรีเมี่ยม

เจาะยุโรปรันเวย์ พลิกเที่ยว Cheap..! สู่พรีเมี่ยม

การหันหัวเรือสลัดคำว่าแหล่งท่องเที่ยวไทย “ราคาถูก” ไม่ได้เปลี่ยนชั่วข้ามคืน! “ตลาดยุโรป” ตลาดคุณภาพ กระเป๋าหนัก กลายเป็นรันเวย์ พลิกภาพลักษณ์ ปรับทัศนคติเที่ยวไทยสไตล์หรูหรา เน้นคุณค่าสู่ “เมืองรอง” เซ็ทเทรนด์เที่ยวใหม่ ดันรายได้เข้าประเทศ

มรสุมการท่องเที่ยวไม่จบแค่ในปลายปี 2561 ปีเริ่มต้นสงครามการค้า ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว บวกกับเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต ในเดือนก.ค.ในปีเดียวกัน ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทยในเชิงปริมาณ ลด“ฮวบ” จากความกังวลเรื่องความปลอดภัย

พอมาถึงปี 2562 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวยังไม่สะเด็ดน้ำ ลามไปถึงปัญหาเศรษฐกิจภายในของแต่ละประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจไทย ในจังหวะเดียวกับค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากสุดในรอบ 6 ปี ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีราคาสูงขึ้น 10-20 % ฉุดอัตราเติบโตตลาดต่างชาติเที่ยวไทย 

โดยตัวเลขจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทยช่วง เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.)2562 มีจำนวนสะสมกว่า 29,465,732 คนแล้ว เพิ่มขึ้น3.51%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ 1,429,247 ล้านบาท เพิ่มขึ้น3.45%

สถานการณ์ดังกล่าว ในทำให้ในช่วงที่เหลือของปีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว ต้องออกแรงสุดฤทธิเพื่อผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ 39.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 5% จาก 38.2 ล้านคนในปีที่ผ่านมา และมีรายได้ 2.04 ล้านล้านบาท

โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรป มีรายได้ตั้งแต่ 2,000-6,000 ดอลลาร์ต่อปี มีอัตราการเข้ามากินเที่ยว พำนักในไทยระยะยาวไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ ส่งผลทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปสูงกว่าประเทศในโซนเอเชีย

157397773255

ในงาน ”World Travel Market” (WTM)2019 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ที่เพ่งผ่านพ้น ซึ่งเป็นงาน Trade Show ที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากงาน ITB Berlin (International Tourismus Borse) งานที่นำภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากทั่วโลกนำเสนอขายสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว มีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวมาร่วมออกบูธกว่า 5,000 ราย และมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 5 หมื่นคน โดย ททท. นำผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทย (Sellers) ไปร่วมงานเป็นครั้งที่ 39 เพื่อหวังสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับภาคเอกชนไทย พบกับผู้ซื้อที่มาร่วมงานจากทั่วโลก พร้อมกับเปิดตัวแนวคิด Open to the New Shades of Thailand ภายใต้แคมเปญ Amazing Thailand นำเสนอการท่องเที่ยวเมืองรอง และท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเจาะตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป !

ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าด้านการสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ตลาดภูมิภาคยุโรป ถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูง เป็นภูมิภาคที่ทำรายได้เป็นอันดับสอง รองจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก นักท่องเที่ยวยุโรปถือเป็นเป็นตลาดเก่าแก่ที่รู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดินทางมาไทยแล้วเกิดการมาซ้ำ เข้ามาพำนักในไทยเฉลี่ยประมาณ 2 สัปดาห์

ในยุคที่เทรนด์การท่องเที่ยวโลกมุ่งเน้นที่ความยั่งยืน ททท. จึงวางนโยบายมุ่งเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึกและมีความรับผิดชอบ โดยการพัฒนาสินค้าและนวัตกรรมการบริการด้านการท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวชุมชน สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุโรป ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การพัฒนาท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน เพราะช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มีการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

“การท่องเที่ยวต้องมุ่งความรับผิดชอบต่อสังคม ท่องเที่ยวทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน รวมไปถึงมีการเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน จะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ความเป็นแบรนด์ประเทศไทยให้ชัดเจนขึ้น”

157397769470

**5Go พลิกเติบโตตลาดคุณภาพ

รองผู้ว่าด้านการสื่อสารการตลาด ยังกล่าวถึงยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนในการทำการตลาด จะมุ่งเน้น 5 ด้าน ประกอบด้วย 

1.Go High คือการมุ่งเน้นทำตลาดกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางจนถึงรายได้สูงระดับ มีสัดส่วนโดยมีการจัดแคมเปญ “Distinctly Thai” สร้างการรับรู้ให้ท่องเที่ยวไทยเป็นสินค้าและบริการระดับหรูหรา (Luxury) ระดับโลก (World Class Destination) โดยการส่งเสริมจุดเด่นที่ไทยมีชื่อเสียง ประกอบด้วย ธรรมชาติ อาหาร มรดกทางวัฒนธรรม การดูแลสุขภาพ (Wellness) และการรักษาพยาบาล ตลอดจนการดูแลธุรกิจบริการต่างๆ (Hospitality)

2.Go for New Customer คือการหาลูกค้าใหม่ในตลาดใหม่ๆ เช่น ในอังกฤษ เข้าไปเลือกเจาะกลุ่มที่มีรายได้สูงเพิ่มขึ้น ในกลุ่มนอกเมืองลอนดอน เช่น คาร์ดิฟท์, เชฟฟีลด์, ลีดส์ และดับบลิน รวมไปถึงตลาดหรือประเทศอื่นๆ ที่มีโอกาสในการขยายช่องทางการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ

3.Go for Low Season คือการส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) เพื่อเพิ่มจำนวนให้มีการท่องเที่ยวในช่วงนอกฤดูกาลที่คนเที่ยวน้อยลง เพื่อสร้างสมดุลให้มีการท่องเที่ยวต่อเนื่องตลอดปี โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษได้มีการพัฒนาตลาดจากเดิมที่ท่องเที่ยวเฉพาะช่วงซัมเมอร์ในเดือนก.ค.-ส.ค. ก็ส่งเสริมให้เริ่มเที่ยวนอกฤดูกาลตั้งแต่เดือนพ.ค., มิ.ย. รวมไปถึง ก.ย. และต.ค.

4.Go for Local คือการส่งเสริมให้เที่ยวเมืองรอง ชมวิถีชีวิตไทยในชนบท ที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ ถือเป็นจุดแข็งที่สร้างความได้เปรียบให้ประเทศไทยในการทำการตลาด มีการนำเสนอความหลากหลายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว เช่น ไปสัมผัสกับการเข้าพักแบบโฮมเสตย์ ชิมอาหารริมทางและอาหารพื้นเมือง ยังมีหลายจุดปลายปลายทางยังสดใหม่ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่แสวงหาประสบการณ์ใหม่ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแต่ละจังหวัดที่มีความแตกต่างกันอาทิ แม่ฮ่องสอน, กาฬสินธุ์, บุรีรัมย์, พัทลุง, และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

5.Go Digital คือ การใช้ช่องทางการดิจิทัลแพลตฟอร์มที่หลากหลาย เพื่อเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวในแต่ละเซ็กเมนท์ เช่น การเปิดตัว แมกกาซีน ออนไลน์ “TAT’s new online magazine”เพื่อที่จะนำเสนอเนื้อหาเรื่องราวการท่องเที่ยวมุมมองใหม่ในการท่องเที่ยวชุมชน วัฒนธรรม ดึงดูดให้คนมาเที่ยวเมืองรอง

ด้าน ศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ททท. กล่าวถึงภาพรวมนักท่องเที่ยวในตลาดยุโรป ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2562 มีนักท่องเที่ยวจากตลาดยุโรป เดินทางมาประเทศไทยจำนวน 4,698,239 ล้านคน ลดลง 1.83% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ 324,758.41 ล้านบาท ลดลง 2.03% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

โดยนักท่องเที่ยวตลาดหลัก 5 อันดับแรก (ในเชิงจำนวน) ในช่วง 9 เดือนแรก ได้แก่ รัสเซีย 970,696 คน (-2.95 %), สหราชอาณาจักร 719,599 คน (+0.84 %), เยอรมนี 601,916 คน (-3.69 %), ฝรั่งเศส 560,575 คน (+0.05 %), อิตาลี 197,011 คน (-2.48 %)

ตลาดยุโรปในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีตัวเลขติดลบ เนื่องจากผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2561 อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินอยู่ที่ 37-38 บาทต่อยูโร แต่ปัจจุบัน 33 บาทต่อยูโร ลดลงไปถึง 5 บาทต่อยูโร หากราคาแพ็คเกจที่ 2,000 ยูโรต่อคน ต้องจ่ายเพิ่มถึง 10,000 บาทต่อแพ็คเกจ หากเดินทางทั้งครอบครัว 4 คน จะต้องจ่ายเพิ่มถึง 40,000 บาท นี่จึงทำให้อัตราค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวลดลง

“นี่คือคิดง่ายๆ กับตัวเลขที่หายไปเมื่อคำนวณเป็นค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้เงินหายไป 5 บาทต่อยูโร แต่ในทางจิตวิทยา คิดว่ายังจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเท่าเดิม แต่อาจจะมีการประหยัดค่าใช้จ่ายลดลง งบร้อยนึงอาจจะประหยัดการใช้จ่ายกินถูกลง เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย ทำให้เค้ารู้สึกว่าไทยไม่ใช่ราคาถูกเหมือนแต่ก่อนแล้ว”

**เปิดตลาด High ขยาย Mass

โดยโจทย์ที่ททท. ต้องเข้าไปปรับทัศนคตินักท่องเที่ยว เพื่อปรับภาพลักษณ์ จุดยืนแบรนด์จากประเทศที่มีราคาถูก (Cheap Destination) จึงมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากและหลากหลาย แต่เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่ทำให้สินค้าและบริการไทยแพงขึ้น ประกอบกับนโยบายประเทศต้องการยกระดับไปสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน ต้องการนักท่องเที่ยวมีคุณภาพที่มีรายได้ต่อหัวสูงเกิน 60,000 ดอลลาร์ต่อปี ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 7%

“ตลาดทั่วไป (แมส) ก็ไม่ทิ้ง แต่ต้องเน้นทำแคมเปญไปสู่ตลาดบนไว้เพื่อค่อยๆปรับการรับรู้ (Perception) ความเป็นตลาดคุณภาพตลาดล่างก็ต้องตามมา ไม่ใช่ไม่สนใจตลาดล่าง แต่การทำเช่นนี้อานิสงส์จะส่งไปยังตลาดแมสเอง การเปลี่ยนการรับรู้ของคนต้องใช้เวลา เพราะสร้างการรับรู้แล้วลืมยากจึงทำให้ไทยยังถูกมองเป็น Cheap Destination กับคนส่วนใหญ่ ซึ่งตอนนี้มี 2 กลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปมองไทย มองไทยว่าคุ้มค่า กับมองว่าถูกไปเลย”

ส่วนตลาดยุโรป แม้ตัวเลขในช่วง 9 เดือนจะติดลบ แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายก่อนสิ้นปี 2562 เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) ที่จะส่งผลทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมากขึ้น และทำให้ยอดการท่องเที่ยวเริ่มตีตื้นทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวในตลาดยุโรปกลับมาเป็นบวกได้

“หลังจากเห็นตัวเลขเดือนต.ค.ประเมินว่าตัวเลขจะเริ่มตีตื้นขึ้น เช่น อังกฤษ(UK) กลับมาเป็นบวก1.2% คาดว่าสิ้นปีจะเป็นบวก รวมถึงตลาดอื่นๆ ในยุโรป ที่มีความหลากหลายมีทั้งทรงๆ และติดลบและดีขึ้น โดยเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม ยังเติบโตได้ดี ขณะที่ฝรั่งเศส เติบโตช้า ขณะที่สวีเดน ติดลบ10%จากที่เคยท่องเที่ยวติดท็อป4ของไทย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ฉุดตลาดยุโรปโดยรวมยังติดลบ ต้องไปเพิ่มประเทศอื่นๆ มาชดเชย”

สำหรับภูมิภาคยุโรปตะวันออก รูปแบบการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปนิยมเดินทางแบบฤดูกาล (Seasonal) โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว (Winter) และกับหน้าร้อน (Summer) แหล่งท่องเที่ยวในไทยที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปชื่นชอบ ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวประเภทหาดทรายชายทะเลในภาคใต้ และจังหวัดท่องเที่ยวหลักที่ได้รับความนิยมได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) เป็นต้น

ศรีสุดา ผู้รับผิดชอบตลาดยุโรป ยังกล่าวถึงการวางกลยุทธ์การท่องเที่ยวตลาดยุโรปในยุคนี้ ต้องปรับวิธีการใหม่ ทำแบบเดิมไม่ได้ผล เพราะสภาพตลาดเปลี่ยนไป เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจภายในของแต่ละประเทศก็มีปัญหา เช่น อังกฤษ เจอปัญหาเบร็กซิส (แยกตัวออกจากสหภาพยุโรป) คู่แข่งก็เล่นเกมสงครามราคา อัดแคมเปญเหมือนกัน แม้แต่ มัลดีฟ ที่คนรับรู้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรูหรายังเริ่มลดราคา ดังนั้นททท.จึงต้องออกแบบกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับแต่ละตลาด (Tailor made)

เริ่มต้นจากการกำหนดปัญหาหลัก (Pain point) เพราะแต่ละตลาด แต่ละประเทศมีปัญหาแตกต่างกัน เช่น อิตาลี อัตราการเติบโตเศรษฐกิจติดลบ จึงต้องทำโปรโมชั่น ทำแคมเปญต่อเนื่อง ในตลาดที่ยังมีกำลังซื้อของแต่ละประเทศ ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามเศรษฐกิจชะลอตัว

“ไม่คิดว่าการที่นักท่องเที่ยวตกนั้นเป็นปัญหาที่ปล่อยไปตามสภาพ แต่เป็นอาการต้องจัดยารักษาให้เหมาะกับโรค เริ่มต้นจากค้นหาสาเหตุนักท่องเที่ยวตกเพราะอะไร หาวิธีการแก้ไขแต่ละตลาด เช่น ตลาดอังกฤษ คนยังเดินทาง แต่คนขาดความมั่นใจการใช้เงิน ทางททท.จึงอัดแคมเปญตั้งแต่ต้นปีจนทำให้ตัวเลขเริ่มเป็นบวกในเดือนต.ค.”

รองผู้ว่าการททท.ัยังบอกด้วยว่า ความท้าทายไม่ใช่อยู่แค่เพียงการวางกลยุทธ์ ออกแคมเปญ แต่จะต้องเหนื่อยกับการ “ชิงไหวชิงพริบ” แข่งขันในเกมที่คู่แข่งก็รู้ว่าควรทำอย่างไร และที่สำคัญนักท่องเที่ยวอาจจะหันไปเดินทางระยะใกล้ในยุโรปมากขึ้น จึงต้องอัดแคมเปญทำให้คนเดินทางมาไทย ซึ่งอังกฤษก็ถือว่าชอบตลาดไทยมีการเดินทางเป็นอันดับ2 ที่คนอังกฤษเลือกรองจากสหรัฐ

สิ่งสำคัญคือต้องค่อยเริ่มสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวยุโรปต่อไทยใหม่ จากเดิมที่เป็นตลาดเก่าแก่ ทำให้ท่องเที่ยวและผูกพันกับไทยมายาวนาน จึงมองไทยว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป (Mass Tourism) ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความอิ่มตัวและชะลอการเดินทางมาประเทศไทย สำหรับกลุ่มที่ต้องการมองหาสิ่งใหม่

ททท.จึงต้องมองหาสินค้าใหม่ทางการท่องเที่ยวมานำเสนอให้นักท่องเที่ยวจากตลาดยุโรป เพื่อรักษาฐานนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเสนอสินค้าสีสันใหม่ “New Shades” ได้แก่ การท่องเที่ยวจังหวัดรอง (Emerging Markets) และการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มอนาคตจากตลาดยุโรปซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพของประเทศไทยที่มีวันพำนักระยะยาวและมีการใช้จ่ายสูง

ถือเป็นการเพิ่มความแตกต่างจากสินค้าใหม่ ข้อเสนอใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะการท่องเที่ยวคือสินค้าที่สร้างประสบการณ์ แม้ต่างชาติมาเที่ยวไทยสัดส่วนการมาซ้ำ (Repeat) ถึง 70% แต่ไม่นานก็ต้องไปหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ

แม้เขารักเรา ชอบเดินทางมาไทยทุกปี แต่สักวันก็ต้องไปเพราะท่องเที่ยวไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ที่ใช้ซ้ำได้ตลอดเพราะความเคยชิน ดังนั้นจึงหยุดนิ่งทำแบบเดิมไม่ได้ ต้องพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ และอัดแคมเปญใหม่จูงใจนักท่องเที่ยวมาไทย

 

 

**WTM สร้างเครือข่ายจากความไว้ใจ

ศรีสุดา ยังกล่าวด้วยว่า การเข้าร่วมงานส่งเสริมการขายทางการท่องเที่ยว “World Travel Market (WTM) 2019”กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ททท.นำมีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวมาร่วมออกบูธจำนวน 42 ราย นัดเจรจาธุรกิจ 882 นัดหมาย

ในยุคที่ดิจิทัลมาแรง ทำให้โลกออนไลน์เริ่มมีอิทธิพลกับการท่องเที่ยว แต่การทำตลาดแบบออฟไลน์ ก็ยังทำคู่ขนาน (O2O) เช่น การเข้าร่วมงานเจรจาธุรกิจที่สำคัญระดับโลก ช่วยให้เข้าถึงเอเจนซี่ในตลาดที่ และสร้างความสัมพันธ์กับมากขึ้น เพราะมีการเจรจาแบบตัวต่อตัว ทำให้ได้อัพเดทสถานการณ์การท่องเที่ยวเทรนด์โลก รวมถึงมีการนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ ทั้งของไทยและพันธมิตรต่างชาติ ดังนั้นการเข้าร่วมงานจึงเป็นการเพิ่มพันธมิตรธุรกิจใหม่ที่ช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ประเทศไทย

“การเข้าร่วมงาน WTM เป็นการสร้างตลาดให้กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวกับพาร์ทเนอร์ผู้นำตลาดในต่างประเทศได้มาเจอกัน การมาเจอหน้าทำให้เจรจาธุรกิจตัวต่อตัว สร้างโอกาสเพิ่มเอเจนซี่ธุรกิจทัวร์ให้กับไทย หากมีมากขึ้นก็สร้างเครือข่ายตัวแทนประเทศไทยที่ช่วยประชาสัมพันธ์และขายของไทยได้เพิ่มขึ้น พาร์ทเนอร์มากขึ้น ก็หมายถึงคนชอบประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อไทยมีสินค้าใหม่ๆ เช่น เมืองรอง เอเจนซีจะช่วยแนะนำสื่อสารได้เข้าใจได้มากกว่า”

การมีเน็ตเวิร์คจำนวนมากยังนำไปสู่การทำตลาดได้หลากหลายช่องทางในยุควิกฤติ เช่น กรณีการประท้วงในฮ่องกง ส่งผลทำให้ยอดการเดินทางของชาวอเมริกันและแคนาดาลดลงในเดือนต.ค. เพราะมีบางกลุ่มที่เดินทางมาต่อเครื่องที่ฮ่องกงมีการยกเลิกการเดินทาง ทางททท.จึงแก้เกมจับมือกับสายการบิน กาตาร์ ให้ร่วมจัดโปรโมชั่นจูงใจให้ต่อเครื่องที่โดฮา ประเทศกาตาร์

"โปรโมทสายการบินที่เป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีกับไทย จูงใจผ่านสิทธิพิเศษหรือโปรโมชั่นเช่นยกเลิกเก็บภาษีสนามบิน ซึ่งทางสายการบินเหล่านี้ก็ต้องการอยู่แล้ว เพราะไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากถึง 40 ล้านคน”

ด้านไกรพ สุวรรณเสนีย์ รองประธานฝ่ายขายและการตลาด เสม็ดรีสอร์ท กรุ๊ป หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงาน WTM มากกว่า 10 ปี โดยมุ่งเน้นทำตลาดระดับบนราคาตั้งแต่20,000 บาทต่อคืน สูงสุดอยู่ที่ 38,000 บาทต่อคืนในช่วงเดือนพ.ย.-เม.ย. เคยได้รับรางวัล World Luxury Hotel Award 4 ปี ติดต่อกัน กลุ่มลูกค้าหลักเป็นชาวอังกฤษมากกว่า 50% สัดส่วนรองลงมาคือกลุ่มอิตาลี สแกนดิเนเวีย สเปน เป็นต้น

เขามองว่า การวางจุดยืนเป็นแบรนด์ทำตลาดลักชัวรี่ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้มีกลุ่มตลาดที่ชัดเจน และมีการกลับมาซ้ำ ที่สำคัญ กลุ่มเซคเมนท์หรูนี้ เมื่อมีการวางแผนท่องเที่ยวก็เดินทางมาปกติ วิกฤติสงครามการค้า ค่าเงิน รวมไปถึงเหตุการณ์เบร็กซิส ไม่ส่งผลกระทบต่อการวางแผนการเดินทางมาพักผ่อน

“กลุ่มไฮเอนด์ไม่มีปัญหาเมื่อเกิดวิกฤติเบร็กซิส รวมถึงวิกฤติค่าเงินบาท เพราะไม่ส่งผลกระทบสถานะทางการเงิน ที่สำคัญเมื่อมาแล้วถูกใจก็ยังมาซ้ำทุกปี โดยไม่มีการต่อรองราคา”

เขามองว่า การทำตลาดระดับลักชัวรี่สำหรับสำคัญมากจะต้องมีการทำตลาดคู่ขนาน โดยเฉพาะการเข้าร่วมงานแฟร์จะเป็นประตูให้ได้มีโอกาสเปิดตลาดมีพันธมิตรแจนซี่ ที่วางแผนการท่องเที่ยวให้กับลูกค้ากลุ่มคนมีชื่อเสียง (Celebrity) เช่น นักแสดง ศิลปิน นักธุรกิจ ผู้บริหารระดับสูงซีอีโอองค์กรเป็นต้น

ดังนั้นการเดินทางมาออกงานWTM หรือช่องทางการเจรจาธุรกิจในต่างประเทศ จึงไม่ใช่เพียงแค่การมาขายสินค้าพบลูกค้าเก่าเพื่อสร้างความสัมพันธ์ ชณะเดียวกันยังมีโอกาสเพิ่มเอเจนซี่ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดธุรกิจท่องเที่ยวทุกปี

“ลูกค้าส่วนหนึ่งที่เป็นลูกค้าประจำเคยมาพักเราสามารถคุยได้โดยตรงไม่ผ่านเอเจนซี่ รวมถึงการทำตลาดออนไลน์ บนโซเชียลก็สร้างการรับรู้ได้ระดับหนึ่ง แต่ในยุคที่ตลาดเปลี่ยนแปลงทุกปี มีเอเจนเซี่หน้าใหม่เกิดขึ้น มีกลุ่มตลาดใหม่ๆ อาทิ ตลาดเซเลบริตี้ ที่จะต้องพึ่งพาเอเจนเซี่ จึงต้องมาทำความรู้จักเอเจนซี่หน้าใหม่

โดยเฉพาะโรงแรมของเขาทำตลาดอังกฤษ เป็นหลัก ซึ่งคนอังกฤษมีวัฒนธรรมที่ชอบสื่อสารและรับการบริการจากคนมากกว่าจากออนไลน์ พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนอังกฤษ นิยมความเป็นส่วนตัว ชอบสถานที่สงบ เดินเที่ยวบนหาดทราย

“มีการบุ๊คออนไลน์ก็มีแต่คนอังกฤษก็ชอบสื่อสารและรับบริการจากคนมากกว่า เพราะไลฟ์สไตล์เค้าเป็นชาติมีวัฒนธรรม ชอบสื่อสารลับการบริการจากคนโดยตรง

เขาให้ความเห็นถึงศักยภาพของการยกระดับไปสู่ตลาดลักชัวรี่สำหรับไทย มีสินค้าและการบริการที่พร้อม มีความเป็นเวิลด์คลาส เพราะมีความหลากหลายทั้งทางกายภาพ ภูมิประเทศ มีทะเล เกาะ ภูเขา วิถีชีวิตชุมชน และวัฒนธรรม ของแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกัน

สิ่งสำคัญคือภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันทั้งองคาพยพ เมื่อภาครัฐโปรโมท ผ่านการสร้างเครือข่ายการจัดงานระดับโลก มีการทำโรดโชว์ ทางภาคเอกชนจะต้องเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีเข้ามาสนับสนุนดด้านการเงิน และด้านสร้างเครือข่าย ทางเอกชน พัฒนาสินค้า