Green Pulse: ช้างป่า 'เหวนรก' ...บทเรียนการจัดการพื้นที่อุทยานฯ

Green Pulse: ช้างป่า 'เหวนรก' ...บทเรียนการจัดการพื้นที่อุทยานฯ

จากเหตุการณ์โขลงช้างเขาใหญ่พลัดตกน้ำตกเหวนรกที่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คำถามที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน คือ การพัฒนาต่างๆ รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ขยายตัวในพื้นที่อุทยานฯ ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของผืนป่าแห่งนี้และชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าหรือไม่

การตั้งคำถามต่อการพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์อย่างเขาใหญ่ที่เป็นอุทยานฯ ที่ตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศ และเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่สองของประเทศร่วมกับพื้นที่อนุรักษ์รอบๆ อีก 4 แห่งในนามของ “กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” ในปี 2548 จนกลายมาเป็นประเด็นข้อถกเถียงถึงหลักการจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างอุทยานแห่งชาติในวันนี้ เนื่องจากมีข้อสังเกตหลายๆ ด้านที่นักอนุรักษ์และนักวิชาการได้วิเคราะห์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา

โดยก่อนหน้าวันเกิดเหตุในช่วงของวันที่ 3 ถึง 4 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ชุดผลักดันช้างบริเวณถนนสาย 3077 ปราจีนบุรี (เนินหอม - ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่) รายงานการปฏิบัติงานว่า มีฝูงช้างออกจากป่าเป็นจำนวนมากบริเวณถนนสาย 3077 ช่วงทางลงจังหวัดปราจีนบุรี และเมื่อราวตีสามของวันที่ 5 ตุลาคมเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ.20 (น้ำตกเหวนรก) ได้ยินเสียงช้างร้องบริเวณลำห้วยสมอปูนที่ไหลไปสู่น้ำตกเหวนรก

จนกระทั่งราวหกโมงเช้า เจ้าหน้าที่จึงเข้าไปตรวจสอบบริเวณลำห้วยจนถึงน้ำตกเหวนรก จึงพบลูกช้างป่าอายุประมาณ 3 ปี จำนวน 1 ตัว จมน้ำบริเวณชั้นแรกของน้ำตกและพบช้างอีก 2 ตัว ติดอยู่บนฝั่งหน้าผาของน้ำตกและพยายามที่จะลงไปช่วยลูกช้างที่อยู่ในน้ำตกจนมีสภาพอ่อนแรง 

และเมื่อได้ตรวจสอบตามน้ำตกลงไปจนถึงชั้นล่าง จึงได้พบช้างป่าตายในน้ำอีก 5 ตัว รวมเป็นช้างป่าที่ตายบริเวณน้ำตกทั้งหมด 6 ตัว ก่อนที่ทีมสำรวจชุดต่อมาจะพบช้างป่าตายเพิ่มบริเวณปลายน้ำตกอีก 5 ตัวในเช้าวันที่ 7 ตุลาคม

ในเบื้องต้น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ครรชิต ศรีนพวรรณ ตั้งข้อสังเกตว่า โดยปกติ ช้างจะไม่ใช้เส้นทางที่เกิดเหตุเพราะมีเพนียดกั้นไว้อยู่ แต่จะใช้เส้นทางในป่าทางตอนบนเหนือนำ้ตกขึ้นไป อย่างไรก็ดี ในเหตุการณ์นี้กลับพบว่า ช้างโขลงนี้กลับเข้ามาในบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ด้านล่างลงมาจากเพนียดที่กั้นเอาไว้ จึงคาดว่า โขลงช้างอาจตามมาช่วยเหลือช้างในโขลงที่พลัดตกลงไปก่อนหน้า เพราะช้างเป็นสัตว์สังคม

ในขณะที่ข้อสังเกตของนายครรชิตได้รับการสนับสนุนจากคนทำงานด้านป่าไม้และสัตว์ป่าว่าอาจเป็นอุบัติเหตุ แต่นักอนุรักษ์หลายๆคน รวมทั้งนิคม พุทรา อดีตเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เคยทำงานในพื้นที่เขาใหญ่ และอดีตนักรณรงค์งานด้านอนุรักษ์ของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทยได้ออกมาตั้งคำถามถึงการพัฒนาภายในพื้นที่ รวมทั้งการขยายตัวของกิจกรรมท่องเที่ยวที่เขามองว่าอาจยังมีการควบคุมที่หละหลวม จนส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของสัตว์ป่าในพื้นที่ โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่อย่างช้าง

โดยนิคมกล่าวจากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่และการสำรวจวิจัยช้างป่าในระหว่างที่ทำงานให้กับมูลนิธิฯว่า พื้นที่เขาใหญ่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเป็นครั้งแรกๆ เมื่อมีการตัดถนนเส้น 3077 ที่ตัดผืนป่าเขาใหญ่ออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ และมีการใช้งานใช้งานค่อนข้างหนาแน่นเนื่องจากกลายเป็นเส้นทางตัดเชื่อมระหว่างจังหวัดปราจีนบุรีและนครราชสีมา

นับตั้งแต่นั้นมา การเดินทางที่สะดวกขึ้นได้นำพาผู้คนเดินทางผ่านและแวะเวียนเขาใหญ่ซึ่งทำให้เขามองว่าการใช้รถใช้ถนน เป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นการรบกวนสัตว์ตามมา

อย่างไรก็ดี เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว พื้นที่ในหลายๆ จุดของเขาใหญ่ได้ถูกพัฒนาสาธารณูปโภคเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งในบริเวณน้ำตกเหวนรกที่ถูกพัฒนาเป็นจุดบริการนักท่องเที่ยวและมีร้านอาหารถูกสร้างข้ึนในบริเวณพื้นที่

นิคมกล่าวว่า ในบริเวญนี้มีด่านช้างอยู่ซึ่งจะมีโขลงช้างอาศัยหากินประจำ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาในรายละเอียดให้ชัดเจนว่าการพัฒนาในพื้นที่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์ป่าอย่างไร นอกจากนี้ บางกิจกรรมที่หากเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า อาทิ การใช้ถนน หรือกิจกรรมการท่องเที่ยวที่รบกวนสัตว์ป่า จำเป็นที่จะต้องกำหนดมาตราการควบคุมดูแลที่เข้มงวดกว่านี้

“จุดอ่อนของเราอย่างหนึ่งในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์คือ เราแทบไม่มีข้อมูลที่จะมาช่วยในการวางแผนเลย”นิคมระบุ โดยอ้างอิงถึงงานสำรวจที่เคยทำไว้เมื่อกว่า20ปีมาแล้ว และแทบไม่ได้เห็นการวิจัยที่ต่อเนื่องในพื้นที่ที่สามารถช่วยในการติดตามความเปลี่ยนแปลงของประชากรสัตว์ป่าได้เลย

มรดกโลก?

ในรายงานของคณะกรรมการมรดกโลกที่มีการอัพเดทและรายงานสถานการณ์ของพื้นที่เพื่อพิจารณาการลดสถานะความเป็นมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การรักษาให้คงไว้และการเชื่อมต่อของระบบนิเวศของพื้นที่มรดกโลกที่กินพื้นที่ทั้งหมดกว่าหกพันตารางกิโลเมตร ถูกระบุว่า ยังเป็นข้อกังวลหลักและควรเป็นภาระกิจลำดับต้นๆ ของหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณค่าของพื้นที่

โดยการใช้รถใช้ถนนและการพัฒนาต่างๆที่ผ่านมา การรุกล้ำพื้นที่ การล่าสัตว์ และการท่องเที่ยว ถูกระบุว่า ล้วนแต่เป็นปัจจัยคุกคามที่สำคัญต่อคุณค่าและความพยายามในการอนุรักษ์พื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นถูกระบุว่า สร้างแรงกดดันอย่างเข้มข้นต่อส่ิงอำนวยความสะดวกและการจัดการในพื้นที่อยู่บ่อยครั้งในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะที่ อช.เขาใหญ่ ที่มีคนมาเที่ยวมากกว่า อช.อื่นๆ

ดร. ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งได้ริเริ่มการศึกษาวิจัยระบบนิเวศและสัตว์ป่าที่สำคัญๆ ของพื้นที่มรดกโลกทั้ง landscape และการศึกษาเชิงลึก โดยการสนับสนุนของกรมอุทยานฯ และมูลนิธิพิทักษ์เขาใหญ่หลังจากสถานีฯ ตั้งขึ้นในช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า การโซนนิ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่มรดกโลกยังไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ 

โดยการศึกษาการกระจายตัวและการใช้ประโยชน์ของประชากรสัตว์ป่าหลักๆ ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศรวมทั้งเสือโคร่ง ช้างป่า กระทิง และสัตว์ที่เป็นเหยื่ออย่างอื่นๆ อย่างเก้งหรือกวางในปีแรกของสถานีฯ คือ ปี 2560 พบว่า สัตว์ป่าดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์พื้นที่อยู่ที่ประมาณ 10-30 % ของพื้นที่รวมราว 6,100 ตารางกิโลเมตร โดยส่วนใหญ่มักจะกระจุกในบริเวณตอนกลางของผืนป่าแต่ละที่ โดยพบว่า ช้าง กระทิง และเก้งกวางใช้พื้นที่ป่าอยู่ที่ประมาณ 30-38% ในขณะที่พบการกระจายตัวของเสือเพียง 10% ของพื้นที่ และอยู่ในใจกลางผืนป่ามรดกโลกด้านตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ อช. ทับลานและปางสีดาเป็นหลัก 

ในขณะที่การศึกษาติดตามเชิงลึกผ่านการตั้งกล้องดักถ่าย Camera Trap ทั้ง lanscape พบว่า ไม่พบเสือโคร่งใน อช. เขาใหญ่เลย ซึ่ง ดร. ศุภกิจกล่าวว่า เสือเป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหวมาก โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องที่น่าสังเกตและน่าศึกษาในลำดับต่อไปว่ามีปัจจัยรบกวนอะไรบ้างในพื้นที่ที่ไม่พบการกระจายตัวหรือการใช้พื้นที่ของสัตว์ป่าในบริเวณนั้น

การเก็บข้อมูลด้านสัตว์ป่าโดยการติดตั้งกล้องดักถ่ายทั้ง lanscape ในปี 2562 ทำให้สถานีฯ ได้ข้อมูลดิบจำนวนมากที่จะสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อช่วยวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ได้ เพื่อให้เกิดการจัดการเชิงยืดหยุ่น (adaptive management) มากขึ้นและเป็นวิชาการสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่อนุรักษ์ที่มีการใช้ประโยชน์หลายด้านอย่างเขตอุทยานฯ ดร. ศุภกิจกล่าว

ในกรณีของช้างป่าที่ตกน้ำตกเหวนรก การวิเคราะห์จากข้อมูลที่ได้ในเบื้องต้น พบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ 8 ตารางกิโลเมตรของช้างป่าบริเวณรอบๆ น้ำตก ซึ่งสอดคล้องกับการสังเกตของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยฯ ที่พบว่า มีช้างที่มีเส้นทางหากินประจำในพื้นที่อยู่

อย่างไรก็ดี ดร.ศุภกิจ วิเคราะห์ว่า อาจแปลได้ว่า ช้างมีความสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ได้ทั้งหมด 8 ตารางกิโลเมตร ไม่เพียงเฉพาะจุดใดจุดหนึ่งในบริเวณน้ำตก ซึ่งสะท้อนความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวหากินของช้าง และนั่นอาจหมายความว่า สิ่งก่อสร้างในบริเวณใกล้เคียงอาจไม่ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมการหากินของช้างจนต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางใกล้น้ำตกจนเกิดอุบัติเหตุแต่อย่างใด และอาจไม่จำเป็นต้องรื้อถอนตามที่มีการเสนอ

อย่างไรก็ตาม ดร.ศุภกิจกล่าวว่า กิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รวมทั้งการท่องเที่ยว อาจมีผลต่อพฤติกรรมช้างป่ามากกว่า โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเสียงและแรงสั่นสะเทือน

นั่นหมายความว่า การบริหารจัดการพื้นที่ จำเป็นต้องคำนึงถึงกิจกรรมดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการอยู่อาศัยและการหากินของช้างป่าในพื้นที่

ดังนั้น แผนการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างเขตอุทยานแห่งชาติ ไม่ได้มีเพียงแค่การโซนนิ่งตามการใช้ประโยชน์พื้นที่ หากแต่เป็นการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่นทั้งเชิงพื้นที่และเวลาตามความเหมาะสมของระบบนิเวศ

ในพื้นที่เสี่ยง ดร.ศุภกิจแนะนำว่า อาจมีการออกแบบมาตรการเชิงป้องกันความเสี่ยงให้สัตว์ป่า อาทิ เพนียดกั้นนำ้ตกสำหรับกั้นช้างป่าบริเวณเหวนรกที่อาจต้องเสริมความแข็งแรงขึ้น 

ในระยะกลาง  การบริหารจัดการพื้นที่ควรคำนึงถึงการกำหนดกิจกรรมและช่วงเวลาของการใช้พื้นที่ที่แตกต่างกันเพื่อลดการรบกวนสัตว์ป่า รวมไปถึงการจัดการพื้นที่โดยอาศัยงานวิจัยด้านสัตว์ป่าในภาพรวมทั้ง lanscape เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าและระบบนิเวศ

ในระยะยาว ดร.ศุภกิจกล่าวว่า จำเป็นที่จะต้องมีการทำงานร่วมกับชุมชนที่อยู่รอบๆ เพื่อเสริมแผนการบริหารจัดการภายในพื้นที่ให้เข้มแข็งขึ้นอีกทางหนึ่ง

“การก่อตั้งอุทยานฯ มีเจตนารมย์ที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าส่วนสำคัญต้องเป็นไปเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติ ดังนั้นการบริหารจัดการพื้นที่หรือการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต้องเป็นไปอย่างสมดุลย์ ความท้าายจึงอยู่ที่การออกแบบแนวทางจัดการ และแผนตามหลักวิชาการ และเมื่อมีแผนแล้วจะปฏิบัติได้เข้มแข็งจริงจังมากน้อยแค่ไหน” ดร. ศุภกิจกล่าว