เปิด 611 จุดเสี่ยงคุมคามทางเพศ มธ. – ลุมพินี นำร่องหาแนวทางป้องกัน

เปิด 611 จุดเสี่ยงคุมคามทางเพศ มธ. – ลุมพินี นำร่องหาแนวทางป้องกัน

เผย 611 จุดเสี่ยงคุกคามทางเพศ กรุงเทพและปริมณฑล นำร่อง 13 เขต มธ.ระดมนักศึกษาสำรวจพื้นที่พบ 288 จุด เพิ่มความปลอดภัย ก่อนเกิดเหตุ ช่วงเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ด้าน สน.ลุมพินี รับมอบข้อมูลปักหมุด เล็งเพิ่มสายตรวจ สำรวจ แบ่งระดับความเสี่ยงให้ชัดเจน

จากผลสำรวจขององค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย พบว่า ผู้หญิงกว่า 86% เคยถูกคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นทางเดิน ในซอย สะพาน มุมอับ ริมถนน หรือแม้แต่รถโดยสารสาธารณะ การรอให้เป็นหน้าที่หน่วนงานของรัฐแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียวอาจจะสายเกินแก้ ดังนั้น การร่วมมือของภาคประชาสังคม ชุมชน และภาคีเครือข่าย รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยเก็บข้อมูล จึงเป็นกำลังสำคัญในการแก้ปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพ

วานนี้ (16 พฤศจิกายน) เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ประกอบด้วย องค์การ แอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (ActionAid) แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายสลัมสี่ภาค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายสถาปนิก นักผังเมือง เครือข่ายคนเมือง Shma SoEn, พร้อมด้วย Big Trees, Urban Creature มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

157391868677

จัดงานแถลงข่าวเปิดข้อมูล 611 จุดเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศในพื้นที่กทม. และปริมณฑล ภายใต้ แคมเปญ First Pin “ปักหมุดจุดเผือก” โดยเปิดให้ประชาชนร่วมปักหมุดผ่าน โปรแกรมแจ้งเหตุ Chat bot ทีมเผือกในแอพพลิเคชั่นไลน์ @Traffyfondue พร้อมด้วย พ.ต.อ. กัมพล รัตนประทีป ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เดินทางรับมอบข้อมูลหมุดเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ณ ศูนย์การค้าเดอะ มาร์เก็ต แบงคอก

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้แทนเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ก่อตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์กระตุ้นให้ผู้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาความไม่ปลอดภัยทางเพศที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ และร่วมกันสอดส่องดูแลเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยได้รับการสนับสนุนโปรแกรมแจ้งเหตุ Chat bot ผ่านไลน์ ที่พัฒนาโดย NECTEC มาประยุกต์ใช้และเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไป ร่วมสำรวจพื้นที่สาธารณะและแจ้งจุดเสี่ยงภัยคุกคามทางเพศ ซึ่งมีความสะดวกรวดเร็วสำหรับทั้งผู้แจ้งและผู้รับข้อมูล

157391907568

ดร.วราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า ภายหลังจากเริ่มโครงการปักหมุดจุดเผือกในระยะเวลา 2 เดือน มีภาคีเครือข่ายและประชาชนได้ร่วมกันปักหมุดจุดเผือกเข้ามา มากกว่า 611 หมุดทั่วกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต จำนวน 288 หมุด เขตลุมพินี สะพานเขียว ซอยร่วมฤดี ซอยโปโล จำนวน 114 หมุด เขตราชเทวี-พญาไท บริเวณเพชรบุรีซอย 5 เพชรบุรีซอย 7 จำนวน 75 หมุด เขตบางขุนเทียน บริเวณชุมชนเคหะ ธนบุรี 3 บริเวณพระราม 2 ซอย 60 และสถานีรถไฟรางสะแก จำนวน 33 หมุด เขตมักกะสัน บริเวณถนนนิคมมักกะสัน จำนวน 32 หมุด เขตบางซื่อ บริเวณทางรถไฟประชาชื่น จำวนน 25 หมุด

157391869142

เขตจรัญสนิทวงศ์ บริเวณ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 34 และซอยจรัญสนิทวงศ์ 1 จำนวน 11 หมุด เขตสะพานควาย บริเวณซอยพหลโยธิน ซอยอินทามระ 45 จำนวน 10 หมุด เขตดินแดง-อนุสาวรีย์ บริเวณถนนราชวิถี จำนวน 4 หมุด เขตประชานิเวศน์-ประชาอุทิศ บริเวณซอยประชานิเวศน์ 3 ซอยรามคำแหง 21 จำนวน 6 หมุด เขตลาดกระบัง บริเวณสถานีรถไฟพระจอมเกล้า จำนวน 5 หมุด เขตบางกรวย บริเวณคลองบางกอกน้อย จำนวน 4 หมุด และ เขตรัชดา บริเวณรัชดาซอย 4 จำนวน 4 หมุด

ทั้งนี้ ลักษณะพื้นที่ที่มีคนปักหมุดจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุด คือ ทางเดินและซอย 39% สะพาน 16% ริมถนน 15% ใต้ตึก 13% อาคารร้าง 7% ทางเดินริมคลอง 5% สะพานลอย 3% สวนสาธารณะ 1% ทางจักรยาน 1% นอกจากนี้แล้วเราได้ประมวลผลพบ 7 อันดับจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุดดังนี้ 1.จุดที่ขาดการบำรุงรักษา 23% ไฟสว่างไม่เพียงพอ 23% จุดอับสายตา 15% ทางเปลี่ยว 14% ทางแคบทางตัน 13% ไม่มีป้ายบอกทาง 9% ไกลจากป้ายรถเมล์ วิน สถานี 3%

157398980423

นายวสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ในฐานะผู้พัฒนาระบบ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ใช้แอพพลิเคชั่นไลน์กว่า 42 ล้านคน มากกว่าทุกแพลตฟอร์ม ดังนั้น Chat Bot จะเข้ามาช่วยให้เรารู้เร็ว แก้ปัญหาไว ป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา การใช้เทคโนโลยีช่วยระบุจุดเสี่ยงถือว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกชีวิต ในการช่วยพัฒนาพื้นที่ของเมืองให้ปลอดภัย โดยเฉพาะสตรี เด็ก คนชรา รวมถึงประชาชนทั่วไปมีความจำเป็น

157391868951

"ขณะนี้ NECTEC ได้พัฒนาโปรแกรมดังกล่าวสมบูรณ์แล้วและมีความพร้อมที่จะนำไปใช้ได้ทันที ในการรวบรวมข้อมูลพื้นที่จุดเสี่ยง เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาช่วยเหลือประชาชนได้ได้ทุกพื้นที่ไม่ว่าจะกรุงเทพมหานครหรือต่างจังหวัด"

157391868788

ผศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การร่วมสำรวจของพื้นที่ มธ. ได้รับความร่วมมือจาก นักศึกษากลุ่ม TU Changemaker และนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ ราว 50 คน ร่วมปักหมุดรายงานจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศในพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ได้กว่า 288 จุด ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและคนในพื้นที่ ที่ผ่านมา มธ. มีการทำแผนส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศ รวมถึงแบ่งพื้นที่เสี่ยงออกเป็น 4 สี 4 ระดับ คือ สีเขียว ไม่มีความเสี่ยง เหลือง จุดเฝ้าระวัง ส้ม จุดเสี่ยง และแดง จุดอันตราย มีการตรวจตรา ติดตั้งไฟ และจะติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ไม่ให้มีจุดบอด หรือ จุดลับสายตาผู้คน

157391869136

“นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของนักศึกษา มีระบบการดำเนินงานในกรณีก่อนเกิดเหตุ ช่วงเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ โดยเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุก พัฒนาระบบไอทีในการแจ้งขอความช่วยเหลือ มีสายด่วน เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉิน และดูแลทั้งสภาพร่างกาย จิตใจ และคดีความ” ผศ.ดร.ชุมเขต กล่าว

ในส่วนของ เขตลุมพินี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชุมชนโดยรอบในการปักหมุดกว่า 114 จุด โดย น.ส.สมโภช สง่าพล สมาชิกชุมชนซอยพระเจน อธิบายว่า จุดเสี่ยงสำคัญคือบริเวณสะพานเขียว ซึ่งมีจุดอับ ไฟไม่สว่าง และเกิดเหตุทำร้ายร่างกาย ฉกชิงวิ่งราว มีการตั้งวงดื่มสุรา รวมถึงประชาชนที่เดินผ่านถูกคุกคามทางสายตาและคำพูด หากสามารถปรับพื้นที่ให้มีไฟ และไม่มีจุดอับ จะทำให้คนที่สัญจรไปมารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

157391887166

พ.ต.อ. กัมพล รัตนประทีป ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ซึ่งเดินทางมารับมอบข้อมูลปักหมุดกล่าวว่า จากผลสำรวจขององค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย พบว่า ผู้หญิงกว่า 86% เคยถูกคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะ ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจไม่น้อย ปัจจุบัน ตำรวจไม่ใช่ฮีโร่ของสังคมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเกิดความร่วมมือกับหลายฝ่ายเพื่อการผลักดันให้เกิดการป้องกันที่ดีที่สุด คือ 1. ต้องเริ่มจากประชาชน 2. ตำรวจ 3. เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ 4. ภาคีเครือข่าย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ 5. การปรับสภาพแวดล้อม และ 6. การนำพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์

157391864610

ทั้งนี้ ข้อมูลการปักหมุดในพื้นที่ สน.ลุมพินี ทั้ง 114 หมุด จะถูกนำมาวิเคราะห์ วางแผน หาวิธีการป้องกัน และสำรวจพื้นที่จริงว่ามีลักษณะอย่างไร แบ่งให้เป็นสัดส่วน ระดับความเสี่ยงให้ชัดเจนมากขึ้น เบื้องต้นจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกตรวจให้บ่อยขึ้น ขณะที่บางจุดอาจไม่ได้เป็นจุดเสี่ยงตลอดไป อาจต้องมีการสำรวจเพิ่มเติมในอนาคตว่าจุดเสี่ยงต่างๆ ถูกแก้ไข ปรับพื้นที่ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยหรือยัง

ขณะที่ นายยศพล บุญสม ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง บริษัท ฉมา จำกัด ในฐานะภูมิสถาปนิก ให้ความเห็นว่า เรื่องจุดเสี่ยงเมื่อก่อนประชาชนเป็นฝ่ายตั้งรับ รอตำรวจ รอติดไฟ รอให้มีกล้อง แต่การปักหมุดและเทคโนโลยีทำให้พาวเวอร์กลับมาอยู่ที่ประชาชน สิ่งที่จะทำให้เมืองปลอดภัยอย่างยั่งยืน คือ ออกมาตรการเชิงรุกอย่างไรเพื่อให้มีประสิทธิภาพ พื้นที่เสี่ยงส่วนใหญ่เกิดในที่สาธารณะ หมายถึงเป็นพื้นที่นอกรั้ว และคนมองว่าเป็นพื้นที่ของคนอื่น

157391868823

"ดังนั้น การออกแบบต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ดึงทุกภาคส่วนเข้ามา ชุมชนต้องออกความคิด ออกแบบ ปรับพื้นที่ไม่ให้อับสายตา ขณะที่งบประมาณอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่คำตอบ แต่การร่วมกันของชุมชน สร้างความเป็นเจ้าของ ให้ชุมชนจัดกิจกรรม รวมถึงมองในเรื่องของอาชีพ เศรษฐกิจ ชุมชน สุขภาวะ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน คำถามใหญ่คือ ใครจะเป็นเจ้าภาพในการสานต่อให้เกิดเป็นรูปธรรมระยะยาว"