ทฤษฏีภาวะผู้นำ ฉบับซีอีโอ ‘ปิโก’

ทฤษฏีภาวะผู้นำ ฉบับซีอีโอ ‘ปิโก’

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงเสมอต้นเสมอปลายกับการรับบทผู้นำที่ไม่นิยมใช้คำสั่ง “ซ้ายหัน ขวาหัน” แต่ชอบวิธีบริหารในลักษณะของการเป็น “ที่ปรึกษา”

“ไม่ว่าจะยุคไหน ๆ เรื่องภาวะผู้นำก็คงเหมือนกัน ผมเชื่อแบบนี้ว่าคนย่อมมีความต้องการคนที่คุยกันได้ เข้าใจกันได้ และคนมองเห็นอะไรที่เหมือนๆกัน”


“ศีลชัย เกียรติภาพันธ์” ซีอีโอ บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ทำธุรกิจให้บริการบริหารจัดทำการประชุมและการแสดงสินค้านานาชาติ กิจกรรมทางการตลาด การสร้างภาพลักษณ์ทางธุรกิจแบบครบวงจรแก่ลูกค้า บอกถึงเหตุผล


"ถามว่าความเป็นผู้นำหนีไม่พ้นต้องสั่งหรือไม่ แน่นอนว่าก็ต้องมีบ้าง แต่ต้องเกิดขึ้นในภาวะวิกฤติ ซึ่งการไม่ตัดสินใจจะถือเป็นการตัดสินใจที่เลวที่สุด แม้ว่าการสั่งไปซ้ายหรือขวาที่ไม่แน่ว่าสุดท้ายอาจไปตายทั้งคู่ก็ได้แต่จะไม่เลือกไม่ได้ เพราะการไม่เลือก ไม่ตัดสินใจถือเป็นการเลือกโดยไม่มีทางออก"


ทว่าการสั่งของเขาก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก เหตุผลก็คือ เขาจะใช้วิธีป้องกัน โดยอาศัยความสามารถในการเป็นคนที่ “หูไว ตาไว” พยายามดูและคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น และหากเห็นว่าในอีก 6-8 เดือนข้างหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้น ก็จะรีบพูดคุยกับทีมผู้บริหารเพื่อเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวัง


"โลกทุกวันนี้คาดการณ์ได้ยาก ผมเองก็เดาเสียส่วนมาก แต่ผมเดาถูกมากกว่าผิด เคล็ดลับก็คือ ต้องพยายามมองโลกอย่างโลกที่มันเป็นจริง มันไม่มีโลกสวยหรอก โลกถูกขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจเสมอ เป็นการเคลื่อนย้ายทุนการโยกย้ายทรัพยากร เราก็ต้องอัพทูเดทให้ทัน แต่มันก็มีเรื่องตื่นเต้นและท้าทายอยู่ตลอด ตื่นเช้ามาแค่ต้องลุ้นว่ารถจะติดหรือไม่ติดก็ท้าทายแล้ว ทุกวันนี้ผมก็จะคอยสื่อสารส่งข้อความให้ผู้บริหารตระหนักอยู่ตลอดว่า อย่ามองข้ามเรื่องที่คิดว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบกับเรา แม้เรื่องที่เหมือนจะไม่เป็นเรื่อง มันก็อาจกลายเป็นเรื่องขึ้นมาได้"


เมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชั่น ซึ่งศีลชัยบอกว่ามองเห็นเทรนด์นี้มาตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีคำว่าสตาร์ทอัพและดิสรัปทีฟ เหตุผลก็เพราะปิโกถือเป็นองค์กรที่มีการวิจัยเป็นฐาน จึงมีการค้นคว้า ทดลองในเรื่องของการตลาดและเทคโนโลยีมาโดยตลอด ทำให้คุ้นเคยกับเทรนด์ที่เทคโนโลยีจะมาสร้างความพลิกผันเป็นอย่างดี


"การดิสรัปมันจะเกิดในงานบริการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ที่ไม่สามารถสนองความพึงพอใจของผู้บริโภคหรือลูกค้าได้ ผู้ที่โดนดิสรัปก่อนจะเป็นแบบนี้หมดเลย อูเบอร์และแกร๊บ ที่สร้างความยอมรับได้เพราะผู้บริโภครู้สึกว่าที่ผ่านมาเขาไม่ได้รับความสะดวกสบาย ในอดีตเขาถูกยัดเยียดให้ได้รับบริการที่ถูกเอาเปรียบ พอเทคโนโลยีตอบโจทย์เขาได้เขาก็เลือกใช้"

ปิโก โดนผลกระทบหรือไม่ ปรับตัวอย่างไร? เขาตอบว่า คอนเซ็ปต์ของปิโกก็เหมือนบริษัทอื่นๆคืมีคอนเซ็ปต์ “กระจายความเสี่ยง” เอาไข่วางไว้ในตระกร้าหลายใบ ไม่ใส่ไว้ในตระกร้าใบเดียวกันทั้งหมด และอะไรที่ตัดได้ก็ตัด อะไรที่ไปต่อได้ก็ไปต่อ เวลานี้ปิโกทำธุรกิจ 3 กลุ่มหลักๆ ก็คือ 1. จัดงานประชุม อีเวนท์มาร์เก็ตติ้ง สร้างภาพลักษณ์ทางธุรกิจ 2. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและเทคโนโลยี และ 3. ธุรกิจที่นำเอาความชำนาญที่มีทั้งเรื่องการตลาดมาผสมผสานกับเรื่องของการศึกษา


อย่างไรก็ดี ภาพชัดของปิโกคงหนีไม่พ้นการเป็นออแกนไนเซอร์ เวลานี้ีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร? เขาบอกว่า งานแสดงสินค้าจะมีอยู่ 2 รูปแบบ ในแบบแรกคือ “บีทูซี” งานที่จัดขึ้นเพื่อพบกับผู้บริโภคโดยตรง แบบที่สองคือ “บีทูบี” งานที่จัดขึ้นเพื่อทำให้ธุรกิจกับธุรกิจได้มาพบเจอกัน


"ที่เห็นได้ชัดคือบีทูบี ซึ่งช่วงอายุจะสั้นลง เทียบกับในอดีตเมื่อ 30-40 ปีก่อน เช่นงานที่มีการเอาเครื่องจักรมาโชว์เพื่อมาหาดีลเลอร์ เขาจะมาจัดกันตั้งหลายปีกว่าที่จะได้ดีลเลอร์ ปีนี้พอได้ในเขตนี้ปีต่อไปก็มาจัดใหม่เพื่อหาให้เขตอื่น แต่วันนี้การสื่อสารทำให้โลกเล็กลงมาก เรียกว่ายังไม่ทันเอาของมาโชว์เขาก็ได้ดีลเลอร์แล้ว งานลักษณะนี้ยังคงมีแต่จะเป็นการจัดแค่ปีเดียวจบแล้วไม่มาซ้ำ จะเป็นอย่างนี้หมด"


มีทั้งความท้าทายและถือเป็นโอกาส ศีลชัยบอกว่า ข้อได้เปรียบของปิโกอยู่ที่การเป็นบริษัทจดทะเบียน จึงมีความพร้อมในเรื่องไฟแนนซ์ค่อนข้างสูง และพร้อมทำธุรกิจในหลากหลายรูปแบบ จะร่วมลงทุนก็ได้ จะทำธุรกิจอะไรก็ไม่ยาก


"วิชั่นของเรา ก็จะไปในทิศทางที่เป็นสเปเชียลไรซ์มากขึ้น ในแง่ของมาร์เก็ตติ้งก็จะเป็นสเปเชียลไรซ์มากขึ้นในเรื่องอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี และในอินดัสตรี้ที่ค่อนข้างจำเพาะเจาะจงมากขึ้น พวกมาเร็วไปเร็วจะไม่เอา แต่กลุ่มเป้าหมายของเราเป็นเรียลเซ็คเตอร์ ถ้าเราต้องการความยั่งยืนก็ต้องสร้างไอพีของเราเองให้ได้ จะเห็นว่าองค์กรที่ยั่งยืนส่วนใหญ่มักจะมีไอพีที่แข็งแรง "

เป้าหมายจะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นกับคนในองค์กร มีความท้าทายหรือไม่? เขาบอกว่า ปัจจุบันปิโกเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย 38 ปีแล้ว แต่ถ้าเป็นปิโกกรุ๊ปได้มีการฉลองอายุครบ 50 ปีในปีนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาความท้าทายในเรื่องทรัพยากรคนก็มีอยู่ตลอด และเปลี่ยนไปตามบริบทของโลก


"บริษัทระดับโลกอย่างกูเกิล หรือเฟสบุ๊ค เวลานี้เขาจะไม่ได้รับจากคนเพราะดีกรี การศึกษาที่จบมา แต่เขาจะให้เล่าเกี่ยวกับแรงบันดาลใจ และเป้าหมายที่ต้องการจะบรรลุ มีการทำงานเป็นโปรเจ็คเบส และไม่ได้เป็นคอมมิทเมนท์จากไดเร็คชั่นขององค์กร แต่เป็นคอมมิทเมนท์ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานที่มีผลจะทำให้ตัวเขาได้รับการยอมรับ องค์กรต้องสร้างคัลเจอร์ที่เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถแสดงศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ และมันกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่า เราจะสร้างองค์กรให้เป็นแบบนั้นได้อย่างไร"


ปัจจุบันปิโก ประเทศไทยมีพนักงานจำนวน 200 คน ซึ่งยังคงไม่เพียงพอสำหรับการจะบุกลุยไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ เรียกว่าพอคิดโปรเจ็คใหม่ๆได้ก็มักพบความลำบากในการจะหาคนมาทำ


"คนของเราเก่ง คนนี้เก่งด้านนี้ อีกคนเก่งด้านนั้น งานของบริษัทเราเป็นโปรเจ็ค เป็นทีมเหมือนบริษัทคอนเซาท์ แต่ละยูนิตก็จะมีความชำนาญเฉพาะด้านกันไป พอมีเรื่องใหม่ๆที่บริษัทอยากทำจะไม่มีคนทำ ถ้าเอาคนที่มีอยู่ไปทำก็ติดปัญหาว่างานเดิมจะมีใครทำ หัวหน้าทีมก็ไม่ยอมปล่อยคนของเขาออกมาเพราะเขาเองก็สร้างคนไม่ทันก็เป็นปัญหาในมุมกลับ"


แนวทางหนึ่งที่ปิโกทำมาอย่างต่อเนื่องคือการทำตัวกึ่งๆเป็น “ศูนย์บ่มเพาะ” คอนเน็คกับคนรุ่นใหม่ที่เก่งมีฝีมือแต่ไม่อยากตกร่องปล่องชิ้นเป็นพนักงานประจำ อยากเป็นสตาร์ทอัพ หรืออยากเป็นเถ้าแก่น้อย ซึ่งทางปิโกก็พร้อมจะให้การซัพพอร์ตและทำงานร่วมกันเป็นโปรเจ็คๆไป


ยุคแห่งการดิสรับ ปิโกต้องการคนเก่งทางด้านใด? ศีลชัยบอกว่าเวลานี้ก็มีการรีสกิลและอัพสกิลให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง แต่ทักษะสำคัญที่เขามองว่าจำเป็นและฟิตต่อธุรกิจที่กำลังทำอยู่น่าจะเป็น “ความรู้รอบโต๊ะ” ซึ่งต่างไปจากความรู้รอบตัว ก็คือจะต้องมีหูกว้างตากว้าง และเป็นคนช่างสังเกตุ มีจิตวิทยา ท้ายสุดต้องตอบโจทย์บิสิเนสมองได้แบบทะลุปรุโปร่งนั่นเอง