คนดังกับเรื่องเล่าการล่วงละเมิดทางเพศ

คนดังกับเรื่องเล่าการล่วงละเมิดทางเพศ

ซินดี้-สิรินยา บิชอพ กล้าเล่าเรื่องถูกล่วงละเมิดทางเพศ และอีกหลายคนที่เล่าเรื่องที่ไม่อยากพูดถึง เพราะไม่อยากให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้หญิงอีกต่อไป

...........................

การล่วงละเมิดทางเพศเป็นประเด็นทางสังคมที่ถูกกล่าวถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนในสังคมจำนวนมากมีความเชื่อว่า เป็นเพราะผู้หญิงแต่งตัวโป๊ หรือไม่ก็ยั่วยวน  ฯลฯ จะด้วยความเชื่อแบบไหนก็ตาม ผู้ชายไม่มีสิทธิคุกคามทางเพศ หรือล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ 

 

ว่ากันว่าคนไทยกว่า 74 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่า การแต่งตัวของผู้หญิงเป็นสาเหตุของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ (โพลล์ออนไลน์แห่งชาติ ดราก้อนฟลาย 360)  โดยสหประชาชาติประมาณการไว้ว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยผ่านประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือกระทำความรุนแรงทางเพศ

 

นอกจากนี้ยังมีสถิติของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า เด็กหญิงประมาณ 120 ล้านคนทั่วโลก หรือ 1 ใน 10 ต้องประสบกับการถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์หรือการกระทำในลักษณะทางเพศในช่วงชีวิตหนึ่ง

 

ในประเทศไทย ม่ีข้อมูลว่า ทุกๆ 15 นาที จะเกิดคดีข่มขืน 1 คดี และคดีความผิดทางเพศส่วนใหญ่มักจะหลุดจากกระบวนการยุติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) เคยรายงานว่า เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะการขาดความตระหนักรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับความละเอียดอ่อนทางเพศสภาพ จนอาจเป็นการตอกย้ำและเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรู้สึกอับอาย 

 

โดยเฉพาะขั้นตอนการรับแจ้งเหตุ และดำเนินการสืบสวน สอบสวน เนื่องจากเจ้าหน้าที่อาจมีทัศนคติและมุมมองที่ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าแจ้งความ เช่น เจ้าหน้าที่มักมองว่าการข่มขืนจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงบางประเภทที่แต่งตัวล่อแหลมทางเพศ และมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

 

นั่นทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกระดับ ทุกมิติ ในโลกใบนี้

 

-1-

 “จำได้ว่า ปี 2018 ฉันเห็นข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเขียนว่า ช่วงสงกรานต์ อย่าแต่งตัวเซ็กซี่ จะได้ไม่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ นั่นทำให้ความทรงจำวันนั้นกลับมา และทำให้ฉันโกรธมาก เพราะวันนั้นฉันไม่ได้ใส่เสื้อผ้าเซ็กซี่ ฉันใส่กางเกงขายาวและเสื้อยืดสีดำตัวใหญ่ๆ ฉันทำอย่างที่คนมีเหตุผลเขาทำกัน ตอนนั้นฉันก็เลยโพสต์อินสตาแกรม จนกลายเป็นกระแสไวรัล”ซินดี้-สิรินยา บิชอพ นางแบบและนักกิจกรรมชาวไทย กล่าวบนเวทีดรากอนฟราย 360 หัวข้อ Kiss with a Fist

 

ว่ากันว่า ความรุนแรงที่มีต่อสตรีและการคุกคามทางเพศยังเกิดขึ้นทุกวี่ทุกวัน นั่นทำให้นักกิจกรรมเหล่านี้มารวมตัวกัน เพราะพวกเธอจะไม่ทนอีกต่อไปที่รู้สึกไม่ปลอดภัยกับการถูกคุกคามทางเพศ

 

เริ่มจาก ซินดี้ เล่าถึงประสบการณ์อันเลวร้ายในช่วงวัย 17 ปี เธอไปเที่ยวสงกรานต์ที่ถนนข้าวสาร ช่วงเวลาใกล้เที่ยงคนเยอะมาก เธอถูกแยกออกจากกลุ่มเพื่อน

 

"มีผู้ชายคนหนึ่งยืนอยู่ด้านหลังเพื่อสาดน้ำ และอีกหนึ่งมาปะแป้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเป็นช่วงเทศกาล แต่มีผู้ชายอีกคนมายืนใกล้ฉัน จนฉันรู้สึกไม่สบายใจ และมีผู้ชายอีกสามคนมายืนล้อมรอบ แล้วพวกเขาก็เริ่มจับร่างกายฉันทุกที่ ลวนลามตั้งแต่หน้าอก เอว ก้นและหว่างขา รอบๆ ตัวฉันทุกคนไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเขายังเต้นรำและสาดน้ำ สิ่งที่ฉันทำได้คือ ยืนช็อค กลัวสุดขีด”

 

วินาทีที่กลัวสุดขีด ซินดี้พยายามดันตัวเองออกจากฝูงชน เมื่อหลุดออกมาได้ เธอ บอกว่า พยายามวิ่งให้เร็วที่สุด แล้วเรียกแท็กซี่ออกไปจากถนนข้าวสาร

 

“ตั้งแต่วันนั้น ฉันไม่เคยไปเที่ยวสงกรานต์และไม่ให้ลูกๆ ไปด้วย ผู้หญิงที่ถูกละเมิดทางเพศในช่วงสงกรานต์ พวกเธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ผู้กระทำเป็นใคร สิ่งที่ฉันเจอคือการถูกล่วงละเมิดทางเพศกลางถนน หลายปีที่ผ่านมาฉันพยายามไม่คิดเรื่องนี้ จนฉันเห็นข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ และสิ่งนี้เกิดขึ้นกับผู้หญิง 60 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทย เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้แล้ว ฉันไม่อยากให้โทษเหยื่อหรือผู้รับผล ฉันจึงร่วมกับยูเอ็นขับเคลื่อนทางสังคม ต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ”

 

และนั่นก็เป็นที่มานิทรรศการ 15 ชุดของผู้หญิงและเด็กที่ใส่ในวันที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศในงานดรากอน ฟลาย 360

 

“ถ้าใครบอกว่า เสื้อผ้าที่เธอใส่ ทำให้เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศ ใครที่พูดแบบนั้นฉันอยากจะโยนเสื้อผ้าใส่หน้าเขา ฉันยังโชคดีที่วันนั้นหนีรอดมาได้ คนที่กระทำผิดอยากแค่แตะแหย่ฉันเล่นสนุกๆ แต่ไม่ใช่กรณีของแม่ที่ถูกลูกตัวเองทำร้าย หรือเด็กมหาวิทยาลัยที่ไปติวข้อสอบกับเพื่อนถูกรุมโทรม หรือเด็กอายุสองขวบที่ถูกเพื่อนบ้านข่มขืน"

 

 และในฐานะที่เป็นแม่และผู้หญิงในประเทศนี้ เธอรู้สึกปวดใจกับเรื่องนี้มาก 

"ฉันจึงหาทุกวิถีทางที่จะลดความรุนแรงต่อสตรี อยากให้ทุกคนมาร่วมกันบอกว่า อย่าบอกกับฉันว่า ฉันจะต้องแต่งตัวอย่างไร”

 

-2-

ประสบการณ์อันเลวร้ายในวัย 17 ปี แม้จะถูกเก็บงำมานาน แต่เธอเห็นว่า การเล่าเรื่อง น่าจะช่วยรณรงค์ให้คนในสังคมช่วยกันยุติความรุนแรงต่อสตรีได้บ้าง ไม่ต่างจาก เอมม่า โทมัส นักเขียนชาวอังกฤษที่มาเรียนมวยไทยที่เชียงใหม่ เมื่อปีค.ศ. 2010 เป็นเวลาหนึ่งเดือน

 

“หลังจากฝึกมวยไทยเสร็จ คืนนั้นเราไปกินข้าวกัน มีฉันเป็นผู้หญิงคนเดียว นอกนั้นเป็นครูฝึกผู้ชาย วงสนทนาวันนั้นพวกเขาพูดถึงครูคนหนึ่งที่พวกเขาเคารพรักและบอกว่าเป็นคนดีมาก เพื่อนๆ ที่นั่นบอกให้ครูคนนั้นไปส่งฉันที่บ้าน ฉันจะได้ปลอดภัย ฉันก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่เขาไม่ได้ส่งฉันที่บ้าน เขาพาฉันไปที่โรงยิม ในห้องว่างๆ มีเสื่อผืนหนึ่ง 

 

กว่าฉันจะรู้ตัว ก็ลงไปกองบนพื้น ในห้องมืดๆ ฉันพยายามดิ้น แต่สู้แรงไม่ได้ ฉันไม่มีเสียงด้วยซ้ำ ตัวฉันแข็ง และถ้าอยากจะออกไปอย่างปลอดภัยก็ต้องทนให้มันผ่านไป แต่อยู่ๆ ก็เหมือนมีใครไปปิดสวิทซ์ในหัวของเขา เขาขอโทษ แล้วบอกว่า “ต่อยฉันสิๆ” เขาอยากให้ฉันสงสารเห็นใจเขา แต่เขาก็ไม่ปล่อยฉัน กว่าฉันจะได้ออกมาก็เช้าอีกวัน และสิ่งแรกที่ฉันทำวันนั้น คือ ไปหาเพื่อนๆ บอกว่าเกิดอะไรขึ้นและเปิดรอยช้ำตามตัวให้ดู”

 

หลังจากนั้นครูคนนั้นก็ถูกไล่ออก เพื่อนทุกคนบอกเธอว่า เรื่องจบแล้ว แต่เธอก็ยังรู้สึกเจ็บปวดจากเรื่องนี้ และเพื่อนคนไทยก็มักจะแหย่ว่า “ช่างมันเถอะ ยังไงก็รอดมาได้”

เธอจึงเก็บตัวอยู่ในห้อง เพื่อนๆ ก็เริ่มล้อเลียนอีก

 

“มีผู้ชายคนหนึ่งบอกว่า มานอนด้วยกันไหม ตอนตี 4 เขาพังประตูเข้ามาในห้องฉัน แต่โชคดีเขาหนีไปก่อน ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับฉัน ไม่ปลอดภัยแล้ว ฉันไม่อยากให้ผู้หญิงหลายคนเจอแบบฉัน ฉันก็เลยเล่าเรื่องนี้ในเว็บไซต์ของฉัน พอเผยเรื่องราวออกมา ฉันพบว่า มีผู้หญิงหลายคนในวงการมวยไทยตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ 

 

ผู้ชายมักจะมองว่า ก็ผู้หญิงไปเล่นมวยไทยเอง สนามมวยไม่ใช่พื้นที่สำหรับผู้หญิง ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ล่วงละเมิด เกิดการทำร้ายกัน มันไม่ใช่เรื่องที่ผู้หญิงจะต้องจ่ายกับการทำสิ่งที่ตัวเองรัก ฉันคิดว่า เราต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกๆ เพศ และเราควรได้รับความเคารพเท่ากัน ฉันคิดว่าฉันจะต้องทำให้สำเร็จในโลกมวยไทย"

 

 -3-

ใช่ว่า...ผู้หญิงส่วนใหญ่จะกล้าเล่าเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศในพื้นที่สาธารณะ เหมือนเช่น ซินดี้ และ เอมมา ทำ เพราะพวกเธอต้องการรณรงค์ให้ยุติเรื่องเหล่านี้ เพื่อผู้หญิงทั้งโลก

 

ไม่ต่างจาก ซีย กู่แก้วเกษม (Sia Kukaewkasem) นักสังคมสังเคราะห์ที่ทำงานยุติความรุนแรงในครอบครัว เธอเป็นนักกิจกรรมชุมชนอาข่าในเมืองไทย พ่อแม่ของเธออพยพมาจากเมียนม่า

 

 “ตอนเป็นเด็ก ฉันเห็นพ่อและผู้ชายคนอื่นในหมู่บ้านทารุณภรรยาและลูก ทั้งในบ้านและพื้นที่สาธารณะ แต่ไม่มีใครช่วยเลย มีหลายครั้งฉันเห็นพ่อชกตีทำร้ายแม่ และเช้าวันหนึ่งแม่ฉันพยายามหนีจากพ่อไปยังหมู่บ้านหนึ่ง แต่พ่อตามมา ตอนนั้นฉันอายุ 7 ปีเห็นแม่ถูกลากถูกชกและตบตี ตอนนั้นฉันอยากปกป้องแม่ สิ่งเดียวที่ฉันทำได้คือ ร้องไห้ ฉันกลัวและโกรธที่ช่วยแม่ไม่ได้”

 

หลายครั้งแม่ของเธอรวบรวมความกล้าไปขอความช่วยเหลือจากครอบครัวอีกหมู่บ้านหนึ่ง แต่พวกเขาก็ขอร้องให้แม่ของเธอกลับมาอยู่กับสามี เพราะลูกๆ ต้องมีพ่อ และบอกว่า วันหนึ่งพ่อของเธอจะหยุดทำร้ายทุบตีแม่

 

“แม่ไม่รู้จะหาความช่วยเหลือจากใคร แม่ก็กลับมาอยู่กับพ่อ ทรมานอยู่กับความสัมพันธ์นี้ 22 ปี จนฉันเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 เมื่อเก็บเงินได้ ฉันจ้างทนายความจัดการเรื่องหย่าร้างให้แม่ ฉันคิดว่า การเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยความกล้าหาญของชุมชนด้วย เพื่อหยุดผู้ชายที่หาข้ออ้าง เพราะความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิง เพื่อนบ้านก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เราต้องกล้าหาญพอที่จะพูด "

 

 ในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ และคนที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เธอบอกว่า เราต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้หญิง ขั้นแรก เมื่อผู้หญิงประสบปัญหานี้ ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยในการเล่าเรื่อง  

 

“คนที่่ให้คำปรึกษา นอกจากปลอบใจแล้ว ไม่ต้องไปบอกว่า เธอต้องทำอย่างไรต่อไป บางทีผู้ถูกกระทำอาจกลับไปหาคนที่ทำร้ายเธอ ก็ไม่เป็นไร เราต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพราะผู้หญิงที่ถูกทำร้ายรู้สถานการณ์อยู่แล้ว เราก็แค่ให้ข้อมูล ถ้าต้องการความช่วยเหลือทางกฎหมาย ก็ให้คำแนะนำไป”

 

  ส่วนคนทำงานส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศสภาพ Melissa Alvarado จากองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ  เล่าถึงการศึกษาวิจัยว่า  เท่าที่ทำงานมา ก็เข้าใจจุดยืนของชุมชนและรัฐบาล แต่เรื่องความรุนแรงเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และไม่มีข้ออ้าง

 

“เราได้ยินคนในสังคมหาเหตุผลที่จะโทษผู้หญิง มีข้ออ้างกับเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรแก้ไขเรื่องทัศนคติ จากการศึกษาวิจัย เราเข้าใจว่าความรุนแรงในสตรีป้องกันได้ ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทน เราได้มีการเรียนรู้การป้องกันความรุนแรง เราคุยกัน เพื่อที่จะเข้าใจเบื้องหลังความรุนแรงต่อสตรี แต่มีความเชื่อว่าผู้หญิงไม่ควรได้รับความเท่าเทียมกัน เพราะรายได้ และสิทธิน้อยกว่าผู้ชาย เราทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ คนที่รอดมาได้ ก็ต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ และออกจากความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ เราเคยพูดกับซีอีโอจำนวนมาก บอกว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องเริ่มจากพวกเขา "

 

กรณีนี้  ซินดี้ เสริมว่า 30 เปอร์เซ็นต์ผู้หญิงที่มีบทบาทเป็นผู้บริหาร มีอำนาจในการตัดสินใจ พวกเขาต้องกำหนดแนวทางชัดเจนกับกรณีผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ

 

“ผู้หญิงจะต้องปลอดภัย เมื่อพวกเขาแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนที่มีอำนาจ ซึ่งเป็นผู้บริหาร"