‘หุ่นยนต์’ สร้างแต้มต่อ 'อุตสาหกรรมการผลิตอาเซียน'

‘หุ่นยนต์’ สร้างแต้มต่อ 'อุตสาหกรรมการผลิตอาเซียน'

‘หุ่นยนต์’สร้างแต้มต่ออุตสาหกรรมการผลิตอาเซียน โดยปัจจุบัน หุ่นยนต์อุตสาหรรมได้ถูกพัฒนาขึ้นและส่งไปขายยังตลาดในเอเชียมากที่สุด เป็นจำนวน 261,800 ยูนิตหรือประมาณ25% ของยอดขายทั้งหมดของโลก

หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมทั่วโลก มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยภาคการผลิตต่างปรับตัวรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามาใช้ในภาคการผลิตมากขึ้น ส่งผลให้ยอดการสั่งซื้อและจำหน่ายหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขยายตัว30% หรือเฉลี่ยขยายตัวปีละ 38% ตามที่ระบุในรายงาน World Robotics 2018 จัดทำโดยสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (ไอเอฟอาร์)

ปัจจุบัน หุ่นยนต์อุตสาหรรมได้ถูกพัฒนาขึ้นและส่งไปขายยังตลาดในเอเชียมากที่สุด เป็นจำนวน 261,800 ยูนิตหรือประมาณ25% ของยอดขายทั้งหมดของโลก สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มตลาดเอเชียที่ต้องการเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่กำลังถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ และไอที

ขณะที่ในสหรัฐ พบว่า จำนวนการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมและยอดขายหุ่นยนต์สูงขึ้นเป็นประวัติการ อยู่ที่ 38,000 ยูนิต หรือมากกว่าจีนถึง 2 เท่า

157388219082

รายงานไอเอฟอาร์ ยังระบุว่า ประเทศที่มีการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก คือ เกาหลีใต้ รองลงมาเป็นสิงคโปร์ เยอรมนี ญี่ปุ่น สวีเดน เดนมาร์ก และสหรัฐ ส่วนประเทศจีนอยู่ในอันดับที่ 21

ส่วนหุ่นยนต์ที่นำมาใช้ภาคอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ประเทศไทยมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแล้วประมาณ15% แม้ว่ามีสัดส่วนไม่สูงนัก แต่จัดอยู่ในอันดับน่าประทับใจมากประเทศหนึ่งในอาเซียน

“วรินทร์ รอดโพธิ์ทอง” ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวว่า หุ่นยนต์และเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ เป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่ความสำเร็จในการก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เพื่อดำเนินงานภายใต้แนวคิดนี้ให้อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (S-curve industries) 10 ประเภทที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

เทคโนโลยีหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามามีบทบาทสำคัญพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ เพื่อยกระดับไปสู่ "สมาร์ทแฟคทอรี่" โดยคาดว่า หุ่นยนต์อัตโนมัติจะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตจากเดิม ให้สูงขึ้นมากถึง 50% ใน 5 ปีข้างหน้า

"ท่ามกลางกระแสความต้องการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง 3Dปริ้นติ้ง และสมาร์ทแฟคทอรี่ ส่งผลให้เกิดอุปสงค์อุปทานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม สะท้อนความต้องการหุ่นยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิตและจัดการการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ขณะที่ประเทศไทย มีศักยภาพด้านการคิดค้นพัฒนานวัตกรรม จึงหวังว่า ไทยจะก้าวเป็นผู้ส่งออกหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติได้ในปี 2569"วรินทร์ กล่าวย้ำ

157388223423

ด้าน “ซาการิ กูอิกกะ” ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียของบริษัทยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมยุค 4.0 เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพขั้นตอนการทำงานและกำลังการผลิต ซึ่งในระยะ 2-3ปีที่ผ่านมา ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ได้สนับสนุนเงินกระตุ้นการลงทุนแก่โครงการเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานไปแล้วกว่า 36 โครงการ รวมมูลค่า 5.22 พันล้านบาท และเฉพาะในปีที่ผ่านมา มีการอนุมัติโครงการลงทุนด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติกว่า 11 โครงการ มูลค่ากว่า 1.46 พันล้านบาท

"เทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการแปรรูปภาคการผลิตไทย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้มูลค่า 50 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2571" ซาการิ กล่าว

เทคโนโลยีหุ่นยนต์ คือกุญแจสำคัญที่ทำให้วิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 เป็นจริงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตที่แข็งแกร่ง ซึ่งโดดเด่นในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่เฟื่องฟู และทั้ง 2 ภาคอุตสาหกรรมนี้ยังเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของโลก

ซาการิ มองว่า ประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีโรงงานประกอบรถยนต์ 23 แห่ง และโรงงานประกอบมอเตอร์ไซค์ 8 แห่ง ไทยยังเป็นผู้ส่งออกฮาร์ดดิสก์บันทึกข้อมูลชั้นนำ โดยคิดเป็น 82% ของผู้ส่งออกทั่วโลก

“การยอมรับหุ่นยนต์ในอุตสหากรรม นอกจากจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยให้ประเทศไทยก้าวเป็นผู้นำด้านการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะรักษาตำแหน่งประเทศฐานการผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์อัน1ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอันดับที่ 12 ของโลก” ซาการิ กล่าวย้ำ

157388226136

นอกจากนี้ หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการผลิต ยังถูกลำเลียงไปใช้ไปในอุตสหากรรมที่หลากหลายในอาเซียน เช่น อุตสาหกรรมผลิตแปรรูปอาหาร ซึ่งไทยมีศักยภาพในอุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตอาหาร โดยในปี 2561 พบว่า มีอัตราการเติบโตสูงถึง 8.7% คิดเป็นมูลค่า 36 พันล้านดอลลาร์ ดังนั้น เพื่อรองรับการขยายตัวในอุตสาหกรรมดังกล่าว ผู้ผลิตจะต้องพิจารณาถึงการพึ่งพาหุ่นยุนต์และเทคโนโลยีอัตโนมัติ โดยเฉพาะการนำ Agribotics หุ่นยนต์ในภาคการเกษตร และ Cobots หุ่นยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโต้ช่วยเหลือมนุษย์ในที่ทำงาน มาใช้กับอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น

ขณะที่ เอเชี่ยนโรบอตรีวิว รายงานว่า หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตื่นตัวใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีอัตโนมัติมากขึ้น อย่างในประเทศอินโดนีเซีย ได้นำเอาหุ่น Cobots เข้ามาช่วยเพิ่มกำลังการผลิต พัฒนาคุณภาพชิ้นงาน รวมถึงส่งเสริมสวัสดิภาพคนงาน แถมยังช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์อัตโนมัติจะเป็นปัจจัยในโลกอนาคตให้ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ทบทวน และพิจารณานำมาใช้ในภาคการผลิตอย่างแพร่หลาย เพื่อสนับสนุนให้ตลาดอาเซียน ซึ่งมีผู้บริโภคประมาณ 650 ล้านคน สามารถก้าวเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และเพิ่มจำนวนการผลิตในภูมิภาคให้สูงขึ้นอีก 3 เท่า คิดเป็นมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2568