ธปท.ลั่นยังไม่ปรับเกณฑ์‘แอลทีวี’ ยันช่วยปรับสมดุลราคาบ้าน ป้อง ‘อุปสงค์-อุปทาน’ เทียม

ธปท.ลั่นยังไม่ปรับเกณฑ์‘แอลทีวี’  ยันช่วยปรับสมดุลราคาบ้าน ป้อง ‘อุปสงค์-อุปทาน’ เทียม

“แบงก์ชาติ” ระบุติดตามดูสถานการณ์อสังหาฯ ใกล้ชิด ลั่นยังไม่ปรับเกณฑ์ “แอลทีวี” เหตุมั่นใจช่วยปรับสมดุลราคาบ้านให้เป็นธรรม ช่วยลด “อุปสงค์-อุปทาน” เทียม ด้านศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี ชี้ราคาคอนโดร่วงต่อเนื่อง

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย(สินเชื่อบ้าน)ในไตรมาส 3 ยังมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่องในบ้านสัญญาแรก จึงเชื่อว่ามาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(LTV) ตอบโจทย์ไม่กระทบต่อผู้ที่ต้องการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริง และยังทำให้ราคาบ้านอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ส่วนการขอกู้ซื้อบ้านในสัญญาที่สองและสาม ชะลอลงบ้างเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนแนวโน้มสินเชื่อบ้านในไตรมาส 4 เชื่อว่าจะยังทรงตัว ซึ่งธปท. กำลังติดตามดูสถานการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างใกล้ชิด แต่จะยังไม่มีการปรับเกณฑ์ใดๆ เกี่ยวกับ LTV ในขณะนี้ 

อ่านข่าว-คลังผนึกภาคอสังหาฯ เร่งระบาย'สต็อกบ้าน' 3.5 หมื่น

นายรณดล กล่าวด้วยว่า กรณีที่ผู้ขอกู้ถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์นั้น เชื่อว่า คงต้องดูที่สาเหตุว่ามาจากด้านใด ซึ่งน่าจะมาจากหลายองค์ประกอบ แต่ตามเกณฑ์กำกับ LTV ของธปท.ที่ออกไป ไม่ได้บอกว่าให้แบงก์ปฏิเสธสินเชื่อ ดังนั้นการพิจารณาสินเชื่อ แบงก์น่าจะดูด้านความสามารถ ความเสี่ยงต่างๆ ของลูกหนี้มาประกอบการพิจารณาด้วย

“ตอนนี้เราคงยังไม่ปรับเกณฑ์อะไร ต้องติดตามสถานการณ์ไปก่อน มีหลายด้านที่เรากำลังติดตามอยู่ โดยเฉพาะเรื่องภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ที่คาดว่าจะเห็นตัวเลขในช่วงปลายปี เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา รวมถึงติดตามสภาพหนี้ครัวเรือนต่างๆ ส่วนเรื่อง LTV ตอบโจทย์ผู้ที่มีบ้านหลักแรก ที่เข้าถึงได้ในราคาที่ควรเป็น ไม่ทำให้เกิดอุปสงค์ อุปทานเทียม หรือทำให้เกิดการเก็งกำไร หากตัวเลขเหล่านี้ยังตอบโจทย์อยู่ ก็ไม่เปลี่ยนเกณฑ์กำกับ แต่หากตัวเลขออกมาไม่ตอบโจทย์ คงต้องมาทบทวนเกณฑ์ต่างๆอีกครั้ง”  นายรณดล กล่าว 

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics กล่าวว่า จากข้อมูลการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงการเข้าถึงสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ พบว่า มูลค่าการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในไตรมาส 3 มีแนวโน้มติดลบราว 15% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งถือเป็นการติดลบต่อเนื่องจากไตรมาส 2 หลังจากเกณฑ์แอลทีวีมีผลบังคับใช้ ส่วนการขอจดทะเบียนห้องชุดในไตรมาส 3 มีแนวโน้มลดลง 62% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  ถือว่าลดลงหนักสุดในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมา

ในด้านบัญชีสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ไม่รวมรีไฟแนนซ์ พบว่า หากเป็นสัญญาที่ 2 ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ต่อเนื่อง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม  ประเมินว่าในไตรมาส2และไตรมาส3 หดตัว 45% ในแง่บัญชีสินเชื่อ หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่เติบโตราว 15%  ส่วนจำนวนบัญชีสินเชื่อสำหรับบ้านแนวราบ พบว่าสัญญาแรกเติบโต 6.3% ขณะที่คอนโดหดตัว 11.7% ส่วนสัญญา 2 แนวราบคาดว่าติดลบ 22% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“ด้านราคาพบว่า ราคาคอนโดติดลบต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 2  ราว 1% หากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ที่ราคาคอนโดเหล่านี้เติบโตต่อเนื่องปีละ 6-8% โดยเฉพาะราคาคอนโดในเขตปริมณฑล เพราะคาดว่า ราคาคอนโดจะขึ้นต่อเนื่อง แต่ตอนนี้ทิศทางชะลอลง ซึ่งการปรับลดลงส่วนหนึ่งก็มาจากภาวะเศรษฐกิจและเกณฑ์ของธปท.ที่ออกมาด้วย” นายนริศ กล่าว