‘เคทีซีมิโก้’ จัดทัพครั้งใหญ่ ผนึก'แบงก์กรุงไทย’ขยายธุรกิจ

‘เคทีซีมิโก้’ จัดทัพครั้งใหญ่  ผนึก'แบงก์กรุงไทย’ขยายธุรกิจ

ธุรกิจหลักทรัพย์เผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง ทั้งเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้นักลงทุนหันไปส่งคำสั่งซื้อขายผ่านออนไลน์ ภาวะตลาดหุ้นมีความผันผวน

จากปัจจัยต่างประเทศ และมีการใช้โปรแกรมเทรดเข้ามาซื้อขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนรายย่อยทำกำไรได้ยากขึ้น หรือ บางรายขาดทุน ต้องหยุดซื้อขาย 

 สัดส่วนนักลงทุนรายย่อยจึงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง กระทบกับรายได้ของโบรกเกอร์ที่มีฐานลูกค้าเป็นรายย่อย ทำให้มีรายได้และกำไรปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และมีหลายบริษัทที่มีผลขาดทุนสุทธิ ในช่วงครึ่งปีแรก2562

 ดังนั้น โบรกเกอร์ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อทำให้บริษัทอยู่รอดได้ เช่นเดียวกับ "บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีซีมิโก้"  อยู่ระหว่างการปรับทัพครั้งใหญ่ หลังจากได้ผู้บริหารมือดีอย่าง "มล.ทองมกุฎ ทองใหญ่"  เข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กับภาระกิจสำคัญต้องทำให้บริษัทพลิกกลับมามีกำไร และเป็นโบรกเกอร์ที่ลูกค้านึกถึงเป็นรายแรกๆ ( Top of Mind)

 มล.ทองมกุฎ กล่าวว่า บล.เคทีซีมิโก้ มีโอกาสเติบโตได้ดีในอนาคต จากที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)หรือKTB ซึ่งถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 50% ที่จะสามารถช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจระหว่างกันได้หลายด้าน เช่นการขยายฐานลูกค้าและ การทำธุรกิจด้านวาณิชธนกิจ เป็นต้น

จากที่ผ่านมานั้นยังไม่ได้มีความร่วมมือทางด้านธุรกิจกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้ยังมีนักลงทุนบางส่วนไม่รู้ว่า บล.เคทีซีมิโก้ เป็นบริษัทย่อยของธนาคารกรุงไทย ทำให้บริษัทเตรียมที่จะปรับชื่อให้มีความเชื่อมโยงกัน โดยบริษัทได้รับอนุมัติจากธนาคารกรุงไทยแล้ว เรื่องการทำโคแบรนดิ้ง แต่ต้องรอให้ทางผู้ถือหุ้นของบล.ซีมิโก้อนุมัติต่อไป หลังจากนั้นก็จะมีการโปรโมทเพื่อให้เป็นที่รู้จัก ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มฐานลูกค้าได้มากขึ้น 

นอกจากนั้น บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการ ที่จะให้นักลงทุนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัท ผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคารกรุงไทย คือ Krungthai NEXT เพื่อพิ่มความสะดวกสบายแก่นักลงทุน และลูกค้าของธนาคารกรุงไทย ให้สามารถเปิดบัญชีได้ง่ายขึ้น โดยรอทางธนาคารกรุงไทยอนุมัติ

ทั้งนี้บริษัทได้เตรียมความพร้อมในการรุกขยายฐานลูกค้า โดยการเพิ่มสินค้าให้บริการ ซึ่งบริษัทเริ่มให้บริการเวลธ์เมเนจเม้นท์ในต้นปีนี้ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีโดยมีลูกค้ารายใหญ่ใช้บริการแล้ว 800 ราย โดยความเแตกต่างการให้บริการเวลธ์เมเนจเม้นท์ของบริษัท คือ สินค้าที่มีความเสี่ยง (High risk products) ที่ให้ผลตอบแทนที่สูง เช่น การลงทุนในตั๋วเงินระยะสั้น (บี/อี) แต่บริษัทเลือกแนะนำลูกค้าลงทุนในบี/อี ที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกันเท่านั้น 

สำหรับสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันนั้น ต้องสูงกว่ามูลหนี้ 50 % เพราะหากผู้ออกมีการผิดนัดชำระ ลูกค้าได้ดอกเบี้ยในอัตราที่ผิดนัดประมาณ 15% และยังมีสินทรัพย์ที่สามารถนำมาชำระคืนได้ แต่ส่วนใหญ่ ผู้ออกจะไม่ยอมผิดนัด เพราะสินทรัพย์ที่ค้ำประกันนั้นมีมูลค่าสูงกว่ามูลหนี้ ซึ่งลูกค้าของบริษัทให้ความสนใจลงทุนใน บี/อี จากผลตอบแทนที่สูง ขณะที่มีบริษัททั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ยังมีการออกต่อเนื่อง รวมถึงตราสารทางการเงินอื่น เช่น Equity Linked Note หรือ ELN, Principal Protected Note หรือ PPN ฯลฯ

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมขยายการให้บริการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันเปิดเทรดเพียง 4-5 ตลาดใน CLMV โดยจับมือพันธมิตรต่างประเทศ ที่มีระบบที่ส่งตรงคำสั่งซื้อขาย ไปยังประเทศต่างๆ โดยจะเปิดให้ลูกค้าเทรดหุ้น อเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง ลอนดอน ฯลฯ รวมถึงการเพิ่มฐานลูกค้าสถาบันในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 5-6 % จากปัจจุบันอยู่ที่ 3-4 % โดยบริษัทตั้งเป้าจะพลิกมีกำไรสุทธิได้ในปี 2563  ซึ่งในปี 2562ในด้านกำไรจากการดำเนินงานบริษัทมีกำไรแล้ว แต่ปีนี้อาจจะมีรายการพิเศษบางอย่างจากการปรับโครงสร้างภายใน เพิ่มต่อเนื่องจากปี 2561

ในด้านต้นทุนการดำเนินงาน ธุรกิจหลักทรัพย์มีต้นทุนการดำเนินงานสูงมาก ทำให้ต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยได้เริ่มทำตั้งแต่ปี 2561ที่ผ่านมา เช่น การปิดสาขาที่ไม่มีกำไรลง และย้ายพนักงานกลับมาอยู่ที่สำนักงานใหญ่ หรือ สาขาอื่นใกล้เคียง เพื่อลดต้นทุนค่าเช่าลง ทำให้ปัจจุบันมีสาขาอยู่จำนวน 13 สาขา จากปีก่อนอยู่ที่ 17 สาขา และยกเลิกระบบงานที่ไม่จำเป็น ทำให้ในปีก่อน บริษัทลดต้นทุนได้จำนวน120-150 ล้านบาท และ ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้ปรับตัวลดลงอีกเดือนละ10 ล้านบาท ซึ่งบริษัทยังคงมีการลดต้นทุนการดำเนินงานด้านอื่นๆ และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น แต่ยืนยันไม่ได้ลดจำนวนพนักงาน

ปัจจุบันโบรกเกอร์ในสายตานักลงทุนนั้น "ไม่แตกต่างกัน" เพราะ นักลงทุนส่วนใหญ่ใช้ระบบของเซ็ทเทรดในการส่งคำสั่งซื้อขาย แม้โบรกเกอร์หลายรายมีแอพพลิเคชั่นในการส่งคำสั่งซื้อขายที่ดี แต่ลูกค้าไม่ใช้ เพราะมีความเคยชินกับระบบเซ็ทเทรดไปแล้ว ทำให้มีการย้ายไปเทรดโบรกเกอร์อื่นๆได้ง่าย ด้วยปัจจัยเรื่องค่าคอมมิชชั่นที่ถูกกว่า

ดังนั้น สิ่งที่จะดึงให้ลูกค้าอยู่กับบริษัท เป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างมาร์เก็ตติ้งกับลูกค้า ต้องให้บริการและให้คำแนะนำที่ดีกับลูกค้า  รวมถึงต้องมีแบรนด์ที่ดี ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการ  เพื่อหวังให้บริษัทเป็นโบรกเกอร์ที่ลูกค้านึกถึงเป็นรายแรกๆ ( Top of Mind) ในอนาคตและมีผลดำเนินงานที่มีกำไร