บจ.อ่วมพิษ 'ค่าบาทแข็ง' ผลดำเนินงานไตรมาส 3 ดิ่งหนัก-หลายบริษัทพลิกขาดทุน

บจ.อ่วมพิษ 'ค่าบาทแข็ง' ผลดำเนินงานไตรมาส 3 ดิ่งหนัก-หลายบริษัทพลิกขาดทุน

บริษัทจดทะเบียนอ่วมพิษบาทแข็ง กดดันกำไรไตรมาส 3 ดิ่งหนัก โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนฯ-อาหาร-พลังงาน-ปิโตรฯ นักวิเคราะห์ชี้ค่าเงินที่แข็งทุก 1 บาท ฉุดกำไรกลุ่มส่งออกวูบ 1,500 ล้านบาท ขณะ569 บจ. รายงานงบไตรมาส 3 ร่วงกว่า 18%

ผลดำเนินงานของ “บริษัทจดทะเบียน”(บจ.) งวดไตรมาส 3 ปี 2562 ที่ทยอยประกาศออกมา พบว่า ส่วนใหญ่มีทิศทาง “ชะลอตัว” และมีหลายบริษัทที่ผลดำเนินงานพลิกเป็น “ขาดทุนสุทธิ” โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเกิดจากการ “แข็งค่า” ของ “ค่าเงินบาท” เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร พลังงาน และ ปิโตรเคมี 

หุ้นในกลุ่มพลังงาน เช่น บมจ.บ้านปู(BANPU) รายงานผลดำเนินงานพลิกเป็น “ขาดทุนสุทธิ” 105.96 ล้านบาท หรือผลดำเนินงานลดลง 104% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,498 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนกลุ่มปิโตรฯ เช่น บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส(IVL) ประกาศกำไรสุทธิเพียง 792.86 ล้านบาท ลดลง 92% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกำไรที่ลดลงนอกจากเป็นไปตามภาวะธุรกิจและผลกระทบทางอ้อมจากสงครามการค้าแล้ว อีกส่วนยังได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

กลุ่มชิ้นส่วนฯ เช่น บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์(DELTA) มีกำไรสุทธิเพียง 618.38 ล้านบาท ลดลง 63.2% ซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า แม้ว่าบางส่วนจะโดนผลกระทบจากการชะลอตัวทางธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศอินเดีย 

เช่นเดียวกับ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป(TU) มีกำไรสุทธิ 1,373.64 ล้านบาท แม้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,310.43 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุจากปีก่อนมีค่าใช้จ่ายพิเศษ แต่หากเทียบกำไรจากการดำเนินงานปรับลดลงกว่า 20% จากยอดขายที่ลดลงและผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก

157400498428

นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)(DELTA) ยอมรับว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งกดดันผลกำไรปีนี้เป็นอย่างมาก ปัจจุบันบริษัทได้ปรับกลยุทธ์โดยการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยการซื้อและขายเป็นสกุลเงินดอลลาร์ทั้งหมด และเบื้องต้นได้ทำการประกันความเสี่ยง (Hedging) อัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้า แต่ยอมรับว่าแม้จะดำเนินการดังกล่าวแต่บริษัทก็ยังรับผลกระทบเมื่อบันทึกกลับมาในช่วงปิดบัญชีงบดุลเป็นเงินบาทอยู่ดี ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าช่วงปิดงบค่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมากกว่านี้

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเชีย พลัส กล่าวว่า ณ วันที่ 14 พ.ย.2562 บจ. มีการรายงานงบออกมาแล้วจำนวน 569 บริษัท หรือคิดเป็น 90% ของมาร์เก็ตแคปทั้งตลาดฯ พบว่ามีกำไรสุทธิรวมกัน 2.11 แสนล้านบาท ซึ่งลดลง 18.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 2.57 แสนล้านบาท 

โดยจากการวัดจำนวนบริษัทที่ประกาศงบออกมาแล้วเทียบกับจำนวนเดียวกันของปีก่อน พบว่ากลุ่มหุ้นที่กำไรสุทธิปรับตัวลดลงมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.กลุ่มปิโตรเคมี ซึ่งมีกำไรรวมเพียง 4,984 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 79.3% จากปีก่อนที่ทำได้ 24,138 ล้านบาท รองลงมาคือ 2. กลุ่มชิ้นส่วนฯ มีกำไรรวม 1,709 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 53.8% จากปีก่อนที่ทำได้ 3,699 ล้านบาท และสุดท้าย3. กลุ่มพลังงาน มีกำไรรวม 45,060 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 39.6% จากปีก่อนที่ทำได้ 74,557 ล้านบาท

ช่วงที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของกลุ่มส่งออกโดนผลกระทบทั้งจากสงครามการค้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาตรการมาสกัดค่าเงินมากไม่ให้แข็งค่ามากขึ้น แต่ก็ยังไม่ผ่อนคลายลง ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเรื่อยๆจะกดดันประมาณการของกำไรในกลุ่มส่งออกให้เกิดผลขาดทุนจากอัตราแลกปลี่ยนมากขึ้น และส่งผลให้กำไรออกมาต่ำกว่าคาด 

ทั้งนี้ แนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาทจากสมมุติฐาน จะกดดันกำไรกลุ่มส่งออก อาทิ กลุ่มชิ้นส่วนฯและอาหารประมาณ 1,500 ล้านบาท นอกจากนี้ฝ่ายวิจัยยังแนะนำขายหุ้นในสองกลุ่มดังกล่าวเกือบหมดทั้งกลุ่ม

“ผลกระทบของค่าเงินบาทแข็งมีผลต่อกำไรของบจ.ปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มส่งออก เช่น กลุ่มชิ้นส่วนฯ,อาหาร,ปิโตรเคมี และพลังงาน และส่งผลให้กำไร บจ. ปีนี้ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ หลังค่าเงินบาทแข็งค่าตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันกว่า 6-7% จึงกดดันให้ผู้ส่งออกลำบากและกดดันภาวะเศรษฐกิจ เพราะประเทศไทยถือเป็นประเทศที่เน้นพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก”