ปตท.สผ รุก 'ยูเออี-โอมาน' เพิ่มกำลังผลิตก๊าซฯ

ปตท.สผ รุก 'ยูเออี-โอมาน' เพิ่มกำลังผลิตก๊าซฯ

การผนึกกำลังระหว่างบริษัท ปตท.สผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของไทย และพันธมิตรเครือมูบาดาลา ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้น 100% โดยรัฐบาลประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี)

การผนึกกำลังระหว่างบริษัท ปตท.สผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของไทย และพันธมิตรเครือมูบาดาลา ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้น 100% โดยรัฐบาลประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี) จนชนะการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/61(แหล่งเอราวัณ) ในช่วงต้นปี2562

นับเป็นก้าวสำคัญที่สานความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่าง 2 ประเทศ และสร้างความมั่นใจที่จะเดินหน้าขยายการลงทุนให้กับ ปตท.สผ.มากขึ้นและเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสในภูมิภาคตะวันออกกลาง ของ ปตท.สผ. อีกครั้ง หลังจากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้หยุดการลงทุนในโอมานลงไป จากผลกระทบราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำลง จากอดีตเคยขึ้นไปทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มองว่า ถ้าปตท.สผ.จะเติบโตต่อไปคงจะโฟกัสการลงทุนแค่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ไทย มาเลเซีย และเมียนมา)ไม่ได้ ก็ต้องมองหาโอกาสที่ไกลออกไป จึงกลับมามองตะวันออกกลางอีกครั้ง จากจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดีกับยูเออี ซึ่งเป็นประเทศที่กลุ่ม ปตท.จัดซื้อน้ำมันดิบราว 2 แสนบาร์เรลต่อวัน มาระยะยาว

ประกอบกับโอมาน ซึ่ง ปตท.สผ.เคยเข้าไปลงทุนอยู่ราว 14 ปี แต่ก็ยังหาโอกาสขยายการลงทุนไม่ได้ จึงตัดสินใจขายโครงการที่โอมานออกไปก่อนหน้านี้ กระทั่งมีจังหวะได้เข้าไปซื้อกิจการของบริษัท พาร์เท็กซ์ โฮลดิ้ง บี.วี. เสร็จสิ้นไปเมื่อต้นเดือน พ.ย. 2562

ทำให้ ปตท.สผ.ได้แปลงสำรวจโครงการพีดีโอ(บล็อค 6) และโครงการมุคไคซนา(บล็อค 53) และ โครงการโอมาน แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ในโอมาน รวมถึง มีสัดส่วน 2% ในโรงแยกก๊าซธรรมชาติบนบกขนาดใหญ่ที่สุดของรัฐอาบูดาบี กำลังผลิตรวม 8,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโรงแยกก๊าซฯประเทศไทย 4 เท่า

อ่านข่าว-'ปตท.สผ.'ซื้อคืนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ 500 ล้านดอลลาร์ 

157382852167

ดังนั้น ปตท.สผ.ได้ปรับกลยุทธ์การลงทุนหันมาโฟกัสใน 5 ประเทศหลัก คือ ไทย มาเลเซีย เมียนมา ยูเออี และโอมาน จากที่มีการลงทุนใน 15 ประเทศทั่วโลก เพื่อเพิ่มกำลังผลิตปิโตรเลียมเติบโตเฉลี่ย 5-7% หรืออยู่ที่ 6-7 แสนบาร์เรลต่อวัน ใน 5ปี(2563-2567) ตามวิสัยทัศน์ใหม่ “Energy Partner of Choice” โดยหาก โอมาน และยูเออี จะเปิดประมูลแปลงสำรวจในอนาคต ปตท.สผ.ก็พร้อมที่จะเข้าร่วมเพื่อหาโอกาสขยายการลงทุนเพิ่มเติมด้วย

การกลับเข้ามาลงทุนในตะวันออกกลาง จะเน้นใน ยูเออี และโอมาน เนื่องจากมีความสัมพันธ์ที่ดี เป็น2ประเทศที่สงบสุดในแถบนี้ และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ที่ดี ทำให้มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง ซึ่งจะผลักดันให้ความต้องการใช้น้ำมันและก๊าซฯยังเติบโต

"รัฐบาลยูเออี ประกาศวิสัยทัศน์ จะเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรเลียมเป็น 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ใน 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2573 จากปัจจุบันผลิตอยู่ที่ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปตท.สผ.จึงอยากมีส่วนร่วมในการเติบโตดังกล่าว” พงศธร กล่าว

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ปตท.สผ. จึงเข้าร่วมงาน Abu Dhabi International Petroleum Exhibition & Conference (ADIPEC 2019) ณ กรุงอาบูดาบี ซึ่งเป็นงานนิทรรศการและการประชุมด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่สุดระดับโลก โดยปตท.สผ.เป็น 1ใน 35 บริษัทน้ำมันแห่งชาติจากทั่วโลกที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อสถานการณ์น้ำมันและก๊าซฯ

โดย ในงาน ADIPEC 2019 เวทีการประชุม(conference) ระดับรัฐมนตรี เห็นตรงกันว่า ธุรกิจที่จะเติบโตได้ คือธุรกิจก๊าซฯ ทั้งก๊าซที่ส่งผ่านท่อฯและก๊าซLNG ที่ส่งผ่านเรือ ซึ่งจากนี้ไปถึง 30 ปีข้างหน้า(ปี2593) ก๊าซฯจะเติบโตแน่ เพราะก๊าซฯ คือพลังงานสำคัญของโลกที่เป็นพลังงานสะอาด และจะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น

ฉะนั้น วันนี้ ปตท.สผ.ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว เพราะมีกำลังการผลิตก๊าซถึง 70% ที่เหลือเป็นน้ำมัน และการลงทุนในก้าวต่อไปจะเน้นก๊าซฯมากขึ้น เพื่อสอดรับกับทิศทางพลังงานของโลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ