ทอท.เดินหน้าลุยเทอร์มินัล 2 จ่อชงบอร์ดเคาะ 20 พ.ย.นี้

ทอท.เดินหน้าลุยเทอร์มินัล 2 จ่อชงบอร์ดเคาะ 20 พ.ย.นี้

ทอท.เดินหน้าดันเทอร์มินัลด้านทิศเหนือ เตรียมเสนอบอร์ดพิจารณา 20 พ.ย.นี้ ยันที่ผ่านมาถามความเห็นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หนุนสร้างเพื่อลดความแออัด

ตามที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ดำเนินการรวบรวมข้อคิดเห็น และตอบข้อซักถามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน รอบด้าน ประกอบการตัดสินใจในโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) นั้น

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท.ได้ดำเนินการรวบรวมข้อคิดเห็น และชี้แจงข้อซักถามกับผู้เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ ดังกล่าวแล้ว โดยสรุปได้ในประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.ทำไม ทอท. จึงไม่ปฏิบัติตามแผนแม่บทเดิม โดย ทอท. ขอชี้แจงว่า ทอท.ปฏิบัติตามหลักการของแผนแม่บทเดิม ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงทุก 5 ปี ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล

ทอท.ได้เริ่มจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) ทสภ.ตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ศึกษา และแนะนำให้มีการปรับปรุงแผนแม่บทท่าอากาศยานทุกๆ 5 ปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจการบินที่เปลี่ยนแปลงไป

โดย ทอท.ได้เร่งรัดดำเนินการตามหลักการของแผนแม่บทเดิม ซึ่งยังคงดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานจากด้านทิศเหนือไปยังทิศใต้ โดยมิได้มีการชะลอโครงการแต่อย่างใด แต่เมื่อ ICAO ได้ปรับปรุงแผนแม่บทตามเกณฑ์กรอบระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นในปี 2554 ซึ่งเป็นภาวะที่ ทสภ. รองรับผู้โดยสารเกินขีดความสามารถนั้น ICAO ได้แนะนำให้ปรับปรุงแผนแม่บทเดิม

ทั้งนี้ มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในแผนแม่บทฉบับดังกล่าวว่า “จากข้อเสนอเดิมที่ให้ขยายอาคารที่ปลายทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกนั้น จะยากมากสำหรับการดำเนินการเมื่ออาคารยังถูกใช้งานที่เต็มขีดความสามารถอยู่

ดังนั้น ทอท. จึงขอยืนยันว่า ในอุตสาหกรรมทางการบิน จำเป็นต้องไม่ยึดติดกับแผนแม่บทที่อาจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง โดยองค์กรระหว่างประเทศแนะนำให้ต้องปรับปรุงแผนแม่บทให้ทันสมัยทุก 5 ปี เพื่อสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ในอุตสาหกรรมการบินอย่างแท้จริง

2.ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) แก้ปัญหาตรงจุดหรือไม่ ในประเด็นนี้การขยายอาคารไปทางทิศเหนือตามคำแนะนำของ ICAO นี้  ทอท. ได้มุ่งแก้ปัญหาความแออัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเอาปัญหา (pain point) ของผู้ใช้งานเป็นที่ตั้ง เพื่อรวบรวมความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างครบถ้วน จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยยังได้มุ่งเน้นการบรรเทาที่เกิดขึ้นจากแผนแม่บทฉบับก่อนหน้าควบคู่กันไปด้วย

ทอท.ได้พูดคุยกับผู้ใช้บริการ สายการบิน และผู้ประกอบการใน ทสภ.ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต่อการใช้บริการ ทสภ. เช่น การจราจรติดขัดบริเวณชานชาลาอาคารผู้โดยสาร การใช้เวลารอนานทั้งในขั้นตอนการตรวจหนังสือเดินทาง ซึ่งมีจำนวนเคาน์เตอร์จำกัด จุดรับกระเป๋าและเคาน์เตอร์เช็คอินไม่เพียงพอ

โดย ทอท.ได้เร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยมีการหารือร่วมกับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ซึ่งเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการบิน และส่งเสริมมาตรฐานการบริการด้านการขนส่งทางอากาศ คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน (Airline Operators Committee : AOC) Board of Airline Representatives Business Association (BAR) คณะกรรมการที่ปรึกษาท่าอากาศยาน (Airport Consultative Committee : ACC)

รวมทั้งประชุมหารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (กยผ.) สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งที่ประชุมมีมติรับทราบ เรื่องการพัฒนาที่ดินแปลงด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A (Concourse A) เป็นอาคารผู้โดยสาร (Optional Terminal) ตามที่ระบุในแผนแม่บทการพัฒนา ทสภ.ของ ICAO ฉบับ 2552 และ 2554 และมีความเห็นสอดคล้องกับ ทอท.ในการดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ทสภ. ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดำเนินการได้รวดเร็วและส่งผลกระทบน้อยที่สุด

นอกจากการแก้ปัญหาจากคำแนะนำของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงข้างต้นแล้ว ส่วนต่อขยายทางทิศเหนือ (North Expansion) ยังบรรเทาปัญหาที่มีอยู่เดิม อาทิ การมีหลุมจอดด้านตะวันออก (จุดที่จะมีการต่อขยาย) แต่อากาศยานต้องไปขึ้นทางทิศตะวันตก ซึ่งเดิมจะทำให้เกิดการตัดของการจราจรทั้งรถบัสที่ไปส่งผู้โดยสารขึ้นเครื่องฯ และเกิดการตัดของการจราจรอีกครั้งเมื่อเครื่องฯ จะมาขึ้นในทางวิ่ง (Runway) ด้านตะวันออก เมื่อมีส่วนต่อขยายทางทิศเหนือแล้ว ก็จะสามารถลดปัญหาเดิมที่จะต้องนำรถบัสไปส่งผู้โดยสารขึ้นเครื่องได้

3.ทอท.ไม่ได้เมินหน่วยงานรัฐ  ในประเด็นนี้ ทอท. ยืนยันดำเนินการตามกระบวนการ โดยหลังจากนี้จะต้องขอความเห็นชอบจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป มิได้ข้ามขั้นตอน หรือสามารถจะมีอภิสิทธิ์เหนือกฎเกณฑ์ใดๆ

สำหรับประเด็นที่ว่า ทอท.ไม่สนใจคำทักท้วงและข้อเสนอแนะนั้น ทอท. ขอยืนยันว่า นอกจาก ทอท. ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของบ้านเมืองตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว ทอท. ได้ดำเนินการโครงการนี้ตามสั่งการของรัฐมนตรีว่าการ โดยจะมีความโปร่งใส โดยหลังจากนี้ ฝ่ายบริหาร ทอท.จะนำข้อมูลประกอบการตัดสินใจนี้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 หากคณะกรรมการฯ เห็นชอบก็จะนำเสนอกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นกระทรวงต้นสังกัด และ สศช. เพื่อกลั่นกรองความเหมาะสม และนำเสนอคณะรัฐมนตรี