'สมคิด' สั่งคลัง ออกมาตรการฟื้นศก.ปีหน้า

'สมคิด' สั่งคลัง ออกมาตรการฟื้นศก.ปีหน้า

“สมคิด”สั่งคลังออกแบบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้า หลังประเมินเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ ระบุว่า ขณะนี้ การบริโภคในประเทศเริ่มฟื้นตัวแล้ว ผลจากมาตรการชิมช้อปใช้ ยันนักลงทุนต่างชาติด้านดิจิตอลสนใจเข้าลงทุนในไทย สะท้อนความเชื่อมั่นที่มี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า เมื่อเช้าวันนี้(15พ.ย.)มีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีเข้าพบจำนวน 2 ราย รายหนึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านดิจิตอลของอเมริกา อีกรายหนึ่งคือ อะเมซอน เขาแสดงเจตจำนงสนใจเข้ามาลงทุนในไทยสูงมาก มาขอข้อมูลและขอให้อำนวยความสะดวกว่า อยากจะคุยกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ก็แนะนำรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีดิจิตอล

“ถือว่า เป็นอุทาหรณ์และนิมิติหมายที่ดี เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกไม่ดี เขายังเดินเข้าแถวมาเมืองไทย แสดงว่า เราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ในอนาคตข้างหน้า”เขากล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลังวันนี้(15พ.ย.)

ขณะเดียวกัน เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกไม่ค่อยจะดี ตนได้หารือกับรัฐมนตรีคลังว่า เราจะต้องมาประเมินสถานการณ์ทุกเรื่องว่า ของไทยขณะนี้ เป็นอย่างไร เพื่อเตรียมตัวว่า จะมีมาตรการอะไรออกมารองรับ ถ้าโลกไม่ฟื้นตัวขึ้นมา จึงนัดผู้บริหารกระทรวงการมาหารือในวันนี้ (15พ.ย.)

“ก็อย่างที่คาดการณ์กันไว้ เขาประเมินเศรษฐกิจโลกจะยังไม่ฟื้นตัว ประเทศไทยก็ต้องเตรียมการ แต่ว่า จะเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่ที่ทราบคือ ขณะนี้ โมเมนตั้มเรื่องการบริโภคเริ่มดีขึ้นในเดือนต.ค.แสดงว่า อำนาจซื้อเริมพลิกกลับ ชิมช้อปใช้เริ่มได้ผล ฉะนั้น เป็นสัญญาณที่ดีประกาณหนึ่ง”

อย่างไรก็ดี ในเรื่องการส่งออกนั้น เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกไม่ดี เราจะหวังพึ่งการส่งออกได้ยาก ฉะนั้น ทางกระทรวงการคลังก็ต้องเตรียมตัวดูว่า จะมีอะไรออกมาหรือไม่

เขากล่าวด้วยว่า ได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงการคลังในเรื่องการจัดเก็บภาษีว่า จะต้องเป็นไปตามเป้าหมาย ขณะเดียวกัน ต้องดูวิธีการไม่ให้ไปบั่นทอนการบริโภค

อ่านข่าว-'ปธ.กมธ.ปราบโกง' ปัดขัดแย้งในกมธ. เดินหน้าสอบ

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลเตรียมใช้เงินประกันสังคมในการปล่อยกู้ว่า ถ้าเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี ก็น่าจะเป็นเรื่องที่เคยผ่านมาในอดีตว่า เงินที่มีจะนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่รับผิดชอบจะพิจารณาจะเอาเงินไปทำอะไรได้ แต่ต้องมีความปลอดภัย ไม่ใช่หวังแค่เรื่องผลตอบแทน

“การเสนอข่าวช่วงนี้ อยากให้ระมัดระวัง เพราะเป็นเรื่องเปราะบาง ความเชื่อมั่นของประชาชนสำคัญมาก ถ้าไม่เชื่อมั่นไม่มี การลงทุนและการบริโภคในประเทศก็จะไม่เกิด ถ้าประเทศเราไม่ได้ย่ำแย่ขนาดนั้น เราอาจจะได้รับผลกระทบจากการค้าของโลกบ้าง เราก็ต้องช่วยกันฟันฝ่าไปให้ได้ ประเทศอื่นเขาแย่กว่าเราเยอะแยะ ฉะนั้น ข่าวที่ออกมาบางทีไม่ใช่ข่าวจริง บางข่าวออกมาก็พิกล อย่าเพิ่งไปรีบสรุปอย่างนั้น

กรณีที่มีการระบุว่า เวิล์ดเอคโคโนมิค ฟอรั่มระบุว่า ประเทศไทยมีปัจจัยเสี่ยง 5 ประการเขากล่าวว่า ทางเวิล์ดเอคโคโนมิคเขาทำแบบสอบถามไปยังประเทศต่าง เพื่อให้ประเมินว่า ในระยะ 10 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจโลกเผชิญกับความเสี่ยงอะไรบ้าง โดยมีทั้งหมด 30 ปัจจัย เขาก็ใช้วิธีการสำรวจในแต่ละประเทศให้นักลงทุนเป็นคนประเมิน

โดยเขาถามว่า ปัจจัย 30 ปัจจัยนั้น กรณีไหนที่ให้ความสำคัญที่จะเป็นความเสี่ยงใน 10 ปีข้างหน้า นักธุรกิจก็กรอก บังเอิญนักธุรกิจไทยกรอบไปว่า มี 5 ปัจจัยที่คิดว่า เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง อาทิ เศรษฐกิจฟองสบู่ เรื่องธรรมาภิบาล เป็นต้น ไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเรื่องฟองสบู่

“ถือเป็นการบิดเบือนข้อมูล เช่น เรื่องธรรมาภิบาล ไปพาดหัวในเว็ปไซค์ว่า “อึ้ง สภาธุรกิจไทยชี้ไทยเสี่ยงสุดเรื่องธรรมภิบาล” ถามว่า อันนี้ ผลเกิดกับใคร เกิดขึ้นกับประเทศไทยใช่ไหม การระมัดระวังการเสนอข่าวต้องระวัง ประเทศอื่น เช่น เวียดนามระบุหมด 5-6 ประการ เขาหนักกว่าเรา แต่ของเรากลับมาทำให้เราดูแย่ การเสนอข่าว การแถลงข่าวต้องระวัง เสนอข่าวผิดได้อย่างไร”

เขาย้ำว่า ประเทศไทยไม่ได้เกิดปัญหาฟองสบู่เช่นเดียวกันกับปี 1997 ซึ่งขณะนั้น ราคาสินทรัพย์สูงเกินจริง แต่ขณะนี้ เศรษฐกิจซบเซา อย่างสินค้าขายไม่ได้ด้วยซ้ำ จะบอกเศรษฐกิจฟองสบู่ได้อย่างไร แล้วคนทำงานจะทำงานอย่างไร