เสริมอาหารโฆษณาทางเพศ เตือนประชาชนอาจเป็นอันตราย!

เสริมอาหารโฆษณาทางเพศ เตือนประชาชนอาจเป็นอันตราย!

พบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Blue M Gold โอ้อวดสรรพคุณทางเพศ อย. เร่งตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ พบสถานะพักใช้ใบอนุญาตสถานที่ผลิต เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อมาบริโภค อาจได้รับอันตราย

นพ. พูลลาภ  ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Blue M Gold ผ่านทางเว็บไซต์ และสื่อโซเชียลมีเดีย มีข้อความโฆษณาชวนเชื่อสามารถเพิ่มขนาดอวัยวะเพศชาย ปลุกอารมณ์ทางเพศ ซึ่ง อย.ได้ดำเนินการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับอนุญาตโดยใช้ชื่อ สารสกัดจากกระชายดำ, ซอยโปรตีน ไอโซเลต, สารสกัดใบแป๊ะก๊วย, สารสกัดจากถั่งเช่า, สารสกัดจากโสม,  สารสกัดจากเห็ดหลินจือ, สารสกัดจากหอยนางรม, ซิงก์อมิโนแอซิดคีเลต, วิตามินอี (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)  เลขสารบบอาหาร 12-2-00129-1-0253 และสถานที่ผลิตอยู่ในสถานะพักใช้ใบอนุญาต การโฆษณาดังกล่าว เป็นการโฆษณาประโยชน์สรรพคุณโดยไม่ได้รับอนุญาต ในลักษณะเสริมสมรรถภาพทางเพศ ขณะนี้ อย.กำลังดำเนินการเกี่ยวกับการโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมาย จึงขอเตือนผู้บริโภคเพศชายที่ต้องการเสริมสมรรถภาพทางเพศด้วยการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อย่าหลงเชื่อโฆษณาเกินจริงดังกล่าว

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่มีคุณสมบัติช่วยเสริมเรื่องทางเพศ ขอให้ผู้บริโภคใช้วิจารณญาณพิจารณาก่อนซื้อ ที่ผ่านมา อย. พบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณในการเสริมสมรรถภาพทางเพศ มักลักลอบใส่ยาที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ “ซิลเดนาฟิล” ซึ่งจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ปวดศีรษะ มึนงง หน้าแดง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่กินยากลุ่มไนเตรตอยู่อาจส่งผลให้ความดันโลหิตตกจนถึงขั้นมีภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เพราะอาจได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย หากพบผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยหรือที่คิดว่า  จะเป็นอันตราย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail:[email protected] หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผู้ประกอบการ การโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต หรือการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงทางสื่อ  ต่าง ๆ ถือเป็นความผิด โดยการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นการโฆษณาสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ