อนาคต ‘ธุรกิจ’ ร่วงหรือรอด! สิ่งแวดล้อมตัวชี้วัดสำคัญ

อนาคต ‘ธุรกิจ’ ร่วงหรือรอด! สิ่งแวดล้อมตัวชี้วัดสำคัญ

ถึงวันที่ธุรกิจต้องเริ่มปรับตัวอีกครั้ง เมื่อเทรนด์ผู้บริโภคหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมากขึ้น แพคเกจจิ้งรักษ์โลก กลายเป็นเฟิร์สอิมเพรสชั่นของผู้บริโภคที่จะตัดสินใจซื้อ ที่สำคัญยอมจ่ายเงินมากขึ้นด้วย

สิ่งแวดล้อม (Environment) กลายเป็นประเด็นที่หลายคนจับตามอง ไม่เพียงแต่ภาครัฐ หรือบริษัทภาคเอกชนเท่านั้น ที่ดูกระตือรือร้นถึงการแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน แต่สำหรับประชาชนที่เป็นผู้บริโภคสินค้าโดยตรงนั้น ต่างก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย

ที่ผ่านมามีการวิจัยเชิงนโยบายถึงต้นตอสาเหตุ ผลกระทบ และแนวทางแก้ไข รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญ ขณะที่ฝากฝั่งมุมธุรกิจเอง "เต็ดตรา แพ้ค" (Tetra Pak) ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์อันดับต้นๆ ของโลก ก็ทำรีเสิร์ชเช่นเดียวกัน

สุภณัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ได้สรุปไฮไลต์สำคัญและน่าจับตาก็คือ ผู้บริโภคกว่า 63% เริ่มตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและมองเป็นเรื่องใกล้ตัว เริ่มมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ส่วนใครที่ไม่ได้ทำจะรู้สึกผิดว่าทำไมตัวเองถึงไม่รับผิดชอบต่อสังคมเลย และรองลงมาราว 46% คือความสนใจเรื่องของสุขภาพ

157380937140

ทั้งนี้จากงานวิจัยได้แบ่งผู้บริโภคตามความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพออกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้

1.กลุ่มนำเทรนด์ (Active Ambassadors) กลุ่มนี้เป็นผู้นำของสังคมในการที่จะลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่คิดว่าดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น จัดแคมเปญเก็บขยะ สนับสนุนการรีไซเคิล หรือการร่วมกลุ่มเป็นคอมมูนิตี้เพื่อสื่อสารให้ทุกคนรู้ถึงคุณประโยชน์ แม้จะเป็นกลุ่มที่ดี แต่ยังมีจำนวนไม่มากนักเพียง 8% เท่านั้น

2.กลุ่มรักษ์โลก (Planet Friends) กลุ่มนี้ก็มีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน แต่จะไม่แอ๊คทีฟเท่ากลุ่มแรก อะไรก็ตามที่ทำแล้วรู้สึกว่าโลกจะดีขึ้น สิ่งแวดล้อมบนโลกพัฒนาขึ้น กลุ่มนี้ก็พร้อมที่จะทำ แต่ยังมีจำนวนไม่มากเท่าไหร่นักประมาณ 14%

3.กลุ่มใส่ใจสุขภาพ (Health Conscious) กลุ่มนี้มีความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่สิ่งที่กังวลมากกว่าคือเรื่องสุขภาพของตัวเอง แม้สิ่งที่บริโภคอาจจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ตาม กลุ่มนี้มีประมาณ 11%

4.กลุ่มตามเทรนด์ (Followers) เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด 31% มีความรับรู็เรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่พอสมควร อาจจะผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย การสื่อสารกับคนอื่น แม้ไม่ได้มีส่วนร่วมมากมาย แต่พร้อมที่จะเป็นผู้ปฏิบัตติที่ดีถ้าใครขอความช่วยเหลือ

5.เฉพาะกลุ่ม (Sceptics) กลุ่มนี้ค่อนข้างมองในแง่ลบ คิดว่าข่าวที่ออกมาไม่น่าจะใช่ความจริง มองเป็นแค่กระแสเท่านั้น และคนกลุ่มนี้จะไม่ทำอะไรแน่นอน ยังบริโภคเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงเพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งก็มีจำนวนราว 18%

และ 6.กลุ่มที่เปลี่ยนอย่างช้าๆ (Laggards) กลุ่มนี้ไม่สนใจอะไร ไม่ตระหนักต่อการเปลี่ยนแปลงหรือเป็นไปต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว แต่ไม่มีความคิดในเชิงลบ กล่มนี้มีประมาณ 18%

157381099728

นอกจากนี้ในงานวิจัยยังสะท้อนว่า มีผู้บริโภคมากกว่า 80% ที่กังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม และมองไปถึงอนาคตก็ยังไม่เห็นทางออก ที่สำคัญมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเกือบครึ่งหนึ่งเห็นว่าสินค้าที่ซื้อไปนั้นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะย้อนกลับมาถึงเรื่องของสุขภาพด้วย ดังนั้นผู้บริโภคเองจึงมองว่าทั้งสองไม่สามารถแยกออกจากกันได้

ยกตัวอย่างเช่นในประเทศไทย ปัจจุบันคนกังวลเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งแน่นอนว่านี่คือเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่กระทบกับคนมากๆ คือเรื่องสุขภาพ หรือปัญหาขยะทะเล ที่ไม่ได้กระทบแค่สิ่งแวดล้อม เพราะสุดท้ายอาจมีพลาสติกตกค้างในปลาที่กินเข้าไป ก็กระทบต่อสุขภาพด้วย เป็นต้น

ทำให้วันนี้คนไทยเริ่มตระหนัก และออกมาทำอะไรเองโดยที่ไม่ต้องมีใครเรียกร้อง อย่างเช่นการลดใช้ถุงพลาสติก ที่ห้างร้านต่างๆ เริ่มกันบ้างแล้ว แม้ยังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุม นั่นแสดงให้เห็นว่าทุกคนไปเร็วกว่ากฎหมายและรัฐบาล

ด้านผู้บริโภคเองก็เริ่มมองหาผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มีคำว่า "ออร์แกนิก" รวมถึงเมื่อไปที่หน้าเชลฟ์ หากสินค้าแบรนด์ใดสามารถทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าแบรนด์นี้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ ผู้บริโภคก็พร้อมที่จะยอมจ่ายแพงมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้านั้น

ดังนั้นการเติบโตของธุรกิจในอนาคต กำไรอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมองด้วยว่าธุรกิจจะสามารถทำอะไรกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อมได้บ้าง เพราะอนาคตผู้บริโภคจะไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์ใหญ่ๆ เหมือนเมื่อก่อนแล้ว และนี่จะเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ได้ และเป็นจุดที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าได้ โดยทางอ้อมแล้ว ผู้บริโภคมองว่าตัวเองได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะได้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีช่วยรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากเทรนด์ของผู้บริโภคนี้ และต้องปรับตัวเป็นกลุ่มแรกๆ ก็คืออาหารและเครื่องดื่มเป็นธุรกิจที่ผู้บริโภคจับต้องได้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้นธุรกิจนี้จึงต้องตื่นตัวได้แล้ว