โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรักษาได้ ใช้เทคนิค TAVI โดยไม่ต้องผ่าตัด

โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรักษาได้ ใช้เทคนิค TAVI โดยไม่ต้องผ่าตัด

ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย และอายุที่มากขึ้นนำมาซึ่งปัจจัยเสี่ยงของโรคต่างๆ รวมถึงโรคลิ้นหัวใจ ซึ่งเกิดจากการที่ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ มี 2 ประเภท คือ ลิ้นหัวใจตีบ และ ลิ้นหัวใจรั่ว

สถิติกระทรวงสาธารณสุขปี 2561 ระบุว่า มีจำนวนคนไทยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 432,943 คน มีอัตราการเสียชีวิตถึง 20,855 คนต่อปี คิดเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 48 คนต่อวัน หรือชั่วโมงละ 2 คน และด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่มีจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาสถานการณ์ความแออัดของห้องฉุกเฉิน ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องเร่งช่วยกันป้องกันและแก้ไข เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากโรคหัวใจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งคนที่เป็นโรคลิ้นหัวใจ

โรคหัวใจ ที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุด ถัดมา คือ โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic valve stenosis) ส่งผลให้เสียชีวิตฉับพลันได้ โรคหัวใจสั่นพริ้ว (Atrial Fibrillation) ซึ่งมีสาเหตุจากโรคที่เป็น เช่น ความดันสูง รวมถึงภาวะหัวใจเต้นช้า ซึ่งเกิดจากอายุที่มากขึ้น และหัวใจล้มเหลว เกิดจากการเป็นโรคหัวใจที่ไม่ได้รักษาตั้งแต่เริ่มแรก

157374412957

โดยเฉพาะในภาวะ “ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ” ซึ่งเกิดจากการตีบของลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายและหลอดเลือดแดงใหญ่ ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ และหากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้ในระยะเวลา 2-5 ปี ซึ่งจากสถิติ ในสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยลิ้นหัวใจเอออร์ติกราว 1 แสนรายต่อปี ส่วนใหญ่เป็นสูงอายุซึ่งไม่สามารถทนการผ่าตัดได้ 33% และในจำนวนนี้กว่า 50% หากไม่ผ่าตัดจะเสียชีวิต

นพ.วัธนพล พิพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ลิ้นหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ เกิดได้กับทุกคนทั้งชายและหญิง สามารถสังเกตได้ เช่น มีอาการเหนื่อยง่าย อันเนื่องมาจากภาวะหัวใจวาย เป็นอาการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ ทำให้เกิดอาการน้ำท่วมปอด แน่นหน้าอก เป็นลมหมดสติ

157374413083

"ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และผู้หญิงที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือเข้าสู่วัยทอง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจในครอบครัว ควรได้รับการตรวจร่างกายทั่วไปและตรวจหัวใจโดยเฉพาะ เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (echocardiogram หรือ echo) ขณะที่คนที่อายุน้อยก็สามารถตรวจพบได้ อาจมาจากการเสื่อมเร็ว และพบในคนที่เป็นมาตั้งแต่เกิดราว 1-2% ของประชากรทั่วไป"

โดยวานนี้ (14พ.ย.)โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้เปิด ศูนย์ลิ้นหัวใจ ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่การป้องกัน วินิจฉัยในระยะเริ่มต้น การรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ซึ่งทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ได้ผ่านการอบรมหัตถการจาก สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรค ขั้นตอนและทางเลือกในการรักษากับผู้ป่วยและญาติได้อย่างถูกต้องชัดเจน ซึ่งได้เปิดศูนย์รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ได้แก่ ศูนย์หัวใจก่อตั้งมากว่า 23 ปี และศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ 2 ปีก่อน 

  • เปลี่ยนลิ้นหัวใจไม่ต้องผ่าตัด

สำหรับแนวทางการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ปัจจุบันสามารถทำได้ 3 วิธี คือ 1. การรักษาตามอาการด้วยการให้ยา 2. การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก โดยการผ่าตัด เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาโดยเป็นการผ่าตัดเปิดหน้าอก เพื่อติดลิ้นหัวใจเก่าออกและเย็บลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปแทนที่ และ 3. การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวน โดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter Aortic Valve Implantation หรือ TAVI)

157374413083_1

 

"แม้การผ่าตัดจะเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบที่ให้ผลดีมาก แต่ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรค เนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องดมยาสลบ ใช้เครืองปอดหัวใจเทียมและใช้เวลาในการผ่าตัด 4 ชั่วโมง ใช้เวลาพักฟื้น 2-3 เดือน และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่เทคนิค TAVI ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อย และฟื้นตัวเร็ว ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 5-7 วัน"

ซึ่งจากที่โรงพยาบาลฯ ใช้เทคนิคนี้มาในระยะเวลา 3 ปี มีผู้ป่วยราว 20 กว่าราย อายุน้อยที่สุดคือ 60 ปี และมากสุดคือ 90 ปี พบว่า ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ 100% จึงเป็นตัวเลือกในการทดแทนเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรุนแรง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด หรือเคยผ่าตัดหัวใจมาก่อน ผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปได้