กลยุทธ์เอฟทีเอ ดึงการค้า-การลงทุน

กลยุทธ์เอฟทีเอ  ดึงการค้า-การลงทุน

การส่งเสริมการค้า การลงทุนด้วยสิทธิประโยชน์ แรงงาน กำลังการผลิตเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องมีกลยุทธ์เสริม

ความผันผวนจากปัจจัยต่างๆในปัจจุบันทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก เพื่อคงอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป การส่งเสริมการค้า การลงทุนด้วยสิทธิประโยชน์ แรงงาน กำลังการผลิตเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีกลยุทธ์เสริม  ซึ่งการทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ซึ่งประเทศไทยดำเนินการแล้วทั้งที่ได้ข้อสรุปและมีผลบังคับใช้และกำลังเจรจาอยู่หลายฉบับครอบคลุมเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลก 

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  กล่าวว่า ขณะนี้ไทยกำลังมีแผนจะฟื้นการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับสภาพยุโรป (อียู) ซึ่งหยุดชะงักไปเมื่อปี2557 เนื่องจากการรัฐประหาร กระทั่งไทยมีการเลือกตั้งทั้งสองฝ่ายจึงเตรียมเข้าสู่การเจรจาอีกครั้ง

เนื่องจากการเจรจาหยุดไปมากกว่า 5 ปี ทำให้เงื่อนไขและสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนเปลี่ยนแปลงไป กรมฯจึงทำการศึกษาการเจรจาข้อตกลงนี้ใหม่ โดยมอบให้สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ศึกษาประโยชน์ ผลกระทบ พร้อมจัดเวทีระดมความเห็นจากภาคประชาชน ภาคเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้แผนการเจรจาสมบูรณ์แบบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน พ.ย.นี้ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณาตัดสินใจเดินหน้าการฟื้นฟูการเจรจาหรือไม่

หากจะประเมินความจำเป็นเอฟทีเออีอยู่ในเบื้องต้นจะพบว่า หากไม่เจรจาไทยอาจเสียแต้มต่อกับคู่แข่งอย่างเวียดนาม เพราะเวียดนามได้ลงนามเอฟทีเอกับอียู เสร็จสิ้นแล้วรอเพียงการให้สัตยาบันเพื่อให้มีผลบังคับใช้ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ ซึ่งในส่วนเวียดนาม อียูจะลดภาษีสินค้านำเข้าให้99% ของสินค้าทั้งหมด และอียูขอเวลา 7 ปีสำหรับสินค้าอ่อนไหวบางรายการ และเวียดนามมีเวลาปรับตัว 10 ปีสำหรับสินค้าไม่พร้อมแข่งขัน และลดภาษสินค้าประมาณ 75%ของรายการสินค้าทั้งหมด 

อรมน กล่าวอีกว่าภาพรวมแผนเจรจาเอฟทีเอของไทย ประกอบด้วยทั้งการอัพเกรดข้อตกลงที่มีอยู่เดิม เช่น การเสริมประเด็นด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การลงทุน ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสการค้าการลงทุนโลก

“ไทยเป็นประเทศที่มีจุดแข็งและศักยภาพในการค้าและการลงทุนโดยเฉพาะโลเคชั่นที่ตั้งอยู่ในอาเซียน การมีเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะช่วยดึงดูดส่งเสริมการลงทุนและให้ความสำคัญนอกจากอุตสาหกรรมแบบเก่าๆ ก็ให้ความสำคัญอุตสาหกรรมใหม่ทำให้หลายประเทศสนใจและให้ความสำคัญกับไทย เราจึงใช้ความพยายามที่นำเอฟทีเอมาช่วยสร้างแต้มต่อศักยภาพในการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น ”

ทั้งนี้ หลังการพิจารณาข้อตกลงเอฟทีเอ หลายรายการทั้งที่ไทยมีอยู่ และที่ประเทศอื่นๆมีพบว่าการลดกำแพงภาษีทำให้สินค้าที่ผลิตในไทยหรือจากประเทศที่มีเอฟทีเอด้วย มีความน่าสนใจจากผู้ซื้อมากขึ้น เช่น มาเลเซียมีเอฟทีเอกับตุรกีปัจจุบันทำให้สินค้าฮาลาลของมาเลเซียเข้าไปตลาดตะวันออกกลางมากขึ้น เช่นเดียวกับเวียดนาม ที่ส่งออกสินค้าหลายรายการไปยุโรปได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ทำให้สินค้าที่ผลิตที่นั่นจะเข้าถึงตลาดได้ง่ายส่งผลให้การลงทุนต่างจะมองเวียดนามว่าไม่ใช่ตลาดที่มีประชาการร้อยกว่าล้านคนเท่านั้นแต่นักลงทุนจะมองข้ามไปถึงเอฟทีเอที่เวียดนามมีอยู่ เช่น อียู หรือแม้แต่ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ปด้วย 

157373969541