กลต.จ่อคุมหุ้นกู้เสี่ยงสูงป้องเบี้ยวหนี้

กลต.จ่อคุมหุ้นกู้เสี่ยงสูงป้องเบี้ยวหนี้

ก.ล.ต. เตรียมเพิ่มเกณฑ์คุมเข้มหุ้นกู้วงแคบ สั่งใส่มาตรวัดความเสี่ยง พร้อมเพิ่มข้อมูลการเงินเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม ฟากโบรกมองช่วยลดความเสี่ยง แต่บริษัทอาจต้องเพิ่มทุนมากขึ้น

นาวสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ก.ล.ต. เตรียมที่จะปรับหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการขายหุ้นกู้ในวงแคบ อาทิ การขายในวงแคบไม่เกิน 10 ราย (PP-10) รวมทั้งการขายให้กับนักลงทุนรายใหญ่ (High net worth) หลังจากที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น (Public hearing) ไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา

ในเบื้องต้น ก.ล.ต.ต้องการจะทำให้ความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่ไม่มีเรทติ้ง หรือเรทติ้งต่ำ โดยผู้ที่ต้องการจะออกหุ้นกู้ในวงแคบ สำหรับนักลงทุนไม่เกิน 10 ราย จำเป็นจะต้องจัดทำหนังสือชี้ชวน (Filling) ในลักษณะเดียวกันกับที่จะขายให้กับนักลงทุนรายใหญ่

อ่านข่าว-ก.ล.ต. เข้าร่วมประชุมสมาคมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ 

รวมถึงจำเป็นจะต้องใส่ข้อมูลบ่งบอกระดับความเสี่ยง พร้อมชี้แจงความเสี่ยงที่สำคัญของผู้ออกหุ้นกู้ อัตราส่วนทางการเงินเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม รวมทั้งการคำนวณผลตอบแทนเปรียบเทียบกับหุ้นกู้ที่ใกล้เคียงกัน 

“ที่ผ่านมา ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้มักจะเกิดกับการขายหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งไม่ดีนัก หรือไม่มีเลย ให้กับนักลงทุนในวงแคบ เพราะการขายลักษณะนี้เดิมทีไม่ต้องจัดทำหนังสือชี้ชวน หรือเอกสารใดๆ เพียงแต่ต้องรายงานกลับมาที่ ก.ล.ต. เท่านั้น แต่หลังจากนี้ผู้ที่ต้องการออกขายหุ้นกู้ในลักษณะนี้จำเป็นจะต้องจัดทำข้อมูลให้กับนักลงทุนมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎเกณฑ์เพิ่มเติมนี้ ก.ล.ต.จะพยายามให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยเบื้องต้นจะไม่บังคับใช้กับหุ้นกู้ที่ออกขายไปก่อนหน้านั้นแล้ว ขณะเดียวกันผู้ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการออกขาย ก็จะอนุโลมให้สามารถทำตามกฎเกณฑ์เดิมได้ประมาณ 6 เดือน

ด้าน นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า การเพิ่มเกณฑ์ควบคุมหุ้นกู้วงแคบน่าจะช่วยโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ลดลง เพราะบริษัทที่คุณภาพไม่ถึงเกณฑ์ก็อาจจะไม่สามารถออกขายได้ เพราะการที่ต้องจัดทำหนังสือชี้ชวน หมายความว่าจะต้องได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต.

อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านี้ที่ต้องการจะระดมทุนก็อาจจะยากลำบากมากขึ้น เพราะต้นทุนและเวลาที่ต้องใช้มากขึ้น และหากไม่สามารถระดมทุนผ่านช่องทางนี้แล้ว บริษัทเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการเพิ่มทุนเข้ามาแทนที่ ขณะเดียวกันนักลงทุนบางส่วนก็ต้องผันเงินลงทุนจากส่วนนี้ไปลงทุนในหุ้นกู้ที่คุณภาพดีขึ้น