‘ฐิติกร’ กำไรพุ่ง-ดันราคาวิ่งแรง ระยะยาวยังน่าห่วงหลังตลาดชะลอ

‘ฐิติกร’ กำไรพุ่ง-ดันราคาวิ่งแรง ระยะยาวยังน่าห่วงหลังตลาดชะลอ

ช่วงนี้บริษัทจดทะเบียนทยอยเดินหน้าประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 3 ปี 2562 กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีอยู่หนึ่งกลุ่มที่โดดเด่นเข้าตา Stock Gossip นั่นคือ กลุ่มเช่าซื้อ หรือ ลิสซิ่ง

เพราะหลายบริษัทงบฯ ออกมาดีเหลือเกิน ทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นว่าเล่น ไล่มาตั้งแต่ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC, บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD

ล่าสุด เป็นคิวของ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK รายงานงบฯ ออกมาตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 13 พ.ย. ปรากฏว่าดีเกินคาด หนุนราคาหุ้นวันรุ่งขึ้น (14 พ.ย.) พุ่งติดจรวดทำนิวไฮใหม่ในรอบ 4 เดือน ​ระหว่างวันแตะจุดสูงสุด 10.40 บาท ก่อนปิดซื้อขายที่ 10 บาท เพิ่มขึ้น 0.55 บาท หรือ 5.82%

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปีนี้เป็นปีที่ท้าทายสำหรับบริษัท จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว การส่งออกที่ติดลบจากผลกระทบของสงครามการค้า ผสมโรงกับค่าเงินบาทที่แข็งค่า ยิ่งซ้ำเติมเข้าไปอีก หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ขาดสภาพคล่องในการใช้จ่าย

นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากตลาดรถยนต์ที่ไม่ค่อยสดใส โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ปรับลดเป้าการผลิตรถยนต์ปีนี้ลง 1.5 แสนคัน จากเดิม 2.15 ล้านคัน เหลือ 2 ล้านคัน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศ 9 เดือนแรก มีจำนวนทั้งสิ้น 761,847 คัน เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

แต่ตลาดรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท ยอดขายลดลง 2.8% จากช่วงเดียวกันก่อนปีก่อน มาอยู่ที่ 1,327,653 คัน กระทบการปล่อยสินเชื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อรวม ณ ไตรมาส 3 หดตัว 13% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 8,020 ล้านบาท

หากดูจากงบฯ การเงินที่ประกาศออกมาจะเห็นได้ชัดว่า รายได้รวมของบริษัทซึ่งก็คือ “รายได้ดอกเบี้ย” ชะลอตัวตามยอดขายรถจักรยานยนต์ โดยรายได้ไตรมาส 3 ปี 2562 อยู่ที่ 937 ล้านบาท ลดลง 2.4% ส่วนงวด 9 เดือน มีรายได้ 2,879 ล้านบาท ลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แต่ตัวที่ช่วยหนุนกำไรของบริษัทขึ้นมา คือ “รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย” ทั้งรายได้จากค่าธรรมเนียม การติดตามทวงหนี้ ปรับตัวดีขึ้น โดยงวดไตรมาส 3 อยู่ที่ 210 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.9% และ งวด 9 เดือนอยู่ที่ 559 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% เป็นผลจากการบริหารจัดการหนี้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด การเร่งตัดหนี้สูญ ส่งผลให้คุณภาพลูกหนี้ดีขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่ในฝั่งของค่าใช้จ่ายลดลงไตรมาส 3 อยู่ที่ 761 ล้านบาท ลดลง 10.1% และ งวด 9 เดือน จำนวน 2,413 ล้านบาท ลดลง 3.4% หนุนกำไรสุทธิไตรมาส 3 พุ่งทำสถิติสูงสุดใหม่รายไตรมาสในรอบ 6 ปี จำนวนทั้งสิ้น 141 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.7% ส่วนงวด 9 เดือน ตุนกำไรไปแล้วทั้งสิ้น 371 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นข่าวดีช่วยดันราคาหุ้น

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่บริษัทงัดออกมาใช้ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากตลาดรถยนต์ในประเทศที่ชะลอตัว คือ การขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มซีแอลเอ็มวีที่ยังมีความต้องการสินเชื่อสูง มีแผนเร่งขยายสาขาในต่างประเทศเพิ่มอีก 9 สาขาภายในปีนี้ แบ่งเป็นกัมพูชา 6 สาขา รวมกับของเดิมเป็น 12 สาขา และลาวอีก 3 สาขา รวมเป็น 6 สาขา

ส่วนที่เมียนมาร์ หลังจากได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินกิจการไมโครไฟแนนซ์เมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ตอนนี้เปิดสาขาแรกและเริ่มปล่อยสินเชื่อแล้ว โดยให้บริการทั้งสินเชื่อแบบกลุ่มและสินเชื่อส่วนบุคคล ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะเพิ่มเป็นอย่างน้อย 20% ภายในสิ้นปีนี้

ว่ากันตามตรงแล้ว แผนรุกขยายตลาดต่างประเทศนั้นน่าสนใจ เพราะมีโอกาสเติบโตอีกเยอะ แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ตลาดในประเทศเพราะเป็นตลาดหลัก การหวังจะเติบโตจากตลาดใหม่อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องมารอดูว่าตลาดในประเทศบริษัทจะปรับตัวอย่างไร เมื่อกำลังซื้อไม่มี ปล่อยสินเชื่อไม่ได้ แน่นอนว่าจะกระทบมาถึงผลประกอบการในที่สุด แม้ตอนนี้อาจดูสวยหรู แต่ในระยะยาวยังน่าเป็นห่วง จึงไม่แปลกที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยจะเชียร์ซื้อหุ้นตัวนี้ แม้งบฯ จะออกมาดีก็ตาม