‘"ฟู้ด อินโนโพลิส" นวัตกรรมอาหารขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

‘"ฟู้ด อินโนโพลิส" นวัตกรรมอาหารขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

‘"ฟู้ด อินโนโพลิส" นวัตกรรมอาหารขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นครัวโลก

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงานประชุมนานาชาติ Food Innopolis International Symposium 2019 ภายใต้แนวคิด “การผลิตแบบดั้งเดิมไปสู่นวัตกรรม ศิลปะและวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร” เพื่อเตรียมความพร้อมให้ภาคเอกชนได้ร่วมดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือฟู้ด อินโนโพลิส

ผศ. อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กำกับดูแลและบริหารงานเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย มีสัดส่วนประมาณ 8.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)และมีแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตอาหารมากถึง 40 ล้านคน จากจำนวนประชากรในประเทศ 69 ล้านคน

"อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรจำเป็นจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่พฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนยุคใหม่ หรือจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ล้วนต้องการอาหารในปริมาณที่มากขึ้น จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของไทยที่จะรับมือกับตลาดโลกในอนาคต” ผศ.อัครวิทย์ กล่าว

“วรรณวีรา รัชฎาวงศ์” กรรมการบริหารสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความมุ่งมั่นช่วยกันเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอาหารยุค 4.0 ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยกำลังผลักดันให้เป็นครัวโลก

ประเทศไทย เป็นแหล่งอุตสาหกรรมการเกษตรที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากแต่รูปแบบสินค้าที่ไทยส่งออกไปต่างประเทศ ยังเป็นลักษณะการส่งออกสินค้าวัตถุดิบทางการเกษตร เช่น ข้าวสาร ข้าวโพด ยางพารา และผลไม้สด ไม่สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของตลาดผู้บริโภค และการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารโลก

“การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร จะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ยกระดับมาตรฐานกระบวนการผลิต เสริมสร้างขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารติดอันดับท็อปเท็นของโลกได้” วรรณวีรา ย้ำ

ปัจจุบัน สหรัฐ เป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารรายใหญ่ของโลก รองลงมาคือ เยอรมนี อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น แคนาดา เบลเยียม และอิตาลี

ประเทศเหล่านี้ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการยืดอายุสินค้าให้ยาวนานขึ้น เพื่อประโยชน์ด้านการส่งออก หรือการแปรรูปสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภค ที่ต้องการสินค้าคุณภาพดีต่อสุขภาพ ทำให้เกิดแนวโน้มตลาดที่ต้องการผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนคุณภาพ และสินค้าโปรตีนแปรรูปจากพืช มากกว่าเนื้อสัตว์

ด้าน “แบรดลีย์ คริท” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจาก Future 50 Research สถาบันเพื่ออนาคต (Institute for the Future: IFTF) ประเทศสหรัฐ กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์อาหารโลกในอนาคตว่า อุตสาหกรรมการผลิตอาหารจะได้รับผลกระทบใน 2 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1.การนำอาหารเข้าสู่กระบวนการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ ทำให้เกิดสงครามทรัพย์สินทางปัญญา ส่งผลต่อการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมอาหารในอนาคต

2.การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่เพิ่มแรงกดดันต่อแรงงานภาคเกษตร การเพาะปลูกพืชแบบดั้งเดิม และสร้างความเสี่ยงอย่างมหาศาล รวมทั้งสร้างแนวโน้มที่ทำให้เกิดสถานการณ์การแย่งชิงอาหารและเกิดความอดอยากในหลายประเทศ

"สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยเร่งสร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในกระบวนการผลิต บรรจุหีบห่อ และจำหน่ายอาหาร ซึ่งจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สอดคล้องกับแนวทางการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยืนองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในเรื่องการขจัดความหิวโหย สู่การปฏิรูปด้านความมั่นคงทางอาหารร่วมกัน" คริท กล่าว

“มาร์ค บัคลีย์” ผู้เชี่ยวชาญจากยูเอ็น ในด้านการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจี) และนักอนาคตวิทยาด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ชาวเยอรมัน เห็นว่า อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเลี้ยงประชากรโลก และถึงเวลาต้องปฏิวัติระบบการผลิตใหม่ทั้งหมด เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขยะมลพิษที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

“มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง และทำให้เร็วกว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ค่อยๆเกิดขึ้นแล้วในตอนนี้" ผู้เชี่ยวชาญจากยูเอ็น กล่าว พร้อมชี้ว่า การจะพลิกสถานการณ์ให้เป็นบวกได้ ไม่ใช่ว่าจะเลือกผลิตหรือบริโภคอะไร แต่ขึ้นอยู่กับว่า จะผลิตอาหารอย่างไร ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดบนโลกใบนี้

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมให้ความเห็นบนเวที ต่างเห็นตรงกันว่า การร่วมมือกันปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารให้เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก จะเป็นสิ่งที่หยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศให้เข้าสู่ภาวะที่เคยเป็น รวมไปถึงประเด็นท้าทายอื่นๆ ทั้งปัญหาสุขภาพ วิกฤติสภาพอากาศ และปัญหาความอดอยากได้ด้วย