'ฉาย' ชี้ทางรอดธุรกิจสู้ดิสรัป เฟ้นรุ่นใหม่ - ไม่ยึดสูตรสำเร็จเดิม

'ฉาย' ชี้ทางรอดธุรกิจสู้ดิสรัป เฟ้นรุ่นใหม่ - ไม่ยึดสูตรสำเร็จเดิม

ผู้บริโภคเปลี่ยน ธุรกิจต้องปรับ “ซีอีโอ” เนชั่น แนะผู้นำองค์กรฝ่าดิจิทัลดิสรัป ต้องไม่ยึดติดสูตรสำเร็จเดิมๆ เฟ้นหาคนเก่ง รุ่นใหม่เคลื่อนองค์กร ด้าน “กล้า" ไวซ์ไซท์ ชี้แพ้-ชนะ แข่งกันด้วยนวัตกรรม ขณะ “เก๋ไก๋ สไลเดอร์” เผยคอนเทนท์ปังต้องอ่านอินไซด์คนดู

ธุรกิจยังเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง นับจาก “ดิจิทัล” เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างสิ้นเชิง เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยน กลายเป็นปัจจัยที่พลิกธุรกิจอีกทอด จนเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ ดังนั้น ธุรกิจจึงยึดติด “สูตรสำเร็จ” ตลอดจนกลยุทธ์ในอดีตไม่ได้ แต่ต้องปรับตัว เพื่อให้เข้ากับบริบทสังคม ตลาด ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย สร้างความอยู่รอด ตลอดจนการเติบโต

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC จัดหลักสูตร Digital Transformation for CEO เพื่ออัพเดทข้อมูลความรู้ ตลอดจนสถานการณ์ของโลกดิจิทัล ที่มีผลต่อธุรกิจ พร้อมเชิญผู้คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจหลากหลายเซ็กเตอร์ ตลอดจนคนดัง ทั้งเน็ตไอดอล อินฟลูเอ็นเซอร์มาบรรยายในหัวข้อต่างๆ พร้อมกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพื่อเป็น “บทเรียน” ให้ผู้บริหารองค์กรต่างๆได้นำไปประยุกต์ ปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง

นายฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) บรรยายในหัวข้อ Media Disruption : How The Media Business Must Move Towards  กรณีศึกษา : Nation  ว่า เมื่อธุรกิจ “สื่อ” หรือ Media คือตัวกลาง ซึ่งในอดีตมีอิทธิพลต่อการรับชมต่อผู้บริโภคอย่างมาก แต่ปัจจุบันธุรกิจที่เป็นตัวกลางจะหายไป เนื่องจากมีแพลตฟอร์มใหม่ๆเกิดขึ้นจำนวนมาก อีกทั้งผู้บริโภคชาวไทย 69 ล้านคน ล้วนมีอุปกรณ์การสื่อสารอย่างมือถือมากถึง 92 ล้านเลขหมาย การใช้งานอินเตอร์เน็ต 9 ชั่วโมง 11 นาทีต่อคนต่อวัน เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น จึงพร้อมทำหน้าที่รายงานข้อมูลข่าวสารทันที

“BCC”โมเดลทรานส์ฟอร์มเครือเนชั่น

ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เครือเนชั่น ซึ่งเป็นสถาบันข่าวอายุ 49 ปี ต้องเดินหน้าทรานส์ฟอร์มองค์กรเพื่อความอยู่รอด ด้วยการวางโมเดลธุรกิจ BCC ด้วยการให้ความสำคัญกับแบรนด์ (Brands) สื่อในเครือทั้ง 8 เช่น เนชั่นทีวี กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ คมชัดลึกฯ หลากหลายแพลตฟอร์ม และนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกัน เจาะกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม ด้านคอนเทนท์(Contents) ยึดมั่นในอุดมการณ์ จริยธรรมฯ พร้อมเสิร์ฟคอนเทนท์ให้หลากหลายทั้งข่าวด่วน ข่าวธุรกิจ การเมือง ข่าวต่างประเทศ เทคโนโลยีฯ การต่อยอดชุมชนคนดู (Community) ซึ่งเครือมีฐานผู้ชมที่เสพคอนเทนท์ทุกแพลตฟอร์มมากถึง 10 ล้านครั้งต่อวัน

ดันรายได้จากแพลตฟอร์มใหม่

ส่วนแนวทางการหารายได้ โดยเฉพาะเม็ดเงินโฆษณา จะไม่จำกัดเพียงแพลตฟอร์มเดิม เช่น สิ่งพิมพ์ แบนเนอร์บนเว็บไซต์ เพราะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแบรนด์ต่างๆ แต่จากนี้ไปจะครอบคลุมทุกช่องทางมากขึ้นทั้งทีวี สิ่งพิมพ์ ออนไลน์ สื่อโฆษณานอกบ้าน

นอกจากนี้ การเพิ่มความหลากหลายในการหารายได้ ยังมีการต่อยอดจากโมเดล BCC เช่น ด้านคอนเทนท์ จะมุ่งรายได้จากโฆษณา แบรนด์จะมีการจัดอีเวนท์ เช่น การสัมมนา กิจกรรมวิ่งฯ มากขึ้น ซึ่งปีนี้มีราว 80 อีเวนท์ ด้านคอมมูนิตี้ มีการจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ประเดิมหลักสูตร Digital Transformation for CEO เพื่อเป็นการชิมลางตลาด และปีหน้าจะเพิ่มจำนวนเป็น 2 หลักสูตร การสร้างประสบการณ์การเดินทาง หรือ Tour & Experience โดยใช้จุดแข็งการมีพิธีกร และเชิญนักแสดงชั้นนำร่วมทริป ส่งผลให้อัตรากำไรสูงกว่าการทำทัวร์โดยทั่วไปที่มีกำไม่ถึง 10%

ผนึก“แฮปปี้ โปรดักท์”รุกโฮมชอปปิง

ขณะที่ออนไลน์ ได้ผนึกพันธมิตร แฮปปี้ โปรดักท์ เพื่อผลิตสินค้าทำตลาดโฮมชอปปิง สร้างรายได้เฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อวัน และแนวโน้มการจำหน่ายสินค้าผ่านทางทีวีดีขึ้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคตัดสินใจซื้อเร็ว 2-10 นาที ต่างจากอดีตอาจต้องใช้เวลาราว 30 นาทีเพื่อโน้มน้าวการซื้อ

นอกจากนี้ การทำธุรกิจสื่อที่มีผู้บริโภครับชมรายการผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ยังทำให้ได้ฐานข้อมูล(Data)แบบ 360 องศา และรู้พฤติกรรมผู้บริโภคแบบเรียลไทม์ ทำให้บริษัทนำไปต่อยอดในการวางกลยุทธ์การตลาดแบบเฉพาะเจาะจงแต่ละบุคคลมากขึ้น(Personalize) เพื่อให้ลูกค้าสินค้าและบริการต่างๆที่มาลงโฆษณาแล้ววัดผลความคุ้มค่าในการลงทุนได้มากขึ้น

ต้องไม่ยึดติดความสำเร็จเดิม

“องค์กรที่จะทรานส์ฟอร์มสู่ยุคดิจิทัล ต้องไม่ยึดติดกับผู้นำ และประสบการณ์ในอดีตที่เคยรุ่งเรือง เพราะอาจไม่เหมาะสมกับองค์กรยุคนี้แล้ว ขณะเดียวกันองค์กรที่เชื่องช้าอาจหมายถึงมะเร็งที่ทำลายธุรกิจ การจะเคลื่อนธุรกิจจึงตัองคิดใหม่ และโลกในอนาคตจะต้องมี Eco System รวมถึงต้องมีพันธมิตรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น สตาร์ทอัพ คนรุ่นใหม่เพื่อปลั๊กอินธุรกิจให้มีซีนเนอร์ยี และลดกำแพงตัวเองลง”

นายกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด บรรยายในหัวข้อ How is Digital Transformation Changing Marketing กรณีศึกษา : Wisesight โดนหยิบยกการล่มสลายของโนเกีย มือถือที่เคยมีส่วนแบ่งทางการตลาด 95% และการบุกตลาดของแอปเปิล จากธุรกิจคอมพิวเตอร์มาสู่มือถือ ที่ไม่ใช่การเปลี่ยนธุรกิจ คือเป็นการเปลี่ยนลูกค้า

แพ้-ชนะด้วย“ด้าต้า-นวัตกรรม”

ทั้งนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนจากอนาล็อคสู่ยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะทำอะไรจะมีการบอกเล่า แบ่งปันเรื่องราวลงบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะหากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง เช่น มีแมลงวัน หรือสิ่งแปลกปลอมบนอาหารจะโพสต์และตำหนิแบรนด์สินค้าและบริการให้โลกรู้ทันที พร้อมติดแฮชแท็กแบรนด์ ระบุสถานที่ของร้านค้าและบริการ

นอกจากนี้ ผลวิจัยระดับโลกตอกย้ำความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคโดยใช้โซเชียลมีเดียเพื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า 54% หากสินค้าดีจะแนะนำแบรนด์ให้เพื่อนและครอบครัวใช้ 71% และเชื่อผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด(อินฟลูเอ็นเซอร์) 49% จากอดีตซื้อเพราะความคุ้นเคย

อย่างไรก็ตาม การจะประสบความสำเร็จในธุรกิจอดีตแข่งขันด้วยทรัพยากรที่มี ถัดมาแข่งขันด้วยการดำเนินงาน(โอเปอร์เรชั่น)ผลิตต้นทุนต่ำ กระจายสินค้าทั่วถึง แต่ปัจจุบันวัดผลแพ้ชนะด้วยนวัตกรรมและดาต้า

คอนเทนท์โดนต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมาย

นางสาวณัฐธิชา นามวงษ์ เน็ตไอดอล และยูทบเบอร์ เจ้าของช่อง Kaykai Salaider  บรรยายหัวข้อ The Future of Content Creation อนาคตของการทำคอนเทนต์ กรณีศึกษา : Youtuber เก๋ไก๋ ในฐานะที่เป็นยูทูบเบอร์เพียงรายเดียวของอาเซียนที่มีผู้ติดตาม 11.5 ล้านราย บนช่องทางยูทูป และทำรายได้จากการรับชม(วิว)หลักล้านบาทต่อเดือน (ไม่นับสปอนเซอร์) เล่าว่า การทำคอนเทนท์ให้โดนใจผู้บริโภค ต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมาย และเข้าใจความต้องการ ซึ่งคนที่ดูยูทูบส่วนใหญ่เป็นเด็ก วัยรุ่นทำให้เน้นรายการบันเทิง ให้ความสนุกแก่ผู้ชมเป็นหลัก

“การทำคอนเทนท์ ต้องยึดคนดูเป็นสำคัญ และไม่เน้นยัดเยียดเนื้อหาต่างให้ผู้ชมมากเกินไป”