“ปตท.สผ.”ปรับกลยุทธ์เติบโต5ปี หันรุกผลิตปิโตรฯเพิ่มเฉลี่ย5-7%

“ปตท.สผ.”ปรับกลยุทธ์เติบโต5ปี หันรุกผลิตปิโตรฯเพิ่มเฉลี่ย5-7%

ปตท.สผ.เตรียมปรับกลยุทธ์ลงทุน 5 ปี(2563-2567) รุกขุดเจาะสำรวจใน 5 ประเทศหลัก แทนการเข้าซื้อกิจการ ดันเป้ากำลังผลิตปิโตรเลียมเติบโตเท่าตัวเฉลี่ยปีละ 5-7% แตะ 6 -7 แสนบาร์เรลต่อวัน คาดใช้งบลงทุนปีละ 1.7 - 2 พันล้านดอลในช่วง 4 ปี

157365530297 เปิดเผยว่า บริษัท ตั้งเป้าหมายในช่วง 5 ปีข้างหน้า(ปี 2563-2567) จะมีกำลังการผลิตปิโตรเลียมเติบโตเท่าตัว หรือมีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 6-7 แสนบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-7% จากปีก่อนมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 3.5 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นผลจากการปรับกลยุทธ์การลงทุนหันมาเน้น ด้าน Execute ที่เป็นการมุ่งเพิ่มกำลังการผลิตและปริมาณสำรองปิโตรเลียม จากการขุดเจาะสำรวจและพัฒนาโครงการหลักที่มีอยู่ในมือ และรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยนับจากนี้ไปจะหยุดกิจกรรมด้านการเข้าซื้อกิจการลง

หลังจากในปีที่ผ่านมา บริษัท ประสบความสำเร็จตามกลยุทธ์ Expand ที่การขยายกิจการด้วยการชนะการประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) 2 แหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ของประเทศ คือ แหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช ที่จะสิ้นสุดสัญญาณสัมปทานเดิมลงในปี 2565-2566 ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตส่วนใหญ่ใน 5 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นจาก 2 แหล่งนี้เป็นหลัก และการเข้าซื้อกิจการของเมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ในมาเลเซีย ที่เสร็จสิ้นในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ ปตท.สผ.กลายเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(E&P)ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในมาเลเซีย และมีกำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ อยู่ที่ 5หมื่นบาร์เรลต่อวัน เป็น 7หมื่นบาร์เรลต่อวันในปีหน้า

รวมถึงการเข้าซื้อสัดส่วนการถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท พาร์เท็กซ์ โฮลดิ้ง บี.วี. ที่เป็นโครงการผลิตน้ำมันบนบกที่มีศักยภาพและขนาดใหญ่ที่สุดในโอมาน ส่งผลให้ บริษัทรับรู้กำลังการขายเพิ่มขึ้นราว 20,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5 ปี จะรักษาให้อยู่ที่ระดับ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนในปีนี้ จะมีกำลังการผลิตปิโตรเลียมอยู่ที่ 4.2 แสนบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากต้นปีนี้ ที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 3.7แสนบาร์เรลต่อวัน

โดยในช่วง 4 ปีจากนี้ บริษัท ได้ตั้งงบลงทุนราวปีละ 1.7- 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อรองรับขยายการลงทุนตามแผนงาน และในปี 2563 มีแผนที่จะใช้งบลงทุนประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ สำหรับรุกกิจการด้านการขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมเพิ่มเติม 20 หลุม จากปกติจะขุดหลุมผลิตฯประมาณปีละ 1-3 หลุม เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ตามเป้าหมาย และการขุดหลุมผลิตฯส่วนใหญ่จะเน้นโครงการในมาเลเซียราว 11 หลุม

อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนการลงทุนช่วง 5 ปี(ปี2563-2567) เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด) พิจารณาและจะประกาศแผนที่ชัดเจนได้ในช่วงเดือน ธ.ค.นี้

“ในช่วงต้นปีนี้บริษัทได้สร้างกำลังการผลิตเพิ่มจากการชนะประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช การเข้าซื้อเมอร์ฟี่ ออยล์ฯ และซื้อสัดส่วนหุ้นจากพาร์เท็กซ์ฯ ซึ่งภาพการเติบโตจะชัดเจนใน 4-5 ปีข้างหน้า กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปลายปีก่อนเฉลี่ย 5-7% จากการเดินหน้าขุดเจาะสำรวจฯที่มากขึ้น แต่หลังจาก 5 ปีไปแล้ว มองภาพการเติบโตของบริษัทจะไม่รุนแรง หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 1-2% เนื่องจากบริษัทฐานการกำลังการผลิตใหญ่ขึ้น” นายพงศธร กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัทมีโครงการลงทุนใน 15 ประเทศ แต่จะเน้นการลงทุนใน 5 ประเทศหลัก คือ ไทย มาเลเซีย เมียนมา โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE) ซึ่งจะเพิ่มการลงทุนด้านสำรวจและผลิตตามวิสัยทัศน์ใหม่ “Energy Partner of Choice” ที่เชื่อว่าการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสร้างเติบโตไปด้วยกันมีความสำคัญมากกว่าการแข่งขัน โดยจะเร่งสำรวจในพื้นที่ที่ได้มาทั้งในเมียนมาและมาเลเซีย ให้สามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้เร็วขึ้น อาทิ แหล่งก๊าซฯจากหลุมลัง เลอบาหา-1อาร์ดีอาร์2 ในแปลงเอสเค 410บี และโครงการ MD7 เป็นต้น

สำหรับความคืบหน้าโครงการแหล่งมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ในประเทศแคนาดา และแหล่ง Cash Maple ในออสเตรเลีย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหาผู้ร่วมทุน หรือขายโครงการออกไป โดยแหล่งCash Maple คาดว่า จะมีความชัดเจนในไตรมาส1 ปีหน้า ขณะที่ แหล่งมาเรียนา อยู่ระหว่างทบทวนแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง หากราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยอมรับว่าทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ยาก หากจะคุ้มค่าต่อการลงทุนต้องเป็นราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 90-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ฉะนั้นมีความเป็นไปได้ทั้งการขายออกไปหรือคืนสัมปทาน