เปิด 6 ประเด็น ทร.ให้ถ้อยคำศาลปกครอง หวั่นคืนสิทธิ์ “กลุ่มซีพี” กระทบประมูลงานรัฐ

เปิด 6 ประเด็น ทร.ให้ถ้อยคำศาลปกครอง  หวั่นคืนสิทธิ์ “กลุ่มซีพี” กระทบประมูลงานรัฐ

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นอีกหนึ่งเมกกะโปรเจกที่มีเรื่องร้อนๆ แรงๆ ให้ต้องลุ้นกันและอีกหนึ่งความเห็นต่างในการประมูลงานโครงการนี้ได้ถูกเรียบเรียงใหมให้เข้าใจโดยง่ายก่อนเดินหน้าไป จากรายงานชิ้นนี้

การพิจารณาคดีนัดแรกของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อ.381/2562 ระหว่างบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวกรวม 5 คน (กลุ่มซีพี)ในฐานะผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี

ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดนไม่ชอบในกฎหมาย กรณีมีมติไม่รับซองข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีบางรายการได้แก่ข้อเสนอกล่องที่ 6 ด้านข้อเสนอทางเทคนิคและแผนธุรกิจ และข้อเสนอกล่องที่ 9 ด้านราคา ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้รับคำฟ้องในวันที่ 11 ต.ค.2562

โดยองค์คณะตุลาการศาลปกครองได้มีการเปิดโอกาสให้ตัวแทนคู่กรณีทั้ง 2ฝ่ายแถลงถ้อยคำต่อศาลด้วยวาจา โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ

มีพล.ร.ต.เกริกไชย วจนาภรณ์ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯเป็นผู้แถลงถ้อยคำด้วยวาจาด้วยตนเอง  โดยการแถลงด้วยวาจาของ พล.ร.ต.เกริกไชยต่อศาลปกครองในวันนั้นได้ชี้แจงสาระสำคัญของการประมูลโครงการเมืองการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกโดยมีสาระสำคัญใน 6 ประเด็นดังนี้

1.การประมูลโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อประเทศ ด้วยมีมูลค่าการลงทุนถึง 2.7 แสนล้านบาท และเป็นโครงการที่รัฐบาลตั้งใจที่จะพัฒนาให้เป็นสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่ของประเทศในอนาคต โครงการนี้กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการและเป็นผู้จัดการประมูลได้ออกแบบการประมูลโดยจัดทำข้อกำหนดเอกสารที่ใช้ประกอบการซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) โดยกำหนดให้ “เวลา” ในการประมูลเป็นสาระสำคัญโดยมีการกำหนดระยะเวลาในการยื่นเอกสารที่ชัดเจนคือ 9.00 - 15.00 น. ของวันที่ 21 มี.ค.2562 และกำหนดสถานที่จุดยื่นเอกสารและลงทะเบียนรับเอกสารไว้ที่จุดเดียวคือห้องรับรอง และในจุดดังกล่าวกองทัพเรือได้ติดตั้งนาฬิกาไว้ 2 เรือนคือนาฬิการะบบดิจิทัลและระบบอนาล็อกเพื่อบอกเวลาและเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้เข้าประมูลโครงการเห็นถึงความสำคัญของเวลาในการยื่นเอกสารการประมูล

2.ในข้อกำหนด RFP ที่คณะกรรมการคัดเลือกฯได้จัดทำขึ้นเป็น RFP ที่กองทัพเรือทำขึ้นเทียบเคียงกับ RFP ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ - ดอนเมือง - อู่ตะเภา) ซึ่งได้มีการลงนามในสัญญาการประมูลระหว่างภาครัฐและเอกชนไปเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยในการประมูลโครงการดังกล่าวกลุ่มบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูล “มีสายสัมพันธ์” กับกลุ่มเอกชนที่ยื่นฟ้องคดีต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดในโครงการรถไฟความเร็วสูงกลุ่มเอกชนสามารถที่จะดำเนินการตาม RFP ได้แต่ในโครงการเมืองการบินอู่ตะเภาฯจึงมีปัญหาในการยื่นเอกสาร ซึ่งข้อกำหนดใน RFP ได้พิสูจน์แล้วว่าวิญญูชนทั่วไปสามารถทำได้รวมทั้งในโครงการรถไฟความเร็วสูงก็ปรากฎว่าเอกชนผู้ชนะการประมูลสามารถทำได้โดยไม่มีปัญหา แต่ในโครงการนี้ผู้ฟ้องคดีส่งเอกสารล่าช้าโดยอ้างว่าการจราจรติดขัด ทั้งที่จริงแล้วสภาพจราจรถือเป็นสภาพแวดล้อมเดียวกันที่เอกชนทุกรายที่เข้าประมูลต้องเจอสภาพแวดล้อมเดียวกันแต่รายอื่นๆสามารถเข้ามายื่นเอกสารได้ทันเวลา

3.การยื่นเอกสารไม่ทันเวลาของผู้ฟ้องคดีเกิดขึ้นภายหลังการมายื่นเอกสารใน “ซอง 0” ในขั้นตอนการมาแสดงตัวและลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมการประมูลโดยการมายื่นในครั้งแรกผู้ฟ้องคดีมีเอกสารมา 8 กล่องขาด 2 กล่องและเป็นเอกสารสำคัญในเรื่องราคา เทคนิคและแผนธุรกิจ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? สิ่งที่เป็นไปได้ก็คือผู้ฟ้องคดีมีการมายื่นก่อนและประเมินคู่ต่อสู้แล้วมีการเปลี่ยนข้อเสนอของตนเองภายหลังในช่วงของการใกล้จะถึงเส้นตายการยื่นเอกสาร ทำให้ยื่นเอกสารไม่ทัน ซึ่งหากปล่อยให้มีการดำเนินการในลักษณะนี้ได้ก็จะส่งผลต่อการประมูลงานภาครัฐในอนาคตเพราะจะเกิดการ “ประเมินคู่าต่อสู้” ในระหว่างที่มีการยื่นเอกสาร ทำให้ข้อกำหนดในระยะเวลาหมดความสำคัญ และจะมีคดีความในลักษณะนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลอีกมากในอนาคต

4.ข้อกำหนดเรื่องเวลาถือว่าเป็นข้อกำหนดที่สำคัญในการประมูลงานและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เนื่องจากเป็นบรรทัดฐานที่จะต้องยึดถือปฏิบัติเพื่อไม้ให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันและมีความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยมีตัวอย่างคดีของกรมทางหลวงชนบทที่เอกชนยื่นเอกสารการประมูลล่าช้าไปเพียง 39 วินาที ก็เคยมีคำตัดสินมาแล้วว่าเอกชนไม่สามารถเข้าสู่การประมูลต่อไปได้ ดังนั้นหากมีการคืนสิทธิ์ให้กับผู้เข้าร่วมการประมูลที่ยื่นเอกสารล่าช้าจะก่อให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ในการประมูลงานภาครัฐ

5.การคืนสิทธิ์ให้กับเอกชนที่ยื่นเอกสารล่าช้าจะสร้างค่านิยมที่ไม่ถูกต้องในการประมูลงานภาครัฐ โดยตามที่ผู้ฟ้องร้องบอกว่าการเปิดเอกสารทั้งหมดจะสร้างผลประโยชน์ที่สูงสุดให้กับภาครัฐ ก็ยังไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ เพราะขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯยังไม่ได้มีการเปิดข้อเสนอทางด้านราคา อย่างไรก็ตาม​ผลประโยชน์ของรัฐที่จะพึงได้จากโครงการนี้ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องตัวเงินเท่านั้น แต่คือการดำเนินการที่ถูกต้องและยุติธรรม ​โดยเอกชนผู้เข้ายื่นประมูลอีก 2 รายได้ยื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมกับคณะกรรมการคัดเลือกฯโดยขอให้ยึดหลักความถูกต้องและยึดตามข้อกำหนดใน RFPที่กำหนดเกี่ยวกับการยื่นเอกสารการประมูลอย่างเคร่งครัดโดยไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบกันในทุกขั้นตอนการประมูล

และ 6.หากคืนสิทธิ์ให้กับผู้ฟ้องคดีให้กลับมาเข้าร่วมการประมูลในโครงการนี้ได้จะส่งผลทำให้เกิดความท้อแท้ใจของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง  แม้แต่ตนเองที่ทำงานการประมูลและจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมาเกินกว่า 10 ปีก็ไม่เคยเจอกรณีแบบนี้ ทั้งนี้ในโครงการนี้ที่ทุกคนยึดถือกฎเกณฑ์ความถูกต้องแต่กลับถูกเอกชนฟ้องร้องได้

"หากมีการคืนสิทธิ์ให้กับผู้ประมูลฯก็จะเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิด สังคมจะคลางแคลงสงสัยว่าคดีนี้มีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะคดีนี้เป็นที่จับตาอย่างมากเนื่องจากเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ จึงต้องยึดถือความถูกต้องโปร่งใส ในกระบวนการคัดเลือกตั้งแต่แรกไม่ควรให้เกิดคำถามว่าทำผิดแต่เสนอผลตอบแทนที่สูงแก่รัฐก็สามารถกลับมาเสมือนไม่มีความผิดได้ โดยกองทัพเรือได้เสนอให้มีการนำคดีนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดแล้ว