"กรมวิทย์ฯ" หนุน "อีอีซีไอ" ผุด 2 โปรเจควิจัยไฮเทค

"กรมวิทย์ฯ" หนุน "อีอีซีไอ"  ผุด 2 โปรเจควิจัยไฮเทค

กรมวิทยาศาสตร์บริการ เร่งพัฒนาระบบรับรองคุณภาพมาตรฐาน หนุนวิจัยไฮเทค ผลักดัน "อีอีซีไอ" อุตสาหกรรมเป้าหมาย

การพัฒนาอุตสาหกรรม s–curve จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาระบบรับรองคุณภาพมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั่วโลก รวมทั้งยังต้องมีการวิจัยเทคโนโลยีชั้นสูงภายในประเทศ เพื่อเป็นฐานความรู้ในการต่อยอดไปสู่การเป็นผู้นำในการผลิตสินค้าไฮเทคต่อไปในอนาคต โดยหนึ่งในหน่วยงานที่สำคัญก็คือกรมวิทยาศาสตร์บริการ ที่ได้พัฒนาหลายโครงการเพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีในพื้นที่อีอีซี

นิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการมีบทบาทสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (s–curve) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ที่จำเป็นต้องจัดทำมาตรฐานเข้ามารองรับ ให้ต่างชาติมั่นใจในคุณภาพสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงของไทย

โดยที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นหน่วยงานเดียวของไทยที่ได้รับการรับรองจาก ILAC MRA ด้านการรับรองผู้จัดกิจกรรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ซึ่งหน่วยงาน ILAC ได้มีสำนักงานใน 5 ภูมิภาคทั่วโลก โดยในส่วนของสำนักงานเอเชียแปซิฟิก (APAC) ได้จัดอันดับให้กรมวิทยาศาสตร์บริการมีคุณภาพอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ของเอเชียแปซิฟิก รองจากประเทศจีน , สหรัฐและอินเดีย

หากห้องแล็ปใดที่กรมฯให้การรับรอง สินค้าต่างๆที่ผ่านการทดสอบของห้องแล็บเหล่านี้ ก็ได้มาตรฐานเป็นที่เชื่อถือไปทั่วโลก รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการวิจัยพัฒนา และการผลิตของภาคเอกชน ที่ไม่ต้องนำสินค้าไปทดสอบที่ห้องแล็บต่างประเทศ ที่มีค่าดำเนินการสูงมาก

ในส่วนของการสนับสนุนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กรมฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดยได้ดำเนินงานใน 2 โครงการหลัก ได้แก่ 1. โครงการวิจัยพัฒนาและทดสอบสมรรถนะยานยนต์สมัยใหม่และโลจิสติกส์ และ2. โครงการนวัตกรรมวัสดุคอมโพสิท โดยในส่วนของ 

โครงการวิจัยพัฒนาและทดสอบสมรรถนะยานยนต์สมัยใหม่ จะมี 2 ระยะ ระยะแรกจะพัฒนารถไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 3 หรือเป็นระดับที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ แต่ต้องมีมนุษย์อยู่ด้วย เพื่อเข้ามาควบคุมรถในกรณีฉุกเฉิน และจะต้องใช้ในพื้นที่ปิด โดยได้ร่วมกันบริษัทแสนสิริ นำรถไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติขนาดเล็กใช้ในสมาร์ทซิตี้ของ บ.แสนสิริ คาดว่าจะเปิดโครงการนี้ได้ในช่วงปลายเดือนธ.ค.นี้

ส่วนระยะที่ 2 จะพัฒนารถยนต์ขับคลื่อนอัตโนมัติในรูปแบบมินิชัตโต้ รองรับผู้โดยสารได้ 10-15 คน คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในปี 2564 โดยโครงการนี้จะร่วมมือกับภาคเอกชนในธุรกิจต่อรถบัสของไทยที่จะมาเข้าร่วมประมาณ 5 ราย ในโครงการ Thai autonomous vehicles consortium เพื่อผลิตเป็นสินค้าที่นำไปจำหน่วยในเชิงพาณิชย์ได้ โดยรถยนต์อัตโนมัติที่ผลิตได้จะนำไปใช้ในโครงการของแสนสิริ และในพื้นที่ อีอีซีไอ

“ตลาดรถโดยสารขับเคลื่อนอัตโนมัติขนาดเล็กนี้ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากในพื้นที่ปิดต่างๆ เช่น โครงการคอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร ท่าเรือ สนามบิน และมหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งจะเป็นบันไดขั้นแรกของการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่เป็นฝีมือคนไทย”

157365351926

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ทำการวิจัยในเรื่องระบบสนับสนุนคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า แผนที่ดิจิทัลอย่างละเอียด ซึ่งจะเข้ามาช่วยการนำทางของหุ่นยนต์ รถยนต์อัตโนมัติ และช่วยในการบำรุงรักษาถนน และระบบสารสนเทศแก้ไขปัญหาจราจร 

รวมทั้งยังได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทดสอบรถยนต์อัตโนมัติ เพื่อจัดทำมาตรฐานอุปกรณ์ของรถยนต์อัตโนมัติ และระบบความปลอดภัยต่างๆ ด้วย เนื่องจากการพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติให้เหมาะสมกับประเทศไทย และมีความปลอดภัย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนที่อย่างละเอียดเฉพาะเจาะจงของประเทศไทยที่แตกต่างจากที่อื่น มีระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านจราจรรองรับ 

การพัฒนาเหล่านี้จะทำให้หลุดพ้นจากการเป็นผู้ตามทางเทคโนโลยี และยกระดับไปสู่ประเทศที่ก้าวทันเทคโนโลยี ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทย ก็สามารถนำไปประยุกต์ผลิตสินค้าระบบอัตโนมัติที่เหมาะสมกับภูมิภาคนี้ได้ในอนาคต เพราะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน

ส่วนของโครงการนวัตกรรมวัสดุคอมโพสิท มีเป้าหมายเพื่อวิจัยพัฒนาวัสดุสำหรับยานยนต์สมัยใหม่ และชิ้นส่วนอากาศยาน โดยได้ร่วมมือกับบริษัท เจ ฟอกซ์ แอร์คราฟท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินเล็กของคนไทย ทำการวิจัยพัฒนาและทดสอบเชิงกลวัสดุและชิ้นส่วนคอมโพสิทเพื่อพัฒนาเครื่องบินขนาดเล็กจากคาร์บอนไฟเบอร์เสริมแรงโพลิเมอร์ ซึ่งนอกจากจะแข็งแรงและมีน้ำหนักเบาแล้วยังมีคุณสมบัติพิเศษสามารถนำประจุไฟฟ้าที่เกิดจากฟ้าผ่ามาชาร์จแบตเตอรี่ของเครื่องบินได้ ทำให้เครื่องบินเล็กของไทยมีจุดเด่นมากกว่ารายอื่น

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับ บริษัทที.เค.ดี ไฟเบอร์ จำกัด (แครี่บอย) พัฒนาวัสดุคอมโพสิตและนาโนที่ใช้ผลิตโครงสร้างผนังรถพยาบาล รถกู้ชีพ และรถกู้ภัย ที่มีความแข็งแกร่งและเบากว่าแบบเดิมที่ทำจากอลูมิเนียมประกบโฟมกันกระแทก

รวมทั้งยังมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถฆ่าเชื้อได้ ทำให้รถพยาบาลมีความปลอดภัยมากขึ้น และยังได้ร่วมกับบริษัท ไทยลามิเนต แมนูแฟคเจอเรอร์ จำกัด วิจัยพัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์แผ่น PCB ประเภทใยแก้วพรีเพ็ก เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่มีรูปแบบเป็น IoT และรองรับ 5G รวมทั้งยังมีโครงการพัฒนางานบริการทดสอบด้านหุ่นยนต์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย

งานด้านวิทยาศาสตร์กำลังจะกลายเป็นการเสริมความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยการต่อยอดเทคโนโลยีชั้นสูงของไทยเองให้ทัดเทียมระดับสากล