‘เบทาโกร-รามา’ เปิดงานวิจัยใช้ 'ชีวสังเคราะห์' กำเนิดสิ่งใหม่

‘เบทาโกร-รามา’ เปิดงานวิจัยใช้ 'ชีวสังเคราะห์' กำเนิดสิ่งใหม่

เวทีเสวนา “จากศาสตร์สู่การนำไปใช้ SynBio : Connecting Science with Business and Life” ในงานสัมมนาประจำปีหัวข้อ “SynBio Forum 2019 : ชีวนวัตกรรม ศาสตร์เปลี่ยนโลก” โดย บมจ.บางจาก เพื่อสร้างการรับรู้และนำเสนอการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีจากอนาคต

เบทาโกรเปิด 4 โครงการวิจัยชีวสังเคราะห์

นายสัตวแพทย์ รุจเวทย์ ทหารแกล้ว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยและพัฒนา เครือเบทาโกร กล่าวว่า เบทาโกรให้ความสนใจในเทคโนโลยีชีวสังเคราะห์ หรือ Synthetic Biology ตั้งแต่เริ่มธุรกิจในปี 2548 ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสร้างโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจ สร้างผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้กับผู้บริโภคและเพื่อเป็นบันไดสู่องค์กรพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ทั้งในเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) การดื้อของเชื้อจุลชีพที่มีต่อยาปฏิชีวนะ(Antimicrobial resistance: AMR) การพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่ม Plant-based food

157364756269

ในส่วนของศูนย์วิจัยฯ ได้ดำเนิน 4 โครงการวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ได้แก่ 1.การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเซลล์แบคทีเรียให้สร้างโปรตีนเปปไทด์ใช้ควบคุมภาวะความดันโลหิตสูง น่าจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ในอนาคตอันใกล้นี้, โครงการระดับเมกะโปรเจคใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมย้อนรอยเพื่อพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสพีอีดีในสุกร ไวรัสนี้สร้างความเสียหายมหาศาลคิดเป็นมูลค่า 6-7 พันล้านบาทให้แก่ผู้เลี้ยงสุกรเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังไม่พบโรคนี้ แต่ก็มีโอกาสกลับมาซ้ำอีก จึงจำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนนี้

อีกสองโครงการเป็นเรื่องเดียวกันแต่ร่วมมือกับคนละหน่วยงาน เป็นการผลิตเอนไซม์ไฟเตส (phytase) ซึ่งใช้ปริมาณมากในอาหารสัตว์ มีมูลค่าการนำเข้ากว่าพันล้านบาท ด้วยการทำพันธุวิศวกรรมแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติในการสร้างเอนไซม์ไฟเตสด้วยตัวของมันเอง

“การพัฒนาและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีระดับสูงนี้ จำเป็นต้องตระหนักถึง 4 เรื่องหลักคือ ความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosafety) ระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Biosecurity) แง่มุมทางชีวจริยธรรม และ การสเกลอัพงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ถือว่ายังเป็นสิ่งที่ทำได้ยากสำหรับประเทศไทย”

เทคโนโลยีเปลี่ยนเซลล์มะเร็งเป็นยา

สำหรับการใช้ประโยชน์ SynBio ทางการแพทย์นั้น ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (ECDD) มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอนำเสนอโครงการวิจัยและพัฒนายาแอนติบอดี้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ด้วยการใช้เทคโนโลยีด้านพันธุวิศวกรรมดัดแปลงเซลล์มะเร็งให้เป็นเซลล์ภูมิคุ้มกัน (T-cell) ที่สามารถจดจำเซลล์มะเร็งและกระตุ้นให้เกิดการกำจัดได้อย่างเฉพาะเจาะจง

157364749246

ที่สำคัญคือ เซลล์ที่ผ่านการดัดแปลงนี้จะคงอยู่ในร่างกาย เพื่อทำหน้าที่ดักจับเซลล์มะเร็งที่อาจจะเกิดซ้ำใหม่ในอนาคต ทั้งนี้ ผลการวิจัยในต่างประเทศ ที่ทำการศึกษาทดลองในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว พบว่า 27 จาก 30 คนหายขาด แต่ยาแอนติบอดี้มีราคาประมาณ 15 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องทำการวิจัยพัฒนาขึ้นในประเทศเพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาราคาแพง

ทั้งนี้ นักวิจัยทั่วโลกกำลังแข่งขันกันพัฒนายาแอนติบอดี้รักษาโรคมะเร็ง โดยในสหรัฐมีการทดลองทางคลินิก 144 แห่ง และอีก 240 แห่งในประเทศต่างๆ เช่น จีน กลุ่มประเทศอียู ออสเตรเลียอิสราเอล ญี่ปุ่นรัสเซีย สิงคโปร์สหราชอาณาจักรและประเทศไทย

SynBio ศาสตร์บูรณาการวิศวกรรม-ชีววิทยา

อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวในมุมของตัวแทนจากหน่วยงานรัฐว่า SynBio จะเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตคนไทยอย่างแน่นอน จึงต้องมีโครงสร้างพื้นฐานวิจัยวิทยาศาสตร์ไว้รองรับ ยกตัวอย่างที่มีขณะนี้ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยคือ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ และศูนย์การศึกษาจีโนมิกส์ ขณะเดียวกันต้องสร้างระบบสนับสนุนภาคธุรกิจให้เข้าถึงองค์ความรู้จากงานวิจัยขั้นสูงนี้ นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะความรู้ด้านชีววิทยาไว้รองรับ โดยจำเป็นต้องเริ่มจากการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลก ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นยุคของเทคโนโลยีชีวสังเคราะห์ซึ่งเป็นการบูรณาการศาสตร์หลายๆ ด้านเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์และชีววิทยา


“ที่น่ากังวลคือ เด็กไทยไม่สนใจเรียนด้านชีววิทยา ขณะเดียวกันโครงสร้างการศึกษาของเราก็แยกชัดเจนระหว่างวิศวกรรมศาสตร์กับชีววิทยา เด็กที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ก็ไม่ได้เรียนชีววิทยา เด็กที่เรียนชีววิทยาก็ไม่ได้เรียนวิศวกรรมศาสตร์ ขณะที่โลกของเรากำลังจะไปทางด้านเทคโนโลยีชีวนวัตกรรม ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการปรับโครงสร้างทางการศึกษา และถือเป็นโชคดีของประเทศไทยที่มีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นกระทรวงน้องใหม่ที่รวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ากับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ทำให้การพัฒนาทักษะบุคลากรคนรุ่นใหม่เพื่ออนาคตทำได้คล่องตัวขึ้น”

เทคโนโลยีเพิ่มทางเลือกสายกรีน


ด้าน วนิษา เรซ (หนูดี) นักเขียน นักวิชาการ กล่าวในฐานะตัวแทนผู้บริโภคที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและบริโภคอาหารกลุ่ม Plant-based food หรืออาหารที่เน้นพืชเป็นหลักว่า ชีววิทยาสังเคราะห์น่าจะช่วยให้ผู้บริโภคเปลี่ยนใจมารับประทานอาหารจากพืชมากขึ้น และลดการบริโภคอาหารจากสัตว์ เนื่องจากอุตสาหกรรมด้านปศุสัตว์ โดยเฉพาะฟาร์มโคเป็นตัวการหลักที่ปล่อยก๊าซโลกร้อน

157364752815

เธอสนใจ Plant-based food ได้ประมาณ 2 ปี และได้เดินทางไปศึกษาเพิ่มเติมกับผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐ ทำให้เกิดความกระจ่างในหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลที่ระบุว่า โปรตีนจากสัตว์เป็นสิ่งมีประโยชน์สูงสุด มีสารอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการ และการบริโภคโปรตีนจากพืชจะทำให้ขาดกรดอะมิโนจำเป็น รวมถึงวิตามินบี12 แต่จากรายงานการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า วิตามินบี12 ได้มาจากการสังเคราะห์ของจุลินทรีย์ในร่างกาย ไม่ได้มาจากพืชหรือสัตว์ แต่มาจากจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินที่ติดมากับรากพืช ซึ่งบรรพบุรุษของเรากินแล้วส่งต่อมาให้ลูกหลาน ดังนั้น ข้อมูลความรู้ที่ทันสมัยและถูกต้องบนพื้นฐานวิจัยวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ยังเป็นสิ่งที่ต้องสร้างความรู้และเข้าใจให้กับสังคมไทย

เช่นเดียวกับเทคโนโลยี SynBio ที่น่าจะได้รับการตอบรับเช่นเดียวกับเทรนด์การกินอาหารจากพืช หากสามารถตอบโจทย์ให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจและรักษ์โลกในราคาใกล้เคียงกับอาหารจากสัตว์ แต่ปัจจัยสำคัญสุดที่จะทำให้เกิดการยอมรับได้ง่ายขึ้นคือ รสชาติต้องอร่อยและหน้าตาสวยงามน่ารับประทาน