เก้าอี้เอไอเพื่อสุขภาพ สั่งตรงจากวิศวะมหิดล เอาใจหนุ่มสาวออฟฟิศยุคดิจิทัล

เก้าอี้เอไอเพื่อสุขภาพ สั่งตรงจากวิศวะมหิดล เอาใจหนุ่มสาวออฟฟิศยุคดิจิทัล

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โชว์ เก้าอี้เอไอเพื่อสุขภาพ ส่งสัญญาณเตือนเมื่อนั่งผิดท่า ลดความเสี่ยงจากภาวะออฟฟิศซินโดรม นับเป็นอีกหนึ่งความคิดสร้างสรรค์ผนวกกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อชีวิตและสุขภาพของคนวัยทำงานในยุคดิจิทัล

นวัตกรรมจากห้องเรียนสู่ใช้จริง

โลกยุคดิจิทัลวันนี้คนทำงานและชาวออฟฟิศต่างต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานติดต่อกันหลายชั่วโมงต่อวัน ซึ่งหากนั่งในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง อาจเป็นภัยต่อสุขภาพ ทั้งกล้ามเนื้ออักเสบ กระตุก อ่อนแรง ชา หรือปวดเมื่อยตามร่างกาย ล้วนเป็นสัญญาณเตือนอันตรายจาก โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ที่จะลุกลามเป็นปัญหาเรื้อรัง

157364650325


หลายท่านั่งที่ทำลายสุขภาพ ได้แก่ นั่งหลังงอหรือหลังค่อม ส่งผลให้ปวดเมื่อยที่บริเวณหัวไหล่และสะโพก หากสะสมเป็นเวลานานจะทำให้กระดูกผิดรูป นั่งไขว้ห้าง ส่งผลให้กระดูกสันหลังคดได้ในภายหลัง เพราะการนั่งไขว่ห้างเป็นการทิ้งน้ำหนักตัวลงที่ก้นข้างใดข้างหนึ่ง นั่งบนเก้าอี้โดยไม่พิงพนัก หรือนั่งไม่เต็มก้น จะทำให้ฐานในการรับน้ำหนักตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่หลังทำงานหนักกว่าปกติ และเกิดผลเสียต่อกระดูกสันหลังได้


ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2556-2560 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 30.8 ล้านคน เป็นกลุ่มวัยทำงาน (อายุ 15 ขึ้นไป) จำนวน 28.1 ล้านคน โดยผู้ที่ทำงานในสำนักงานมีแนวโน้มที่จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อสูงขึ้น เนื่องจากต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรือทำงานในท่าเดิมซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยตำแหน่งที่มักพบบ่อยคือ บริเวณศีรษะและคอ


ปัญหาจากการนั่งและออฟฟิศซินโดรมนี้เอง ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ทีมวิจัยอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี อาจารย์ที่ปรึกษา, เบญญาภา พฤกษานุศักดิ์ และ ปุณวัชร รุจิวิพัฒน์ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาการนั่งผิดท่าในชีวิตประจำวัน โดยพัฒนาระบบแจ้งเตือนเพื่อช่วยให้คนทำงานนั่งถูกวิธี เป็นการผสมผสานความรู้ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI จนเกิดเป็นผลงานนวัตกรรม เก้าอี้เอไอเพื่อสุขภาพ (AI Ergonomic Chair) ขึ้นมา



เมกเกอร์ในรั้วมหาวิทยาลัย

เบญญาภา พฤกษานุศักดิ์ นักศึกษาภาควิชาคอมพิวเตอร์ในทีมพัฒนา กล่าวว่า โลกยุคดิจิทัลทำให้การนั่งทำงานหน้าจอเป็นสิ่งจำเป็น ทำอย่างไรจะป้องกันปัญหาการนั่งผิดท่าที่ต้นทาง จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาระบบแจ้งเตือน เพื่อช่วยให้นั่งอย่างถูกวิธี ส่วนประกอบหลัก คือ Sensor ตรวจวัดน้ำหนักที่ออกแบบมาเป็นแผงวงจร นำมาประกบติดใต้เบาะเก้าอี้ ข้อดี ทำให้ผู้นั่งเก้าอี้ได้ตระหนักถึงพฤติกรรมการนั่งของตัวเองในแต่ละวัน เพื่อเป็นข้อมูลแนวทางในการปรับปรุงวิธีการนั่งของตัวเองให้ถูกต้องมากขึ้น เทคโนโลยีที่ดีควรใช้ง่ายชีวิตจริง และไม่จำเป็นต้องแพง

157364652996


ปุณวัชร รุจิวิพัฒน์ นักศึกษาภาควิชาคอมพิวเตอร์ในทีมพัฒนา กล่าวว่า นวัตกรรม เก้าอี้เพื่อสุขภาพ (AI Ergonomic Chair) ใช้ระยะเวลาในการคิดค้นวิจัยและพัฒนา 1 ปี ใช้เงินลงทุนเพียง 4,000 บาท มีชิ้นส่วนที่สามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด โดย “เก้าอี้ เอ.ไอ.เพื่อสุขภาพ” นี้ จะสามารถทราบว่าผู้นั่งกำลังนั่งผิดท่าหรือไม่ เมื่อมีคนนั่ง ระบบจะคำนวณน้ำหนักและทำการวิเคราะห์ท่าทางของคนนั่งว่านั่งอยู่ในท่าทางใด โดยระบบแผงวงจร Sensor จะทำงานตรวจวัดค่าน้ำหนัก แล้วจะส่งข้อมูลไปบนคลาวด์ เพื่อทำการประมวลผลด้วย AI และทำการจัดเก็บประวัติการนั่งทำงานของผู้ใช้งานอีกด้วย หากพบว่าผู้นั่งมีการนั่งผิดท่า ระบบก็จะแจ้งเตือนไปยังแอพพลิเคชั่น ให้ผู้นั่งได้ทราบและปรับเปลี่ยนท่านั่งได้ทันที

สำหรับการนั่งด้วยท่านั่งมาตรฐานที่ถูกต้องเพื่อสุขภาพที่ดี ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี ที่ปรึกษาในทีมวิจัย มี 5 ข้อแนะนำ สำหรับชาวออฟฟิศและผู้รักสุขภาพ

157364608017

1.ตำแหน่งที่ถูกต้องของสายตา คือ ให้สายตาอยู่ในระดับเดียวกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือทำมุมประมาณ 10 องศา โดยไม่รู้สึกว่าต้องเงยหน้าขึ้นหรือก้มหน้าลงในการมองหน้าจอ

2.ตำแหน่งของหลัง คือ นั่งหลังตรงให้แผ่นหลังแนบพอดีกับพนักพิง ลำตัวตั้งตรง ไม่โน้มตัวไปด้านหน้า ด้านซ้าย ด้านขวาหรือด้านใดด้านหนึ่ง ปล่อยไหล่ตามสบาย ไม่เกร็ง ไม่ยกไหล่ขึ้น

3.ตำแหน่งที่ถูกต้องของแขน คือ เก็บศอกทั้งสองข้างให้ชิดกับลำตัว โดยให้ส่วนของข้อมือกับข้อศอกอยู่ในแนวเส้นตรง ทำมุม 90 องศากับไหล่

4.ตำแหน่งที่ถูกต้องของข้อมือ คือ วางระนาบเดียวกับคีย์บอร์ดหรือแป้นกด ไม่บิดข้อมือขึ้น หรือกดข้อมือต่ำจนเกินไป

5. ตำแหน่งของขาและเท้า คือ วางเท้าให้ราบกับพื้นทั้ง 2 ข้าง ช่วงขาตั้งฉากกับพื้น โดยทิ้งน้ำหนักลงบนฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ไม่ควรทิ้งนำหนักไว้ที่ส้นเท้า เช่น ท่านั่งเหยียดขา หรือปลายเท้าเช่น ท่านั่งเขย่งเท้า