แนวรบใหม่ Banking-as-a-Service

แนวรบใหม่ Banking-as-a-Service

ถึงวันที่ธนาคารทั่วโลกต้องทรานฟอร์มตัวเอง เพราะไม่เพียงถูกดิสรัปจากเทคโนโลยี แต่ยังต้องเจอกับคู่แข่งที่เข้ามาทุกทิศทาง การทำธุรกิจอย่างโดดเดี่ยวคงไม่สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้อย่างครอบคลุมอีกต่อไป

เมื่อนโยบาย Open Banking ที่ถูกนำร่องไปแล้วในฝั่งยุโรปและอเมริกา กำลังถูกจับตาว่าจะคืบคลานสู่เอเชีย การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของแบงค์ขนาดใหญ่ก็เริ่มส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้น คือการต้องผันตัวเองไปเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์โมเดลธุรกิจใหม่ของการให้บริการทางการเงิน

ล่าสุดแบงค์ใหญ่อันดับต้นๆ ในสหรัฐและในยุโรปออกมาประกาศตัวเองแล้วว่า "เราเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการแบงค์" หลักการของ Open Banking เกิดขึ้นจากการที่ภาครัฐออกกฎให้ธนาคารขนาดใหญ่ ยินยอมเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของลูกค้าให้กับบุคคลที่ 3 ผ่าน API เปิดโอกาสให้องค์กรภายนอกที่ต้องการออกผลิตภัณฑ์ หรือให้บริการทางการเงิน สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อนำเสนอบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเฉพาะรายบุคคลได้อย่างเหมาะสมที่สุดผ่านช่องทาง Online หรือ Mobile Application ซึ่งทำให้การเข้าถึงบริการทางการเงินระหว่างลูกค้ากับธนาคารเจ้าของบัญชีเปลี่ยนแปลงไป

คือลูกค้าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบริการ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารขนาดใหญ่แต่เพียงช่องทางเดียว ธุรกิจ Fintech รายย่อยหรือธุรกิจอื่นๆ ที่สนใจที่จะเข้ามานำเสนอผลิตภัณฑ์ หรือบริการทางการเงินได้ เช่น ธุรกิจค้าปลีก หรือ Tech Company ที่ให้บริการด้านอื่นๆ เช่น เรียกรถแท็กซี่สั่งอาหาร ก็สามารถเข้ามานำเสนอบริการทางการเงินได้ ในอังกฤษสตาร์ทอัพ Fintech จับมือกับห้างสรรพสินค้า และออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้โดยไม่จำเป็นต้องมี Traditional Bank หรือธนาคารเป็นตัวกลาง

เป็น "ตัวเร่ง" ให้ผู้เล่นรายใหญ่ในสายการเงินการธนาคารจำเป็นต้องผันตัวเองไปเป็นบริษัทเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาบริการต่างๆ ให้สามารถแข่งขันได้ และปกป้องฐานที่มั่นเดิมในตลาด เพราะไม่เพียงต้องแข่งขันกับ Fintech รายเล็กเท่านั้น แต่ยังต้องเตรียมรับแนวรบด้านใหม่ เพราะบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกส่วนใหญ่ก็กำลังก้าวสู่ธุรกิจการให้บริการทางการเงิน หรือ Financial Services เช่นกัน

แนวรบใหม่ของการแข่งขันทางด้านการให้บริการทางการเงินกำลังก่อตัวขึ้น "Banking-as-a-Service" (BaaS) คือเทรนด์ที่มาแรงมากในฝั่ง ยุโรปและอเมริกา BaaS คือรูปแบบของการให้บริการโซลูชั่นและเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ทำให้บริษัทที่ไม่ได้เป็นสถาบันทางการเงินสามารถพัฒนาและออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ผ่านระบบของผู้พัฒนา

การเกิดขึ้นของ Banking-asa-Service ทำให้เกิดโมเดลการให้บริการทางการเงินใหม่ๆ ที่สุดน่าจะนำไปสู่โลกของ Financial Inclusion ที่โอกาสทางการเงินจะเปิดกว้างมากขึ้น ตอบโจทย์คนกลุ่มใหญ่และคนกลุ่มใหม่ไปพร้อมๆ กัน การขยายตัวของ Open Banking ถูกมองว่าเป็น Growing pain ความท้าทายถูกผลักกลับไปอยู่ในมือของผู้ควบคุมนโยบายและผู้เล่นเดิมๆ ในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Traditional Bank

สมรภูมิการแข่งขันของสถาบันการเงินกำลังเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน Post Disruption จะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ ที่แน่ๆ แบงค์ใหญ่ในเอเชียและในไทยเองก็กำลังปรับตัวกันอย่างเข้มข้นทั้งเรื่องการลงทุนให้ได้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในพอร์ต

โดยลงทุนในสตาร์ทอัพในสามกลุ่ม คือ กลุ่ม Payment กลุ่ม Data Analytics และกลุ่ม Exchange/ Trading Platform และ Acqui-Hired เข้าซื้อกิจการของสตาร์ทอัพให้ได้คนเก่งๆ เข้ามาอยู่ในองค์กร และสร้างหน่วยธุรกิจใหม่ที่ไม่ขึ้นตรงกับโครงสร้างการบริหารงานแบบเดิม ผู้บริหารแบงค์ใหญ่รายหนึ่งให้ความเห็นว่า อนาคตของแบงค์คือการเตรียมตัวตั้งรับแนวรบใหม่ที่จะมีคู่แข่งเข้ามาจากทุกทิศทุกทาง การ Transform หมายถึงการปรับเปลี่ยนทุกอย่างตั้งแต่โครงสร้างจนถึงวิถีของการทำธุรกิจ เกมนี้ไปไกลกว่าเรื่องของเทคโนโลยี หรือการสร้างนวัตกรรมแล้ว!