องค์กรต้านคอรัปชัน จี้ขึ้นบัญชีดำ 'ซิโน-ไทย'

องค์กรต้านคอรัปชัน จี้ขึ้นบัญชีดำ 'ซิโน-ไทย'

องค์กรต้านคอรัปชัน จี้ขึ้นบัญชีดำ “ซิโน-ไทย” หลังโดนป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอาญาฐานสนับสนุนการจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ 20 ล้านบาท กรณีก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม

จากกรณีที่คณะกรรมการป้องก้นและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ STEC รวมถึงผู้บริหาร ระดับสูงของบริษัทฯ 2 ราย ในฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 รายในการกระทําความผิด กรณีร่วมกันเรียกรับเงินจํานวน 20,000,000 บาท จากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่รับว่าจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อแลกกับการอนุญาตให้ใช้ท่าเทียบเรือชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้า ตลอดจนให้เรือลําเลียงเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายชิ้นส่วนของเครื่องกําเนิดไฟฟ้า โดยไม่ชอบ

ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุกส่วนตัวแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ทันทีหลังจากป.ป.ช.ชี้มูลว่า ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 176 กรณีเช่นนี้ ‘บริษัทซิโน - ไทย’ และ ‘กรรมการ’ อาจต้องโดนลงโทษด้วย ทั้งทางแพ่งและอาญา คดีนี้ต้องชื่นชม ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดโดยไม่ยกเว้นแม้บริษัทที่มีครอบครัวนักการเมืองใหญ่เป็นเจ้าของ

ดร.มานะ ให้สัมภาษณ์เพิมเติมว่า จะเห็นได้ว่าในเรื่องนี้มีการใช้มาตรการกันพยานออกไป คือบริษัทจากญี่ปุ่น ที่เป็นฝ่ายจ่ายเงินก็กันออกไป ดังนั้นถ้ามีการขยายผลแล้วทำให้ประชาชนเข้าใจ ต่อไปไม่ว่าใครก็แล้วแต่ที่ถูกเรียกสินบน ไม่ว่าจะจ่ายไปแล้วหรือยังไม่จ่ายก็กล้าที่จะมาร้องเรียนเพราะว่าทำให้เกิดการแก้ไขเนื่องจากไม่ได้ถูกลงโทษ

 

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาเราเห็นท่าทีของป.ป.ช.ตามข่าวปรากฏเหมือนจะมีการเล่นงานข้าราชการทั้ง 4 คน หลายฝ่ายสงสัยว่าเอกชนที่ติดสินบนจะเกี่ยวข้องอะไรด้วยหรือไม่ แต่ในที่สุดก็ชี้มูลว่าบริษัทผู้รับเหมาคนไทยเข้าไปสนับสนุนการทำผิด ตรงนี้เป็นไปตามที่ควรจะเป็นจึงต้องขอชื่นชมป.ป.ช. เพราะบริษัทนี้เป็นผู้รับเหมาขนาดใหญ่ เป็นธุรกิจครอบครัวของนักการเมืองใหญ่ด้วย ทำให้ประชาชนมั่นใจป.ป.ช.ขึ้นมาระดับหนึ่ง

เมื่อถามว่าบริษัท ซิโน-ไทย เป็นบริษัทที่ได้สัมปทานจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐจะต้องมีมาตรการอะไร อย่างเช่น แบล็คลิสต์หรือไม่ เพื่อป้องกันในอนาคตหรือไม่ ดร.มานะ กล่าวว่า ในปัจจุบันตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างยังไม่มีมาตรการแบล็คลิสต์ไปถึงจุดนั้น แต่ถ้าเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีพฤติกรรมแบบนี้เป็นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์ต้องพิจารณา ควรแจ้งข้อมูลให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ

“แต่มาตรการลงโทษอื่นๆที่จะเข้าไปประมูลงานกับรัฐยังไม่มีมาตรการลงโทษ แต่รัฐบาลควรจะพิจารณามาตรการแบล็คลิสต์หรือมาตรการที่มีบัญชีรายชื่อบริษัทที่เฝ้าระวัง จับตา เป็นพิเศษว่าเคยมีประวัติแบบนี้เกิดขึ้น อาจจะให้คะแนนน้อยลงหรืออยู่ในชั้นของการจัดชั้นผู้รับเหมาก็จะเป็นประโยชน์กับภาครัฐในอนาคต” ดร.มานะ กล่าว

157364010737