'ธนาธร' ชี้โอทีหาย-คนตกงาน เสนอ2ข้อ แก้กำลังผลิตอุตสาหกรรมต่ำสุดรอบ 10 ปี

'ธนาธร' ชี้โอทีหาย-คนตกงาน เสนอ2ข้อ แก้กำลังผลิตอุตสาหกรรมต่ำสุดรอบ 10 ปี

หัวหน้าฯอนาคตใหม่ โพสต์ ตัวเลขกำลังการผลิตตำสุดในรอบ 10 ปี ทำให้โอทีหาย คนตกงาน อุตสาหกรรมไม่ลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต พร้อมเสนอ 2 แนวทางให้เดินต่อไปข้างหน้าได้

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ข้อความบนทิวตเตอร์ส่วนตัว Thanathorn Juangroongruangkit - Thanathorn_FWP โดยข้อความระบุว่า ตัวเลขการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี! ทำให้โอทีหาย คนตกงาน อุตสาหกรรมไม่ลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต ฯลฯ แต่นี่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะสร้างเส้นทางพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศไทย อ่านรายละเอียดทั้งหมดในข้อเขียนของผมได้ที่ https://futureforwardparty.org/9035
#อนาคตใหม่

อะไรคือดัชนีการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม?

ดัชนีนี้คือตัวเลขการผลิตจริงในภาคอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับกำลังการผลิตที่ทั้งประเทศมีอยู่ หากตัวเลขดัชนีต่ำ แปลว่าเรามีกำลังการผลิตน้อยกว่าศักยภาพกำลังที่เรามี

ตัวเลขดัชนีในเดือนกันยายนที่ผ่านมาซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุด ลดลงต่ำกว่า 65% เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี และที่สำคัญ อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงเร็วอย่างน่ากลัว

จากกลางปีที่แล้ว เดือนมิถุนายน 2561 เราใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 71.16%
ปลายปีที่แล้ว เดือนธันวาคม 2561 เราใช้กำลังการผลิตอยู่ 68.54%
กลางปีนี้ เดือนมิถุนายน 2562 เราใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.64%
และตัวเลขล่าสุด คือเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 64.73%

ในรอบสิบปีที่ผ่านมา เราเคยมีดัชนีการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่ำกว่า 65% ทั้งหมดสามครั้ง ครั้งที่ใกล้ที่สุดคือช่วงเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งตัวเลขลดลงต่ำกว่า 50% เลยทีเดียว ปรากฏการณ์ครั้งนั้นเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ไม่ได้เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจโดยตัวมันเอง เมื่อน้ำลด การใช้กำลังการผลิตก็เพิ่มขึ้นสู่จุดปกติทันที

อีกสองครั้งเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันในช่วงปี 2551 ถึง 2553 ซึ่งตรงกับวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของอเมริกาและยุโรป เราใช้เวลาประมาณครึ่งปีกว่าที่จะดึงการใช้กำลังการผลิตกลับมาที่ระดับ 70% อีกครั้ง

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า หากตัดช่วงน้ำท่วมใหญ่ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติ ไม่ใช่ภัยเศรษฐกิจโดยตัวมันเองออกไปแล้ว อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปัจจุบันต่ำที่สุดในรอบสิบปี

157363323564

เรามองเห็นอะไรจากตัวเลขนี้?

ข้อแรก : เมื่อกำลังการผลิตลดลง ภาคอุตสาหกรรมต้องลดการทำงานล่วงเวลาหรือเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งเราได้เห็นแล้วในรอบหลายเดือนที่ผ่านมาว่ามีบริษัทปิดตัวลงจำนวนมาก

ข้อสอง : เราจะไม่เห็นการลงทุนภาคเอกชนขนาดใหญ่หรือการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในอนาคตอันใกล้นี้เลย การลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้จะเป็นการลงทุนเพื่อทดแทนเครื่องจักรที่หมดอายุ ไม่ใช่เพิ่มกำลังการผลิต (เมื่อเรายังผลิตอยู่ที่ 65% ของเครื่องจักรและกำลังคนที่เรามี เราจะไม่ลงทุนใหม่หรือจ้างงานเพิ่ม โดยสถิติ ภาคเอกชนจะลงทุนเพิ่มก็ต่อเมื่อการใช้กำลังการผลิตขององค์กรยืนอยู่เหนือระดับ 75-80% เท่านั้น)

ในภาวะเช่นนี้ เราควรทำเช่นไร?

ในภาวะที่การลงทุนภาคเอกชนไม่เกิดขึ้น การส่งออกไม่สดใส และการบริโภคภายในซบเซา ภาวะเช่นนี้เปิดโอกาสให้เรากลับมาทบทวนทิศทางการพัฒนาประเทศของเราอีกครั้ง ว่าเราจะเดินไปเส้นทางไหนในศตวรรษที่ 21

พรรคอนาคตใหม่เสนอสองแนวทางที่จะทำให้เราเดินต่อไปข้างหน้าได้ ดังนี้

ข้อแรก : การใช้โอกาสนี้สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่พึ่งพาและก่อสร้างเทคโนโลยีของตนเอง เรามีปัญหาของสังคมมหาศาล ดังนั้น การสร้างอุตสาหกรรมใหม่จะต้องสามารถแก้ปัญหาสังคม, ทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น, สร้างเทคโนโลยีของตนเอง, สร้างการจ้างงาน และลดความเหลื่อมล้ำ สามารถทำได้พร้อมกัน เช่น การผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียว, อุตสาหกรรมการจัดการขยะ, อุตสาหกรรมรถเมล์ไฟฟ้า, อุตสาหกรรมรถไฟ หรืออุตสาหกรรมเกษตรก้าวหน้า เป็นต้น

เราไม่สามารถพึ่งพาห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) เดิมได้อีกต่อไป ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีกำลังการผลิตที่ล้นเกิน ทั้งสองอุตสาหกรรมไม่สามารถพาเราไปได้ไกลกว่านี้ แต่เราจะชักจูงและรอการลงทุนจากต่างชาติโดยไม่พัฒนาเทคโนโลยีของเราเองไม่ได้เช่นกัน เรามีเงินทุน มีสภาพคล่องล้นตลาดเงิน มีศักยภาพของคน และมีความต้องการในประเทศเพียงพอที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่จากห่วงโซ่อุปทานและบุคคลากรที่มีอยู่ มีแต่วิธีนี้เท่านั้นที่จะสร้างไทยที่ทัดเทียมกับโลก และก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้

แต่…ถ้าจะทำได้ทั้งหมดนั้น…ต้องเปลี่ยนตัวหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้เสียก่อน

157363325358

ข้อสอง : เราต้องเริ่มคิดถึง “การลงทุนขนาดเล็กที่ใหญ่และทะเยอทะยาน” เราให้ความสำคัญเมกะโปรเจกต์ (Megaproject) เช่น สนามบินใหม่, ท่าเรือสำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่, รถไฟความเร็วสูง หรือมอเตอร์เวย์ มานานจนหลงลืมไปว่ายังมีการลงทุนขนาดเล็กที่ตอบสนองชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่จำเป็นอีกมาก เช่น โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วย, โรงเรียนที่ดีกว่าสำหรับเยาวชน, ระบบชลประทานที่ดีสำหรับเกษตรกร, การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น เป็นต้น

มันคงไม่ใช่เมกะโปรเจกต์สำหรับคนเมือง แต่เป็นการลงทุนเพื่อคนทุกคน เช่น โรงเรียนละ 2 ล้าน สำหรับโรงเรียนขนาดกลางและเล็กทั่วประเทศ จะใช้เงิน 6 หมื่นล้านบาท, สวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพทุกตำบล, งบลงทุนหลักแสนล้านเพื่อจัดการน้ำให้เพียงพอทุกสำหรับครัวเรือน, ทุกแปลงเกษตร และทุกอุตสาหกรรม เป็นต้น

นี่คือการลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นี่คือการสร้างพื้นฐานบริการภาครัฐที่มีคุณภาพ ที่จะอนุญาตให้คนในสังคมใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและเปี่ยมไปด้วยความหมาย

157363326863