ปลดล็อกเกณฑ์ยกระดับโรงเรียน"สอนภาษา"ระดับอำเภอ

ปลดล็อกเกณฑ์ยกระดับโรงเรียน"สอนภาษา"ระดับอำเภอ

สพฐ.ปลดล็อกเกณฑ์เปิดห้องเรียน MEP ในโรงเรียนประจำอำเภอ ระบุโรงเรียนต้องมีคะแนน โอเน็ตสูงขึ้นอย่างน้อย 3 ปีเป็นไปไม่ได้ เตรียมฟื้นศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (ERIC) ประจำจังหวัด พัฒนาหลักสูตร พร้อมครูและนักเรียน

จากกรณีที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)มีนโยบายที่จะยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียนทุกคน โดยต้องการขับเคลื่อนโรงเรียนสองภาษาในกลุ่มโรงเรียนประจำอำเภอและโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ประมาณ 2,000 แห่งนั้น

วันนี้ (13 พ.ย.) นายอำนาจ วิชยานุวัติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียนทุกคน แต่ต้องยอมรับว่ามีการดำเนินการในบางเรื่องที่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของหลักเกณฑ์

อาทิ การเปิดห้องเรียน Mini English Program (MEP) ในกลุ่มโรงเรียนประจำอำเภอและโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ตามที่ รมว.ศธ.อยากให้มีโรงเรียนสอนภาษาเกิดขึ้น เพื่อทำให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะภาษาอังกฤษได้มากขึ้นในกลุ่มโรงเรียนเหล่านี้ แต่การดำเนินการเรื่องดังกล่าวยังมีข้อจำกัดของหลักเกณฑ์การเปิดห้องเรียน MEP

โดยโรงเรียนต้องมีคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต)สูงขึ้นอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งประเด็นนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะโรงเรียนเหล่านี้ยังไม่ได้เริ่มจัดการเรียนการสอนจะนำมาผลคะแนนโอเน็ตจากตรงไหนมาทำ ดังนั้น สพฐ.จะปลดล็อคแก้หลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ หลังจากนั้นจะส่งหลักเกณฑ์การปรับปรุงแก้ไขแล้วไปยังคณะกรรมการรับนักเรียนระดับจังหวัดพิจารณาในการเปิดห้องเรียน MEP เพื่อให้การขับเคลื่อนห้องเรียน MEP ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

นอกจากนั้น สพฐ.จะฟื้นศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (ERIC) ประจำจังหวัด โดยจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ศูนย์ ERIC เป็นศูนย์พัฒนาหลักสูตรด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ พร้อมกับการพัฒนาครูและนักเรียน โดยศูนย์นี้จะมีการทดสอบระดับความรู้ภาษาอังกฤษของครูและนักเรียนด้วยว่าอยู่ในระดับไหนหรือขาดทักษะภาษาในด้านไหน เพื่อจะได้เติมเต็มความรู้ภาษาอังกฤษได้อย่างตรงจุด

รวมถึงจะมีการประเมินภาษาอังกฤษโดยใช้มาตรฐานของ Common European Framework of Reference for Languages (CEFR)ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้อธิบายระดับความเชี่ยวชาญทางภาษาจากยุโรปด้วย ทั้งนี้ ไม่ต้องกังวลว่าเมื่อมีการรับนักเรียนจะมีการแย่งเด็กเข้าเรียนเกิดขึ้น เพราะเป็นคนละกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งการดำเนินการเรื่องนี้จะเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ทางสพฐ.ได้มีการปรับการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษใน 3 หลักสูตร ดังนี้

1.หลักสูตรภาษาอังกฤษนานาชาติ International Program (IP) โดยใช้หลักสูตรที่มาจากต่างประเทศ จัดการเรียนการสอนโดยครูเจ้าของภาษา หรือครูที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด

2.หลักสูตรภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น (Intensive English Program : IEP) โดยเน้นเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ ต้องจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมากกว่า 5 คาบต่อสัปดาห์ เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน และการใช้ภาษาอังกฤษต้องอยู่ในระดับ B2 สามารถสื่อสารเรียนรู้และทำงานในสภาพแวดล้อมหรือประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักได้ โรงเรียนสามารถเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มได้ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ

3.หลักสูตรยกระดับภาษาอังกฤษสำหรับทุกโรงเรียน (General English Program : GEP) เด็กต้องได้เรียนภาษาอังกฤษครบทุกทักษะ ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เน้นการสอนให้สื่อสารได้ ครูใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้จริง โดยนำครูจากโครงการ English Boot Camp ที่มีความสามารถในการสอนภาษาอังกฤษ และกระจายอยู่ทั่วประเทศมาสอน โรงเรียนไม่จำเป็นต้องเก็บเงินเด็กเพิ่ม

ปัจจุบันสถานศึกษาสังกัดสพฐ.มีโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษหลายโปรแกรม เช่น โปรแกรมนานาชาติ IP (Education Hub) จำนวน 19 แห่ง English Program (EP) ที่ใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่สอนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชา ยกเว้นภาษาไทย และ Mini English Program (MEP) ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษบางวิชา รวม 400 แห่ง