เรื่องเล่า "พิเศษ" เพื่อเข้าใจ "เด็กพิเศษ"

เรื่องเล่า "พิเศษ" เพื่อเข้าใจ "เด็กพิเศษ"

หลายคนมองว่า เด็กออทิสติกมีอารมณ์รุนแรง เกรี้ยวกราด ชอบทำอะไรซ้ำๆ แต่ความจริงแล้ว พวกเขาสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น เขามีความสามารถมากมายที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึง เช่น ชงกาแฟ วาดรูปได้สวย หลายๆ อย่างพวกเขาอาจทำได้ดีกว่าคนปกติด้วยซ้ำไป

ปัจจุบัน หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กพิเศษ เช่น มูลนิธิออทิสติกไทย (Thai Autism Vocational Center) พยายามที่จะให้ความรู้ความเข้าใจ แก่บุคคลทั่วไป รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง เกี่ยวกับธรรมชาติของเด็กพิเศษ ซึ่งไม่ใช่มีเพียงแง่มุมความบกพร่อง แต่ต้องการให้ทุกคนได้เห็นถึงศักยภาพที่พวกเขาเหล่านั้นมี ผ่านผลงานศิลปะ และการออกแบบ ทั้งหมวก ผ้าพันคอ กระเป๋า และเสื้อ ภายใต้แบรนด์ “Art Story” รวมถึงการฝึกอาชีพเพื่อให้สังคมได้เห็นว่า พวกเขาเหล่านั้นก็มีความสามารถไม่ต่างจากคนปกติ หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

รวมถึงจัดทำสื่อออนไลน์ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ในเว็บไซต์ของ มูลนิธิออทิสติกไทย อย่างไรก็ตาม สื่ออื่นๆ ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง สร้างความเข้าใจต่อเด็กพิเศษก็ยังไม่มากเท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบตำราวิชาการ สติกเกอร์ แผ่นความรู้ ข้อมูลที่แปลจากต่างประเทศซึ่งมีบริบทที่แตกต่างจากเรา และหนังสือในมุมของผู้ปกครองเกี่ยวกับการดูแลลูกที่เป็นเด็กพิเศษ

157357144126

ขณะเดียวกัน ในอีกมุมหนึ่ง ยังมีคนรุ่นใหม่ที่เห็นความสำคัญและใช้ความรู้ความสามารถของตนเองในการสร้างสรรค์สื่อประเภทหนังสือ ผสานเทคนิคด้านศิลปะเพื่อบอกเล่าเรื่องราวอีกแง่มุมของเด็กพิเศษที่สังคมยังไม่เคยได้รับรู้ โดยผลงานดังกล่าว จัดทำโดย น้องปอม - รุจิดา  จิตะพันธ์กุล และ น้องเน - พุทธเณรีย์ จริงจิตร นักศึกษาปีที่ 4 สาขาวิชามีเดียอาตส์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

น้องปอม – รุจิดา อธิบายว่า ผลงานดังกล่าว เป็นผลงานศิลปนิพนธ์ ซึ่งแรงบันดาลใจ ของการทำหนังสือทั้ง 3 เล่ม มาจากการได้ดูภาพยนต์เกี่ยวกับบุคคลออทิสติก คือ “ฟอร์เรสท์ กัมพ์ อัจฉริยะปัญญานิ่ม” (Forrest Gump) สร้างจากนิยายเรื่อง Forrest Gump ที่แต่งโดย วินส์ตัน กรูม (Winston Groom) และภาพยนตร์ “Temple Grandin” เรื่องราวของคนออทิสติกที่โด่งดังในอเมริกา มีตำแหน่งเป็นถึงศาสตราจารย์ทางด้านสัตวศาสตร์แห่ง Colorado State University

157357144391

ทั้งนี้ หนังสือ “วิวัฒน์-พิเศษ-สัมพันธ์” ทำออกมาจำนวน 1 ชุด และได้มีการจัดแสดงภายในงานนิทรรศการเข้าเส้น งานแสดงนิทรรศการแสดงศิลปนิพนธ์ ณ ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21-23 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา

น้องปอม เล่าต่อไปว่า จุดประสงค์ของการทำหนังสือ “วิวัฒน์- พิเศษ-สัมพันธ์” เพื่อนำเสนอแง่มุมอื่นๆ เกี่ยวกับศักยภาพของเด็กออทิสติก โดยหยิกยกศักยภาพและตัวตนของเด็กออทิสติกที่คนทั่วไปอาจไม่เคยได้พบ ไม่เคยรู้ และยังเข้าไม่ถึงเด็กเหล่านี้ โดยมีเป้าหมายให้คนทั่วไปได้อ่านและเข้าใจเด็กๆ เหล่านี้มากขึ้น

ทั้งนี้ ก่อนที่จะทำผลงานออกมา ต้องผ่านการเก็บข้อมูลตั้งแต่การค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เกี่ยวกับเด็กออทิสติกในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงลงพื้่นที่ทำกิจกรรมร่วมกับ 2 มูลนิธิ ได้แก่ มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง ซึ่งจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กพิเศษ และ มูลนิธิคุณพุ่ม ทั้งหมด 2 ครั้ง เพื่อสังเกตท่าทาง พฤติกรรม ระหว่างทำกิจกรรมว่าน้องๆ มีลักษณะ นิสัยอย่างไร และพูดคุย รวมถึงปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กออทิสติกจากมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้เข้าใจว่าเด็กเหล่านี้ ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร กิจกรรมอะไรที่เด็กๆ เหล่านี้ชอบ รวมถึงลงลึกไปถึงเรื่องเพศ

157357144093

“หลายคนมองว่า เด็กออทิสติกมีอารมณ์รุนแรง เกรี้ยวกราด หรือชอบทำอะไรซ้ำๆ พูดซ้ำๆ แต่ความจริงแล้ว พวกเขาสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น เขามีความสามารถมากมายที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึง เช่น ชงกาแฟได้อร่อย และวาดรูปได้สวย บางคนความจำดีมาก หลายๆ อย่างพวกเขาอาจทำได้ดีกว่าคนปกติด้วยซ้ำ” น้องปอม กล่าว

สำหรับ จุดเด่นของหนังสือ คือ ทำให้เข้าใจง่าย ผ่านสีสัน คอนเทนท์ และภาพประกอบที่ผสานเทคนิค ให้เข้ากับงานของเหล่า Autism’s children โดยแบ่งเรื่องราวของหนังสือเป็น 3 เล่ม คือ เล่มที่ 1 Evolved วิวัฒน์ ย่อมากจากวิวัฒนาการ เริ่มปูให้เห็นก่อนว่า กลไกพื้นฐานของเด็กๆ เหล่านี้ ทำงานอย่างไร บอกเล่าถึงตัวตนของเด็กออทิสติกในเบื้องต้น จะอธิบายความเป็นตัวตนของเขา เช่นเรื่องเพศ เรื่องการทำอะไรซ้ำๆ

157357144097

เล่มที่ 2 Extra พิเศษ เกี่ยวกับความสามารถพิเศษในเรื่องที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ จะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับพรสวรรค์การวาดภาพ ดนตรี การจดจำพันธุ์ไดโนเสาร์ได้ทุกสายพันธุ์ ความสามารถในการคำนวณวันเดือนปีได้ไวมาก และ เล่มที่ 3 Relation สัมพันธ์ เรื่องเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์และการแสดงออกของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นความเหงา การใช้ชีวิตบนบีทีเอส ความตรงต่อเวลามาก เด็กออทิสติกบางคนทำอาหารอร่อยมาก ชงกาแฟขายได้ หรือเด็กออทิสติกบางคนก็ไม่เข้าใจมุขตลก มันเป็นเพราะกลไกบางอย่าง พวกเขาไม่ได้มีมนุษยสัมพันธ์แย่ เพียงแค่ร่างกายกำหนดมาไว้แบบนั้น

“จากการที่ได้คลุกคลี และเรียนรู้เด็กออทิสติก ทำให้ความคิดเปลี่ยนไป ตอนแรกไม่เคยสัมผัสเด็กๆ เหล่านี้มาก่อน พอมาทำตรงนี้ได้เจออะไรเยอะแยะ รู้สึกว่าน้องๆ มีมุมน่ารัก พวกเขาเห็นความสวยงามของโลกนี้มากกว่าที่เราเห็น” น้องปอม กล่าว

  • เปลี่ยนมายเซ็ต ต่อเด็กพิเศษ

ชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) และประธานมูลนิธิออทิสติกไทย ให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน หนังสือที่ให้คนทั่วไปเข้าใจเด็กพิเศษ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบตำราวิชาการ หรือเป็นสติกเกอร์ แผ่นความรู้ ข้อมูลที่แปลจากต่างประเทศ ซึ่งก็อยู่ในอีกบริบทหนึ่ง รวมถึงหนังสือในมุมของผู้ปกครองมากกว่า ปัจจุบัน สิ่งที่เราพยายามสร้างความเข้าใจให้กับคนทั่วไป ไม่ใช่ในแง่ของความพิการหรือความบกพร่อง แต่เราอยากให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงศักยภาพที่เด็กๆ เหล่านี้มี เรามีร้าน Art Story ที่ขายสินค้าจากฝีมือเด็กและเป็นแนวคิดให้ผู้ปกครองได้

ความคิดของคนทั่วไปในสังคมไทย ต่อเด็กพิเศษดีขึ้นเยอะ แต่ก็มีหลายคนที่ยังไม่เข้าใจ ปัจจุบัน จำนวนเด็กพิเศษที่มีบัตรพิการรวมทุกประเภท ได้แก่ ความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) ออทิสติก และดาวน์ซินโดรม ราว 3 แสนคน แต่ความจริงมีเป็นล้าน เด็กที่ไม่พิการ แต่กึ่งๆ หากปล่อยไว้จะเป็นในอนาคตก็มี ซึ่งพ่อแม่บางคนไม่รู้ เห็นลูกหลานพูดเยอะ ก็บ่น แต่ในความเป็นจริงเด็กสามารถพัฒนาได้ นี่คือโจทย์สำคัญที่ว่าทำอย่างไรให้สังคมเข้าใจ

“ขณะนี้ ทางมูลนิธิออทิสติกไทย กรมสุขภาพจิต กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และสสส. จึงได้ร่วมกันพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อสำรวจ เก็บข้อมูล และสร้างการรับรู้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และในปีหน้าคาดว่าจะมีฐานข้อมูลหลายแสนคน เรื่องนี้หลายฝ่ายต้องร่วมมือกัน ต้องไม่ทำให้เป็นปัญหาใต้พรม แต่ต้องแก้เชิงโครงสร้าง” ชูศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย