รัฐบาลเร่งระเบียงตะวันตก เชื่อมเศรษฐกิจ “อีอีซี”

รัฐบาลเร่งระเบียงตะวันตก  เชื่อมเศรษฐกิจ “อีอีซี”

นายกฯ สั่งศึกษาแนวทางเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-อีอีซี ชี้ทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มเติม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 (กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี) ที่ จ.กาญจนบุรี วานนี้ (12 พ.ย.) โดยได้มีการหารือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าว

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ให้ที่ประชุม ครม.รับทราบเพื่อนำไปเป็นกรอบในการพิจารณาโครงการและงบประมาณที่จะจัดสรรให้กับกลุ่มจังหวัดที่จะเสนอโครงการเข้าสู่การพิจารณา โดยการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดนี้ได้วางวิสัยทัศน์ในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการตลาดสินค้าภาคเกษตร อุตสาหกรรมปลอดภัย และการท่องเที่ยวคุณภาพและสนับสนุนการค้าผ่านแดนในเขตภาคตะวันตก

นอกจากนี้ สศช.ได้เสนอกรอบการพัฒนาพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง 1 ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนากรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงและเชื่อมต่อกันโดยเฉพาการเชื่อมต่อคมนาคมขนส่งและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อกระจายความเจริญและสร้างรายได้เพิ่มให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยสนับสนุนให้เปิดประตูการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย พื้นที่ภาคกลางและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยดำเนินการ 4 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่

1.การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและรถไฟ เชื่อมกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจพิเศษชายแดนกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ ให้มีส่วนสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างกันเชื่อมท่าเรือทวาย-แหลมฉบัง-สีหนุวิลล์

2.เร่งพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบ้านพุน้ำร้อน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ให้เป็นประตูเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) จากท่าเรือทวาย-ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา ไปจนถึงท่าเรือวังเตา ประเทศเวียดนาม โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้เชื่อมต่อกันได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจที่สมบูรณ์และได้ประโยชน์ร่วมหลายประเทศ

3.พัฒนาด่านชายแดนไทย-เมียนมา บ้านพุน้ำร้อน ด่านเจดีย์สามองค์ และด่านสิงขร เพื่อเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กับเมียนมา โดยจัดระเบียบการใช้โยชน์ที่ดินให้สอดคล้อกับการพัฒนาในอนาคต พร้อมทั้งปรับปรุงและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ สาธารณูปโภค จุดบริการและสิ่งอำนวยควาสะดวกบริเวณจุดผ่านแดน ตลอดจนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

4.พัฒนาพื้นที่เมืองและพื้นที่เศรษฐกิจของภาคกลางตามแนวแกนหลักการเชื่อมโยงเศรษฐกิจพิเศษทวายกับอีอีซี โดยจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภครองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาการค้า การลงทุน และท่องเที่ยวระหว่างไทย-เมียนมา

นายธีรชัย ชุติมันต์ ประธานหอการค้าจังหวัดกลุ่มภาคกลางตอนล่าง 1 กล่าวว่า ที่ประชุมรับข้อเสนอของภาคเอกชนในการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตร ด้านการท่องเที่ยว การบริหารจัดการน้ำ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเชิงนโยบาย 

โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำโครงการกลับไปศึกษารายละเอียด และหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่อไป โดยในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานได้เห็นชอบในหลักการ 10 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 6,224 ล้านบาท

นอกจากนี้ภาคเอกชนได้มีการนำเสนอประเด็นด้านนโยบายให้รัฐบาลพิจารณา 4 ข้อ ได้แก่ 1.การปรับรูปแบบเพื่อลดผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในพื้นที่ จ.ราชบุรี โดยข้อเรียกร้อง คือ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จัดระบบการจราจร ปรับแบบการ ก่อสร้างจุดกลับรถ อุโมงค์ทางลอด และการก่อสร้างทางระบายน้ำ

2.เสนอให้มีการศึกษาแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่ง และ โลจิสติกส์ เพื่อพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจฝั่งตะวันตก (ดับเบิลยูเอสซี) โดยหลังจากการเสนอเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเพิ่มเติมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปศึกษาเพิ่มเติมให้แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกเชื่อมโยงกับพื้นที่อีอีซี โดยทำโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มเติม

3.การพัฒนาให้พื้นที่นี้เป็นศูนย์กลางการจัดการประชุมและสัมมนา หรืออุตสาหกรรมไมซ์ โดยเฉพาะในจังหวัดกาญจนบุรีที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 5 ล้านคน เป็น 9.3 ล้านคน ภายในระยะเวลา 10 ปี

4.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและ สนับสนุนด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัด กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี โดยใช้จุดเด่นแต่ละพื้นที่ในการดึงดูดการท่องเที่ยวทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติ และด้านพุทธรรม

“ในภาพรวมเอกชนพอใจการประชุมร่วมกับรัฐบาลในครั้งนี้มาก และอยากให้มีการจัดประชุม ครม.สัญจรในพื้นที่กลุ่มจังหวัดนี้อีก"