ส่องอนาคต AWC กับ '5 เหตุผล' ทุบหุ้นรูดต่ำจอง

ส่องอนาคต  AWC กับ '5 เหตุผล' ทุบหุ้นรูดต่ำจอง

การปรับลดลงของราคาหุ้น บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป(AWC) จนต่ำกว่าราคาที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก หรือ “ไอพีโอ” ที่ 6 บาท แม้จะสร้างความฮือฮาในหมู่นักลงทุน แต่ต้องบอกว่าประเด็นนี้ ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายของบรรดานักวิเคราะห์มากนัก

ช่วงที่ AWC ขายไอพีโอ เริ่มมีการพูดถึงประเด็น “การตั้งราคาหุ้น” ที่ค่อนข้าง “แพง” โดยราคาไอพีโอที่ 6 บาท เทียบอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น(พี/อี) อยู่ที่ 277 เท่า สูงกว่าหุ้นตัวอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันที่มีค่าพี/อี เฉลี่ยเพียง 30-40 เท่า 

อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ ที่ปรึกษาทางการเงิน ให้ความเห็นว่า “ค่าพี/อี”ดังกล่าว ไม่ใช่อัตราส่วนทางการเงินที่เหมาะสมในการนำมาใช้พิจารณามูลค่าของ AWC เนื่องจากค่าพี/อีในระดับนี้ ยังไม่ได้สะท้อนความสามารถการทำกำไรของ AWC เพราะ AWC ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาหรือปรับปรุงหลายโครงการ ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถทำกำไรในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ที่ปรึกษาทางการเงิน ยังแก้เกมการตั้งราคาขายที่ค่อนข้างสูง โดยการนำหุ้นจัดสรรส่วนเกิน หรือ “กรีนชู ออปชั่น” มาใช้รวม 1,043 ล้านหุ้น หวังเป็นกลไกการรักษาระดับราคาหุ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจว่า หากราคาหุ้นลดลงต่ำกว่าราคาไอพีโอ จะมีแรงซื้อคืนจากหุ้นในส่วนนี้เข้ามาช่วยดูแล เพียงแต่กลไกดังกล่าวมีระยะเวลาใช้แค่ 30 วันแรกหลังเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น 

157364680675

หุ้น AWC เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “วันแรก” เมื่อวันที่ 10 ..2562 โดยราคาหุ้นเปิดการซื้อขายที่ 6 บาท เท่ากับราคาไอพีโอ ระหว่างวันขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 6.10 บาท ก่อนจะปรับลดลงเล็กน้อยมาปิดตลาดที่ระดับ 6.05 บาทในวันแรกของการซื้อขาย

หลังจากเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยได้ไม่นาน เริ่มมีแรงเก็งกำไรเข้ามาในหุ้นตัวนี้อย่างต่อเนื่อง จากสตอรี่ที่ถูกสร้างขึ้นมามากมาย  โดยเฉพาะประเด็นความคาดหวังว่า AWC จะถูกนำเข้าไปคำนวณใน “ดัชนีเอ็มเอสซีไอ” ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับขึ้นมาทำจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ 6.80 บาท เพิ่มขึ้นจากราคาไอพีโอ 0.80 บาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 13.3% แต่หลังจากนั้นไม่นานราคาหุ้นก็ทยอยร่วงลงต่อเนื่อง 

คนที่ติดตามการเคลื่อนไหวหุ้น AWC มาโดยตลอด จะเห็นว่าที่ระดับราคา 6 บาท มีกำแพงฝั่ง “Bid” ตั้งรอไว้อย่าง “หนาแน่น” ทุกวัน ไม่ต่ำกว่าหลัก 100 ล้านหุ้น แม้ว่าจะหมดระยะเวลาการใช้ “กรีนชูไปแล้ว แต่ก็ยังเห็นกำแพง Bid ที่สูงต่อเนื่อง  ทำให้นักลงทุนมั่นใจว่า ราคา AWC คงไม่ทะลุลงต่ำกว่าระดับดังกล่าวไปแบบง่ายๆ 

157364685438

ทว่า “กำแพง” ฝั่ง Bid ดังกล่าว ถูกพังทลายลงอย่างรวดเร็ว ในการซื้อขายช่วงบ่ายของวันที่ 11 ..ที่ผ่านมา โดยมีแรงขายออกมาอย่างหนักหน่วงและรวดเร็วในระดับราคาที่ 6 บาท ซึ่งวันนั้นมีแรงขายในช่วงระดับราคาดังกล่าวรวมกว่า 70 ล้านหุ้น ทำให้คนที่ตั้งฝั่ง Bid รอไว้ที่ 6 บาท ต้องถอนคำสั่งออกมา ส่งผลต่อระดับราคาหุ้นที่ไหลรูดอย่างรวดเร็วจนแตะระดับต่ำสุดของวันที่ 5.25 บาท ก่อนจะรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อยมาปิดตลาดในระดับ 5.40 บาท

หุ้น AWC ยังคงมีแรงขายออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยวานนี้ปิดตลาดที่ระดับ 5.35 บาท ลดลงจากวันก่อนหน้า 0.05 บาท หรือ 0.93% มูลค่าการซื้อขายรวม 1,110 ล้านบาท

157364656717

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ ได้สอบถามความเห็นจากบรรดา “นักวิเคราะห์” ของโบรกเกอร์ต่างๆ ถึงการปรับลดลงของราคาหุ้น AWC ซึ่งสรุปออกมาได้ใน “5 ประเด็น” สำคัญ

ประการแรก การตั้งราคาไอพีโอที่ค่อนข้างสูง โดยราคาที่ 6 บาท เทียบค่าพี/อีเท่ากับ 277 เท่า ซึ่งเป็นราคาที่ต้องซื้ออนาคตในอีก 2-3 ปีข้างหน้า 

ประการที่สอง เมื่อหมดระยะเวลาการใช้ “กรีนชู” ทำให้นักลงทุนเริ่มขาดความมั่นใจ แม้ว่าจะมีกำแพงฝั่ง Bid ตั้งรอไว้หนาแน่นที่ราคา 6 บาท แต่เมื่อมีแรงขายออกมาอย่างหนักหน่วงในเวลาใกล้ๆ กัน ทำให้คนที่ตั้ง Bid รอไว้ ต้องรีบถอนออกมา ประกอบกับการที่ไม่มี “กรีนชู” รองรับ จึงทำให้ราคาหุ้นไหลลงอย่างรวดเร็ว

ประการที่สาม นักลงทุนผิดหวังใน กรณีที่ เอ็มเอสซีไอ ไม่ได้นำหุ้น AWC เข้ามาคำนวณในดัชนีตามที่คาดหวังเอาไว้ จึงทำให้กลุ่มคนที่เล่นเก็งกำไรข่าวดังกล่าว เทขายหุ้นออกมา

ประการที่สี่ นักลงทุนเริ่มกังวลว่า หุ้นที่ไม่ได้ติดระยะเวลาห้ามขาย(ไซเรนพีเรียต) ของผู้ถือหุ้นเดิมก่อนขายไอพีโอ ซึ่งเป็น “กลุ่มผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร” ที่ถือหุ้นรวมกันอยู่ราว 6,984.09 ล้านหุ้น คิดเป็น 22.6% ของหุ้นทั้งหมด อาจจะขายหุ้นออกมาในเวลาใดก็ได้ ซึ่งถ้าพร้อมใจกันขายออกมาจริงจะยิ่งกดดันราคาหุ้นในกระดานให้ลงไปลึกมากขึ้น

ประการสุดท้าย คือ เมื่อภาพการลงทุนเปลี่ยนไป จึงมีนักลงทุนกลุ่มหนึ่ง ทำการ “ยืมหุ้น” ดังกล่าว “ขายชอร์ต” ออกมา โดยหุ้น AWC เมื่อวันที่ 11 .. มีแรงขายชอร์ตสูงถึง 418 ล้านหุ้น คิดเป็น 12.9% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดในวันนั้น ขณะเดียวกันยังพบแรงขายของ “เอ็นวีดีอาร์” ในหุ้นตัวนี้ออกมาอีกราว 91 ล้านหุ้น

วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินว่า การลงทุนใน AWC ถือเป็นการซื้ออนาคตในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยคาดหวังว่าผลดำเนินงานจะเติบโตตามราคา ทำให้พี/อีในระยะข้างหน้าลดลงมาเหลือ 30 เท่า จึงมองว่าระดับราคาไอพีโอของ AWC ยังมีหุ้นตัวอื่นที่ถูกและน่าลงทุนมากกว่า 

โดยสรุปแล้ว หุ้น AWC ยังถือเป็นหุ้นที่มีอนาคต เพียงแต่ระดับ พี/อี ในปัจจุบันค่อนข้างสูง ถ้าผลดำเนินงานเติบโตได้ต่อเนื่องใน 2-3 ปีข้างหน้า จะทำให้ราคาหุ้นมีค่า พี/อี ที่ใกล้เคียงกับอุตสาหกรรม การลงทุนในวันนี้ จึงเป็นการซื้ออนาคตของหุ้น “แอสเสท เวิรด์”