ปตท.ดันตั้งเทรดดิ้งในสหรัฐ คาดชัดเจนไตรมาส1ปีหน้า

ปตท.เตรียมชงบอร์ดคาดไตรมาส 1 ปีหน้าได้ข้อสรุป จัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งแห่งใหม่ในสหรัฐ หนุนรายได้เพิ่ม พร้อมจับมือ 2 ยักษ์ผู้ค้าน้ำมันระดับโลกทั้งตะวันออกกลางและเอเชีย เปิดตลาดซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า IFAD ในเอเชีย
นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมงาน ADIPEC 2019 ซึ่งนับเป็นหนึ่งในงาน Conference น้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ที่เมืองอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE)ว่า ปตท.เตรียมจัดตั้งบริษัททำธุรกิจซื้อมาขายไป(เทรดดิ้ง)ในสหรัฐ ช่วงไตรมาส1 ปีหน้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอขออนุมัติจัดตั้งบริษัท กับคณะกรรมการ(บอร์ด)บริษัทต่อไป
ปัจจุบัน ปตท.มีบริษัทเทรดดิ้งในลอนดอน และสิงคโปร์ ขณะที่มีสำนักงานตัวแทนฯในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย การจัดตั้งสำนักงานฯดังกล่าว ถือเป็นอีกสเต็ปที่จะก้าวเข้าไปในสหรัฐ และเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563
ทำให้ กลุ่ม ปตท.จะเพิ่มการจัดซื้อน้ำมันดิบจากสหรัฐที่มีกำมะถันต่ำมากขึ้น จากปัจจุบัน จัดซื้ออยู่ที่ราว 5 % อาจจะขยับขึ้นเป็น 10% ในช่วงปี 2563-2564 จากซื้ออยู่ 70,000 บาร์เรลต่อวัน จะเพิ่มขึ้นเป็นราว 100,000 บาร์เรลต่อวันซึ่งจะทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 3 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นราว 8 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนการจัดซื้อน้ำมันส่วนใหญ่อีก 70% ยังคงมาจากแถบตะวันออกกลาง และอีก 20% มาจากตะวันออกไกล(มาเลเซียและอินโดนีเซีย)
“ปัจจุบัน ธุรกิจเทรดดิ้ง สร้างรายได้ในสัดส่วน 25-30% ของรายได้ทั้งกลุ่ม ปตท.และเทรดดิ้ง ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็น Global Trading ขยายพอร์ตการค้าให้เพิ่มขึ้นและช่วยผลักดันให้ ปตท.มีกำไรเติบโตขึ้นด้วย”
นอกจากนี้ ปตท.ยังเตรียมจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในการทำธุรกิจซื้อมาขายไป(เทรดดิ้ง)ใน UAE ในเร็วๆนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2562 ปตท.ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ กับทาง ADNOC บริษัทน้ำมันแห่งชาติอาบูดาบี และ ICE หนึ่งในผู้ซื้อขายตลาดน้ำมันล่วงหน้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังมีพันธมิตรเป็นบริษัทน้ำมันชั้นนำอื่นๆร่วมถือหุ้น อาทิ BP, Total, Vitol, Shell,Petro China เป็นต้น
การประกาศเปิดตัวตลาด ICE Futures Abu Dhabi (IFAD) เพื่อเสนอแพลตฟอร์มทำความซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นตลาดฟิวเจอร์แห่งใหม่ในเอเชีย จากที่ผ่านมา ตลาดสำคัญ คือ WTI ของสหรัฐ และ Brent ของอังกฤษโดยคาดว่า ตลาด IFAD จะเริ่มการซื้อขายได้ในปีหน้า
สำหรับตลาด IFAD มีจุดประสงค์ที่จะเพิ่มสภาพคล่องและความโปร่งใสที่ดีขึ้นได้ในการซื้อขายน้ำมันดิบในภูมิภาคเอเชีย โดยทาง ICE และ ADNOC มีความตั้งใจที่จะพยายามสร้างให้น้ำมันดิบเกรด Murban ของ UAE ให้กลายมาเป็นเกรดพื้นฐานหรือเป็น Benchmark ใหม่ของตลาดเอเชียในอนาคต ซึ่งตลาดน้ำมันดิบฟิวเจอร์ คือตลาดที่ผู้ซื้อขายน้ำมันสามารถเข้ามาซื้อขายน้ำมันบนหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ได้ ทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเห็นราคาที่ซื้อขายได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญคือในส่วนของตลาดน้ำมันเมื่อถึงเวลาครบกำหนดสัญญาปิดแล้ว ผู้ซื้อผู้ขายต้องไปรับส่งมอบน้ำมันกันได้จริง
โดยที่ผ่านมาการซื้อขายน้ำมันดิบในเอเชียต้องทำการซื้อก่อนล่วงหน้าสองเดือน และผู้ซื้อและผู้ขายจะตกลงกันแค่ในส่วนราคา Premium (ส่วนต่างเพิ่มเติม) แต่ทั้งสองฝั่งจะยังไม่รับทราบถึงราคาที่ต้องซื้อขายจริง จนกว่าจะถึงเดือนส่งมอบ ทำให้ผู้ซื้อผู้ขายนั้นต้องถือความเสี่ยงด้านราคาไปจนถึงวันส่งมอบ
หากสภาพตลาดเปลี่ยนไปราคาก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยแต่ระบบการซื้อขายแบบฟิวเจอร์ ผู้ซื้อขายจะเห็นราคาอย่างชัดเจนตอนกดซื้อขาย ไม่จำเป็นต้องรอราคาสองเดือนอีกต่อไป ราคาที่เทรดกันนั้นจะเป็นราคาในวันที่ไปรับส่งมอบทันที ปิดความเสี่ยงให้ผู้ค้าขายได้อย่างดี
ทั้งนี้ ปัจจุบัน UAE ผลิตน้ำมัน 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นเกรด Murban มีการผลิต 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งส่งออกเกรด Murban ปริมาณ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และกลุ่ม ปตท.จัดซื้อเกรด Murbanในสัดส่วนเกือบ 20% หรือ ประมาณ 2 แสนบาร์เรล
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'ทรัมป์' ร่วง รีพับลิกันล่ม ประชาธิปไตยรุ่ง
'คนละครึ่งเฟส 2' รอบเก็บตก เคยถูกตัดสิทธิ 14 วัน ลงได้อีกหรือไม่?
"Weekly Oil" report 18 January 2021
‘หลักธรรมาภิบาล’ ขององค์กรไม่แสวงหากำไร