ปตท.ดันตั้งเทรดดิ้งในสหรัฐ คาดชัดเจนไตรมาส1ปีหน้า

ปตท.ดันตั้งเทรดดิ้งในสหรัฐ  คาดชัดเจนไตรมาส1ปีหน้า

ปตท.เตรียมชงบอร์ดคาดไตรมาส 1 ปีหน้าได้ข้อสรุป จัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งแห่งใหม่ในสหรัฐ หนุนรายได้เพิ่ม พร้อมจับมือ 2 ยักษ์ผู้ค้าน้ำมันระดับโลกทั้งตะวันออกกลางและเอเชีย เปิดตลาดซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า IFAD ในเอเชีย

นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมงาน ADIPEC 2019 ซึ่งนับเป็นหนึ่งในงาน Conference น้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ที่เมืองอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE)ว่า ปตท.เตรียมจัดตั้งบริษัททำธุรกิจซื้อมาขายไป(เทรดดิ้ง)ในสหรัฐ ช่วงไตรมาส1 ปีหน้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอขออนุมัติจัดตั้งบริษัท กับคณะกรรมการ(บอร์ด)บริษัทต่อไป

ปัจจุบัน ปตท.มีบริษัทเทรดดิ้งในลอนดอน และสิงคโปร์ ขณะที่มีสำนักงานตัวแทนฯในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย การจัดตั้งสำนักงานฯดังกล่าว ถือเป็นอีกสเต็ปที่จะก้าวเข้าไปในสหรัฐ และเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563

ทำให้ กลุ่ม ปตท.จะเพิ่มการจัดซื้อน้ำมันดิบจากสหรัฐที่มีกำมะถันต่ำมากขึ้น จากปัจจุบัน จัดซื้ออยู่ที่ราว 5 % อาจจะขยับขึ้นเป็น 10% ในช่วงปี 2563-2564 จากซื้ออยู่ 70,000 บาร์เรลต่อวัน จะเพิ่มขึ้นเป็นราว 100,000 บาร์เรลต่อวันซึ่งจะทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 3 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นราว 8 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนการจัดซื้อน้ำมันส่วนใหญ่อีก 70% ยังคงมาจากแถบตะวันออกกลาง และอีก 20% มาจากตะวันออกไกล(มาเลเซียและอินโดนีเซีย)

“ปัจจุบัน ธุรกิจเทรดดิ้ง สร้างรายได้ในสัดส่วน 25-30% ของรายได้ทั้งกลุ่ม ปตท.และเทรดดิ้ง ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็น Global Trading ขยายพอร์ตการค้าให้เพิ่มขึ้นและช่วยผลักดันให้ ปตท.มีกำไรเติบโตขึ้นด้วย”

157356262380

นอกจากนี้ ปตท.ยังเตรียมจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในการทำธุรกิจซื้อมาขายไป(เทรดดิ้ง)ใน UAE ในเร็วๆนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2562 ปตท.ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ กับทาง ADNOC บริษัทน้ำมันแห่งชาติอาบูดาบี และ ICE หนึ่งในผู้ซื้อขายตลาดน้ำมันล่วงหน้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังมีพันธมิตรเป็นบริษัทน้ำมันชั้นนำอื่นๆร่วมถือหุ้น อาทิ BP, Total, Vitol, Shell,Petro China เป็นต้น

การประกาศเปิดตัวตลาด ICE Futures Abu Dhabi (IFAD) เพื่อเสนอแพลตฟอร์มทำความซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นตลาดฟิวเจอร์แห่งใหม่ในเอเชีย จากที่ผ่านมา ตลาดสำคัญ คือ WTI ของสหรัฐ และ Brent ของอังกฤษ​โดยคาดว่า ตลาด IFAD จะเริ่มการซื้อขายได้ในปีหน้า

สำหรับตลาด IFAD มีจุดประสงค์ที่จะเพิ่มสภาพคล่องและความโปร่งใสที่ดีขึ้นได้ในการซื้อขายน้ำมันดิบในภูมิภาคเอเชีย โดยทาง ICE และ ADNOC มีความตั้งใจที่จะพยายามสร้างให้น้ำมันดิบเกรด Murban ของ UAE ให้กลายมาเป็นเกรดพื้นฐานหรือเป็น Benchmark ใหม่ของตลาดเอเชียในอนาคต ซึ่งตลาดน้ำมันดิบฟิวเจอร์ คือตลาดที่ผู้ซื้อขายน้ำมันสามารถเข้ามาซื้อขายน้ำมันบนหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ได้ ทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเห็นราคาที่ซื้อขายได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญคือในส่วนของตลาดน้ำมันเมื่อถึงเวลาครบกำหนดสัญญาปิดแล้ว ผู้ซื้อผู้ขายต้องไปรับส่งมอบน้ำมันกันได้จริง

โดยที่ผ่านมาการซื้อขายน้ำมันดิบในเอเชียต้องทำการซื้อก่อนล่วงหน้าสองเดือน และผู้ซื้อและผู้ขายจะตกลงกันแค่ในส่วนราคา Premium (ส่วนต่างเพิ่มเติม) แต่ทั้งสองฝั่งจะยังไม่รับทราบถึงราคาที่ต้องซื้อขายจริง จนกว่าจะถึงเดือนส่งมอบ ทำให้ผู้ซื้อผู้ขายนั้นต้องถือความเสี่ยงด้านราคาไปจนถึงวันส่งมอบ

หากสภาพตลาดเปลี่ยนไปราคาก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยแต่ระบบการซื้อขายแบบฟิวเจอร์ ผู้ซื้อขายจะเห็นราคาอย่างชัดเจนตอนกดซื้อขาย ไม่จำเป็นต้องรอราคาสองเดือนอีกต่อไป ราคาที่เทรดกันนั้นจะเป็นราคาในวันที่ไปรับส่งมอบทันที ปิดความเสี่ยงให้ผู้ค้าขายได้อย่างดี

ทั้งนี้ ปัจจุบัน UAE ผลิตน้ำมัน 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นเกรด Murban มีการผลิต 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งส่งออกเกรด Murban ปริมาณ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และกลุ่ม ปตท.จัดซื้อเกรด Murbanในสัดส่วนเกือบ 20% หรือ ประมาณ 2 แสนบาร์เรล