จังหวัดบุรีรัมย์ขับเคลื่อนงานชวนเลิกบุหรี่ผ่าน “คู่มือเลิกบุหรี่..คุณทำได้"

จังหวัดบุรีรัมย์ขับเคลื่อนงานชวนเลิกบุหรี่ผ่าน “คู่มือเลิกบุหรี่..คุณทำได้"

รพ.สต.บ้านเทพพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ ขับเคลื่อนงานชวน ช่วยเลิกบุหรี่ ผ่าน “คู่มือเลิกบุหรี่..คุณทำได้” ตัวช่วยสำคัญสร้างการสื่อสารเชิงบวกระหว่าง อสม.และผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่

การขับเคลื่อนงานชวน ช่วยเลิกบุหรี่ นอกจากการสร้างกลไกของเครือข่าย อย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เข้มแข็งในแล้ว การสนับสนุนเครื่องมือในการทำงานก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะหาก อสม. มีตัวช่วยที่ดี ก็จะสามารถชวนให้คนในชุมชนสนใจเลิกบุหรี่ได้ อย่างเช่นในพื้นที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านเทพพัฒนา ตำบลปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ คือหนึ่งในพื้นที่ตัวอย่าง ที่นำ “คู่มือเลิกบุหรี่...คุณทำได้ ของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” มาเป็นสะพานเชื่อม ระหว่าง อสม. และผู้ที่ติดบุหรี่ ทำให้สามารถสื่อสารกันได้ตรงจุดและเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายประยงค์ ทองพระพักตร์ ผู้อำนวยการ รพ.สต. บ้านเทพพัฒนา อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ เล่าว่า ได้ดำเนินการเรื่องการควบคุมยาสูบมาตั้งแต่ปี 2555 ได้รับงบประมาณจาก สสส.มาจัดโครงการคนโคกมะม่วง ร่วมใจต้านภัยบุหรี่ ทุกภาคมีส่วนร่วมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เน้นให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม จากนั้นจัดทีมสำรวจทุกหลังคาเรือนเพื่อหาผู้ที่สูบบุหรี่ เมื่อทราบเป้าหมายแล้ว ก็จะจัดตั้งคณะทำงาน นำทีมโดยผู้นำชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เครือข่ายอสม. และเครือข่ายด้านสุขภาพอื่นๆโดยแยกเป็นหมู่บ้าน แบ่งกลุ่มในการลงพื้นที่ให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมายทุกหลังคาเรือน โดยมี อสม.เป็นวิทยากร แนะนำพร้อมแนะนำมาตรการต่างๆ เพื่อชวนช่วยเลิกบุหรี่

นายประยงค์ กล่าวด้วยว่า แม้จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จาก สสส. รวมทั้งการเข้ามาของโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เทิดไท้องค์ราชันย์ ประกอบกับในพื้นที่มีปราชญ์ชาวบ้านที่เข้ามาช่วยทำพันธสัญญา ซึ่งเป็นสัญญาใจในการเลิกบุหรี่ การกำหนดจำนวนผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่กับ อสม.ในอัตรา 1:3 แต่ อสม. มีแค่มือ ไม่มีเครื่องมือที่จะใช้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการดำเนินโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ทำให้ได้ค้นพบ “คู่มือเลิกบุหรี่..คุณทำได้”

“ผมจะใช้คำว่าเครื่องมือเลิกบุหรี่คุณทำได้ เครื่องมือนี้จะบอกในเรื่องการประเมินนิโคติน ซึ่งอสม.จะรู้ว่า ต้องจัดการอย่างไร เพื่อประเมินระดับนิโคตินตั้งแต่ 0- 10 เมื่อ อสม.ทราบระดับนิโคตินในกลุ่มเป้าหมาย ก็จะสามารถแยกได้ว่าใครติดในระดับใด เช่น ระดับ 0-5 คะแนนไม่นับว่าติดนิโคติน อสม.สามารถจัดการได้ แนะนำให้กลุ่มเป้าหมายเลิกบุหรี่ได้ แต่ถ้าวัดแล้วอยู่ในระดับ 6 – 10 คะแนน เรียกว่าติดนิโคตินระดับสูง จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานร่วมกับ อสม.ในการช่วยเลิก เพราะฉะนั้นในพื้นที่นี้ เราใช้คู่มือเป็นเครื่องมือดำเนินการ เป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ติดบุหรี่กับ อสม. เพื่อมาพูดคุย ทำให้พบว่ามีคนเลิกบุหรี่ได้ในอัตราที่ค่อนข้างสูง เพราะเมื่อลงพื้นที่ประเมิน อสม.จะให้ผู้ที่ติดบุหรี่ลงคะแนนเอง ก็จะได้เห็นว่าตัวเองติดระดับไหน สิ่งเหล่านี้คือการสร้างการมีส่วนร่วม เมื่อผู้ที่ติดบุหรี่รู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมก็จะตั้งใจเลิกได้ ดังนั้นนี่คือประเด็นที่เราทำให้อสม.มีกำลังใจในการทำงาน” นายประยงค์ กล่าว

นายประยงค์ กล่าวอีกว่า เครื่องมือเลิกบุหรี่ ช่วยลดความประหม่าของอสม. ลดช่องว่าระหว่างผู้สูบกับผู้ที่จะชวนเลิก เป็นตัวกลางที่จะช่วยดำเนินการ ใครที่เลิกได้ก็จะทำเครื่องหมายสีต่างๆไว้ ส่วนคนที่เลิกไม่ได้ก็จะทำสัญลักษณ์ไว้เช่นกัน จากนั้นก็จะนำไปให้คณะกรรมการช่วยดูและระดมความคิดกันว่าจะช่วยกลุ่มนี้อย่างไร รวมทั้ง อสม.ก็จะติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ในระยะ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือนและอีก 1 ปี เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการชวนช่วยเลิกบุหรี่ ส่วนตัวช่วยอื่นๆที่เป็นสมุนไพร ได้แก่ มะนาว รางจืด หญ้าดอกขาว แต่ในพื้นที่โคกมะม่วงจะใช้วิธีเลิกบุหรี่แบบผสมผสานทั้งสมุนไพร การแพทย์แผนไทย การหักดิบ โดยยึดที่ความต้องการของผู้ที่จะเลิกเป็นหลักว่าสะดวกใช้วิธีใด

ด้าน นางวังแก้ว หาญไพรี อสม.หมู่ที่ 1 บ้านเทพพัฒนา กล่าวว่า ได้ใช้ คู่มือนี้ในการชวน ช่วย เลิกบุหรี่ โดยจะอ่านและอธิบายให้กับคนที่ไปชวนเลิก เพื่อให้ถามตัวเองว่า อยากเลิกจริงหรือไม่ เพราะความตั้งใจจริงคือกุญแจสำคัญ จากนั้นจะถามเหตุผลที่คุณสูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้เพราะอะไร เช่น เพราะติดบุหรี่ ดื่มสุรา เพื่อนฝูง เครียด เป็นต้น บางคนเมื่อ อสม. พูดชักชวนให้เลิก ก็คิดอยากจะเลิก โดยให้เหตุผลว่าเพราะห่วงใยสุขภาพ กลัวการเจ็บป่วย เมื่อสัมภาษณ์แล้ว ก็จะขีดลงในช่องของคู่มือ และอ่านให้ผู้ที่ต้องการเลิกฟังว่าบุหรี่เป็นสิ่งเสพติดทำให้เลิกได้ยาก แต่ก็สามารถเลิกได้ถ้าตั้งใจ อธิบายถึงอันตรายของสารนิโคตินในบุหรี่ เป็นสารในบุหรี่ที่มีฤทธิ์รุนแรงทำให้เกิดการเสพติดได้เทียบเท่ากับสารเสพติดของเฮโรอีน

ทั้งนี้ แบบทดสอบระดับการสูบ จะช่วยประเมินว่าเลิกด้วยตนเองได้หรือต้องพึ่งบุคลากรสาธารณสุข หากคะแนนออกมาว่า ติดสารนิโคตินในระดับสูง ก็จะต้องให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาช่วยให้คำปรึกษา แจ้งชื่อไปที่ รพ.สต. และให้ครอบครัวลงนามเป็นพยานว่าจะเลิกบุหรี่ ทำสัญญาร่วมกัน บางคนที่เลิกไม่ได้ในช่วงแรก จะแนะนำวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมว่า ต้องกำจัดอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ออกไปให้หมด ต้องใช้วิธีการลดลงก่อน จากนั้นค่อยๆ เลิกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ซึ่ง อสม.ก็จะคอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำ พร้อมทั้งมีแบบฟอร์มติดตามอย่างใกล้ชิดภายในระยะเวลา 12 เดือน

นางวังแก้ว ระบุว่า การมีคู่มือเลิกบุหรี่ ทำให้อสม. สามารถสื่อสารกับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ได้อย่างตรงจุด ตั้งแต่กระบวนการแรก ไปจนถึงการติดตามผลการเลิกบุหรี่ พร้อมฝากถึงพี่น้อง อสม.ที่ทำงานเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ว่า อย่าท้อ เพราะการทำงานนี้ไม่ใช่ทำเล่นๆ แบบไม่ติดตาม ดังนั้นจึงต้องอดทน ตั้งใจและตั้งมั่นใจสิ่งที่ทำ ก็จะสามารถชวน ช่วย เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ

ขณะที่ ข้อมูลในระบบ 43 แฟ้มมาตรฐานด้านการแพทย์และสุขภาพ (Health Data Center : HDC) ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า ในปีงบประมาณ 2562 มีจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ได้รับการคัดกรองการติดบุหรี่ จำนวน 659,102 คน พบว่าสูบบุหรี่ 91,498 คน สูบบุหรี่แต่เลิกแล้ว 13,322 คน ได้รับการบำบัด 81,593 คน เลิกบุหรี่ได้ 1 เดือน 2,372 คน เลิกได้ 3 เดือน 2,413 คน เลิกได้ 6 เดือน 18,909 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2562)