ส่องเส้นทางชีวิต 'ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร' แห่งเมืองคนดุ

ส่องเส้นทางชีวิต 'ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร' แห่งเมืองคนดุ

คนในข่าวร้อน..ส่องเส้นทางชีวิต "ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร" แห่งเมืองคนดุ

“ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” เกิดและเติบโตในเมืองคนดุ จังหวัดเพชรบุรี  เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในหมู่คนรู้จักว่า มีนิสัยใจคอกว้างขวาง ไม่เกรงกลัวใคร และด้วยบุคลิกดังกล่าว เขามักเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์แหลมคมที่เป็นทั้งด้านบวกและด้านลบอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเข้ามารับตำแหน่งสำคัญอย่างหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีพื้นที่เกือบสองล้านไร่ และเต็มไปด้วยเรื่องราวและผลประโยชน์

157355255130


จากชีวิตวัยเด็กที่ค่อนข้างโลดโผน และมีโอกาสรู้จักและมีสายสัมพันธ์กับตระกูล “อังกินันท์”  ซึ่งเป็นตระกูลการเมืองดังตระกูลหนึ่งของเพชรบุรี ชัยวัฒน์มีโอกาสได้เข้าเรียนระดับปริญญาตรีในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านการบริหารทรัพยากรป่าไม้ คณะเดียวกันในอีกหลายปีต่อมา


หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ชัยวัฒน์ เริ่มชีวิตราชการเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่กรมป่าไม้ ก่อนที่จะเติบโตในสายงานทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่วนอุทยานในจังหวัด รวมทั้ง วนอุทยานชะอำ


ปลายปี 2551 ชัยวัฒน์ในขณะที่มีอายุ 44 ปี ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นที่รับรู้กันในหมู่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าเป็นพื้นที่ทำงานที่ท้าทายมากที่สุดพื้นที่หนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยขนาดที่กว้างใหญ่ ของพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ และสภาพปัญหาที่มีความซับซ้อน ส่วนหนึ่งอันเนื่องมาจากแนวเขตแดนที่ติดกับประเทศพม่า และการมีชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่า และที่นี่เอง ที่ทำให้ชัยวัฒน์เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศในปีต่อๆ มา จากสถานการณ์และเรื่องราวที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้อง


จากเหตุการณ์เถาวัลย์คลุมป่าในช่วงปีแรกๆ ที่เขาเข้ารับตำแหน่ง ชัยวัฒน์มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับองค์กรภายนอก ก่อนที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าและการถูกร้องเรียนเป็นครั้งแรกๆ กับบางองค์กร ไม่ว่าจะเป็นสภาทนายความและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน อันเนื่องมาจากแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงกัน และความเชื่อมั่นของเขาว่า เขาดำเนินการถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว

157355323373


ในปี 2553 ชัยวัฒน์ริเริ่มโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนบ้านโป่งลึก-บางกลอยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยได้รับงบประมาณจากสำนักคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลังพบว่าโครงการช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ก่อนหน้านี้ได้ยุติลง พร้อมๆ กับการดำเนินการ “ยุทธการตะนาวศรี” ซึ่งทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังถูกนำไปผูกโยงกับเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของทหารตกติดต่อกัน 3 ลำ ในป่าลึกของแก่งกระจานในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2554


แต่ก่อนที่จะกลายเป็นความขัดแย้งที่บานปลายออกไป ชัยวัฒน์ได้นำกำลังเข้าช่วยเหลือกู้ศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 17 คน และด้วยบุคลิกความเป็นผู้นำ ที่นำกำลังกู้ศพผู้เสียชีวิตด้วยตัวเองเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ใต้บังคับบัญชาจนทำให้ภารกิจสำเร็จลงด้วยดี ทำให้ชัยวัฒน์ได้การยอมรับนับถือเป็นอย่างมากจากผู้ใต้บังคับบัญชา และได้รับการยกย่องจากคนไทยทั่วประเทศ เขาได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประจำปี 2554 จากวีรกรรมในครั้งนั้น

157355334272


แต่ในเวลาไม่นานนัก เรื่องราวยุทธการตะนาวศรีที่เขาดำเนินการ ได้รับการเปิดเผยจากสื่อบางสำนักและนำไปสู่ข้อโต้แย้งบางประการที่ว่า ในการดำเนินการรื้อถอนทำลายเผาสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินที่สำรวจพบในป่าทางตอนบนเพื่อป้องกันแก้ไขการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำและเหตุผลทางด้านความมั่นคง อาจมีทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนดั้งเดิมที่นั่นปะปน


ชัยวัฒน์เคยชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ว่า เขาได้พยายามเจรจากับกลุ่มคนที่เขาพบในป่านานกว่าปี เพื่อให้โอกาสในการอพยพโยกย้ายและขนย้ายสิ่งของ และยืนกรานว่าไม่ได้ดำเนินการใดๆ กับชุมชนดั้งเดิม หากแต่เป็น “ชนกลุ่มน้อย” ที่ลักลอบหลบหนีเข้ามาตามแนวชายแดน

การดำเนินการดังกล่าว นำไปสู่ความขัดแย้งและการฟ้องร้องดำเนินคดีกันไปมา ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 11 คดี ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีทางการปกครอง 


ในระหว่างการต่อสู้คดีที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ชัยวัฒน์ต้องรับมือกับปัญหาการล่าสัตว์ในพื้นที่ รวมทั้งขบวนการล่าช้างและการล่าสัตว์ป่าเพื่อเกมกีฬาโดยนายตำรวจใหญ่และพวก ทำให้งานด้านป้องกันและปราบปรามของเขาเด่นชัดขึ้น เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะโดยทั่วไป
 

157355266634

หลังการหายตัวไปของ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ ผู้นำชุมชนชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย ในวันที่ 17 เมษายน 2557 ชัยวัฒน์ถูกย้ายจากแก่งกระจานไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนจัดการป่าต้นน้ำที่จังหวัดปราจีนบุรี นัยว่า เพื่อเปิดทางให้กับการสอบสวนดำเนินคดี


เขาและเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อีก 4 นายได้ควบคุมตัวบิลลี่ไว้ หลังจากพบว่า บิลลี่ครอบครองน้ำผึ้งโดยไม่ได้รับอนุญาตในระหว่างที่เดินทางออกจากหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย โดยชัยวัฒน์อ้างว่า ได้ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้วหลังการควบคุมตัว

ในปี 2559 ชัยวัฒน์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าชุดปราบปรามเฉพาะกิจของกรมอุทยานฯ “หน่วยฯ พญาเสือ” มีอำนาจหน้าที่ป้องกันและปราบปรามคดีป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ ทำให้ชื่อเสียงทางด้านงานป้องกันและปราบปรามของชัยวัฒน์ยิ่งเด่นชัดขึ้นและเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ พร้อมๆกับคดีฟ้องร้องหลายคดีที่เขามักเปรยว่า เกิดจากความกล้าชน ไม่เกรงกลัวใครของเขา

157355290734

                                                                “ฉก.พญาเสือ”นำทีมบุกยึดที่รุกป่าอช.ดอยสุเทพ


เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของหน่วยฯ ในเวลาต่อมา หลังจากได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 และที่ 9 ในภาคอีสาน เพื่อปราบปราบเรื่องไม้พะยูงและยาเสพติดในพื้นที่ ในช่วงปี 2561 จนถึงปัจจุบัน


ในวันที่ 3 กันยายน กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เปิดแถลงข่าวการพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ในเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งเมื่อตรวจพิสูจน์ทางดีเอนเอแล้ว ตรงกับมารดาของบิลลี่ และนำไปสู่ข้อสรุปว่า บิลลี่น่าจะเสียชีวิตแล้ว


ชื่อของชัยวัฒน์ กลับมาปรากฏในสื่ออีกครั้ง พร้อมๆ กับเสียงเปรยของชัยวัฒน์ ถึงการทำงานหนักที่ผ่านๆ มาเพื่อปกป้องรักษาผืนป่าท่ามกลางข้อจำกัดและแรงกดดันต่างๆ และความรู้สึกเสียใจและน้อยใจที่ถูกนำไปเกี่ยวข้องกับคดี ในขณะที่ความจริงใดๆ ยังไม่ปรากฏ

157355279521

ไทม์ไลน์คดีความระหว่างชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แก่งกระจาน
 
4-9 พฤกษภาคม 2554: นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขณะนั้น สนธิกำลังดำเนินโครงการ “ขยายผลการอพยพ ผลักดัน จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานตามแนวชายแดนไทย-พม่า” หรือ “ยุทธการตะนาวศรี” (ครั้งที่ 4) โดยมีการรื้อถอนทำลายและเผาสิ่งปลูกสร้างที่พบในพื้นที่ราว 100 หลัง
 
29 ธันวาคม 2554: นายชัยวัฒน์ ตกเป็นจำเลยร่วม คดีจ้างวานฆ่าและร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน (นายทัศน์กมล โอบอ้อม ซึ่งชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ในเรื่องการร้องเรียนถึงหน่วยงาน)


12 มิถุนายน 2558 ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน ยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน เนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอฟังได้
 
1 พฤกษภาคม 2555: นายนอแอะ มีมิ ชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย ฟ้องศาลแพ่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในกรณียุทธการตะนาวศรีที่ดำเนินการในวันที่ 5-9 พฤกษภาคม ทำให้ได้รับความเสียหาย
 
4 พฤกษภาคม 2555: นายคออี้ มีมิ ชาวกระเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอยและพวก รวม 6 คน ฟ้องศาลปกครอง กรมอุทยานฯ และ ทส. ในกรณียุทธการตะนาวศรีที่ดำเนินการในวันที่ 5-9 พฤกษภาคม ทำให้ได้รับความเสียหาย


12 มิถุนายน 2561: ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิผู้ฟ้องจากการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนราชการ ให้มีการชดใช้ค่าเสียหายจากการดำเนินการ แต่ไม่ได้ตัดสินให้กลับไปอยู่อาศัยที่เดิมเพราะไม่มีเอกสารหลักฐานยืนยันสิทธิ
 
24 สิงหาคม 2555: ชาวบ้านยื่นหนังสือกล่าวโทษหัวหน้าอุทยานฯแก่งกระจานต่อตำรวจเพชรบุรี
 
17 เมษายน 2557: บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ผู้นำชุมชนรุ่นใหม่หายตัวไป หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ
 
18 เมษายน 2557: พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ เข้าแจ้งความเรื่องบิลลี่หายตัวที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน
 
24 เมษายน 2557: พิณนภายื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้มีการปล่อยตัวบิลลี่
 
25 เมษายน 2557: สำนักงานตำรวจแห่งชาติประชุมคดี
 
17 กรกฏาคม 2557: ศาลจังหวัดเพชรบุรียกคำร้อง (พิณนภาอุทธรณ์)


26 กุมภาพันธ์ 2558: ศาลจังหวัดเพชรบุรีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน (พิณนภาฎีกาต่อ)

2 สิงหาคม 2558: ศาลฎีกาพิพากษายืน เนื่องจากพยานผู้ร้องเป็นเพียงพยานบอกเล่า
 
6 สิงหาคม 2558: พิณนภายื่นหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษกรณีการหายตัวของบิลลี่ (ดีเอสไอ)

16 มิถุนายน 2559: ดีเอสไอไม่รับคำร้อง

19 ตุลาคม 2558: นายคออี้แจ้งความดำเนินคดีกับหัวหน้าอุทยานฯแก่งกระจาน นายชัยวัฒน์ ข้อหา วางเพลิงเผาทรัพย์

28 มิถุนายน 2561: ดีเอสไอรับคดีการหายตัวของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ
 
25 ตุลาคม 2561: ทีมพญาเสือ กรมอุทยานฯ แจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านที่ฟ้องศาลปกครอง