Engagement กับคนรุ่นใหม่

Engagement กับคนรุ่นใหม่

ความแตกต่างของระดับความผูกพันของพนักงานกับองค์กร ส่วนใหญ่กว่า 70% มาจากผู้บริหาร ซึ่งนับเป็นเรื่องที่องค์กรต้องนำมาทบทวน และเรียนรู้ถึงความต้องการของคนรุ่นใหม่ เพื่อปรับ Engagement ให้สอดคล้องกัน

Engagement Survey เพื่อประเมินระดับความผูกพันที่พนักงานมีต่อองค์กร เป็นสิ่งที่นิยมโดยทั่วไป อย่างไรก็ดี การสำรวจดังกล่าวเพียงแค่ตอบได้ว่าพนักงานมีความผูกพันกับองค์กรหรือไม่ เพียงใด แต่ไม่ได้ตอบว่าแล้วทำอย่างไรพนักงานถึงจะมีความผูกพันกับองค์กรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นความปราถนาของผู้บริหารส่วนใหญ่

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจของ Gallup บริษัทที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญเรื่อง Engagement นั้น พบว่าทั่วโลกมีพนักงงานเพียงแค่ 15% เท่านั้นที่ผูกพันกับองค์กร คำถามคือแล้วเป็นหน้าที่ของใครที่จะทำให้พนักงานมีความ Engaged กับองค์กร? จากงานวิจัยของ Gallup อีกเช่นเดียวกันที่พบว่า 70% ของความแตกต่างในระดับความผูกพันของพนักงานนั้นมาจากผู้บริหาร ดังนั้นพอจะสรุปได้ว่าอยากจะให้พนักงานมีความผูกพันในองค์กรมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารเป็นหลัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรในอนาคต แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีระดับความผูกพันกับองค์กรน้อยที่สุด จากการสำรวจของ Gallup อีกเช่นเดียวกันที่พบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่นี้เป็นกลุ่มที่มีโอกาสในการเปลี่ยนงานมากที่สุด เป็นกลุ่มที่มองหางานและโอกาสใหม่ๆ ตลอดเวลา และพร้อมจะเริ่มงานในที่ใหม่ทันทีที่มีโอกาส

เชื่อว่าหนึ่งในประเด็นสำคัญที่อยู่ในใจผู้บริหารตลอดคือทำอย่างไรถึงจะทำให้พนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่เกิดความผูกพันกับองค์กร ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ให้คนกลุ่มนี้เกิดความผูกพันกับองค์กรเท่านั้น แต่สำคัญคือทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่นี้ไม่เปลี่ยนหรือโยกย้ายงานทุกครั้งที่มีโอกาสดีๆ เข้ามา?

ผู้บริหารจำนวนมากมักจะชอบคิดว่าตนเองก็ปฏิบัติตนและบริหารคนรุ่นใหม่เหมือนๆ กับคนในรุ่นอื่นๆ ที่ผ่านมา แล้วทำไมคนรุ่นใหม่นั้นจึงยังไม่ค่อยมีความผูกพันกับองค์กรเหมือนกับคนรุ่นอื่นๆ? ปัญหาคือวิธีคิดดังกล่าวไม่ถูกต้องทีเดียว เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการที่จะได้รับการปฏิบัติและการบริหารแบบในอดีต

คนรุ่นเก่า (หรือพวกที่ไม่ใช่คนรุ่นใหม่) อาจจะทน ทำใจ และมีความสุขกับงานที่น่าเบื่อ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่นั้น พวกเขาจะไม่ทน และจะคอยแสวงหาโอกาสและที่ทำงานที่สามารถตอบโจทย์และความต้องการของพวกเขาได้ 

ซึ่งทาง Gallup ก็ได้รวรวมประเด็นหรือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการไว้ ดังนี้

1.โอกาสในการเรียนรู้และเติบโต จากการสำรวจพบว่าคนรุ่นใหม่ที่หางานนั้น จะมองหาโอกาสในการเรียนรู้และเติบโตถึง 59% เทียบกับคนที่หางานในกลุ่ม Gen X 44% และ Baby Boomers 41%

2.เป้าหมายขององค์กรที่ชัดเจน (Sense of purpose) โดยคนรุ่นใหม่จะถูกจูงใจโดยองค์กรที่มีภารกิจและเป้าหมายที่ชัดเจน ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่รู้ว่าองค์กรที่ตนเองทำงานอยู่นั้นดำรงอยู่ไปเพื่ออะไร (ที่มากกว่าเพียงการสร้างผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น) และสร้างความแตกต่างให้กับโลกนี้ได้อย่างไร คนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็มีโอกาสสูงที่จะเปลี่ยนงานใหม่

3.ผู้บริหารและการบริหารที่มีคุณภาพ เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเมื่อกำลังมองหางาน เพราะสำหรับคนรุ่นใหม่นี้ การทำงานคือส่วนที่สำคัญของชีวิต ดังนั้นถ้าเจอผู้บริหารที่ด้อยคุณภาพ แถมเจอวิธีการบริหารที่ไม่มีคุณภาพสำทับเข้าไปอีกยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่พร้อมจะเปลี่ยนงานได้ทันที

4.โอกาสในความก้าวหน้า สำหรับคนรุ่นใหม่นั้น โอกาสในความก้าวหน้าในตำแหน่งงานและผลตอบแทนก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบันที่มักจะวัดค่ากันที่ตำแหน่ง รายได้ หรือระดับชั้นทางสังคม ดังนั้นเลยไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของโอกาสในความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก

น่าจะกลับไปทบทวนดูนะครับว่าในการบริหารองค์กรของท่าน ปัจจัยทั้ง 4 ประการข้างต้นเป็นอย่างไรบ้าง และสามารถดึงดูดและทำให้พนักงานรุ่นใหม่เกิดวามผูกพันกับองค์กรหรือไม่ สำคัญที่เราต้องยอมรับคือสำหรับคนรุ่นใหม่นั้น เราไม่สามารถที่จะใช้รูปแบบหรือวิธีการบริหารแบบเดิมๆ ที่เราใช้ได้อีกต่อไป