5 อาการน่าเป็นห่วง '4 มิติท้าทาย' ของประเทศไทย

5 อาการน่าเป็นห่วง '4 มิติท้าทาย' ของประเทศไทย

ที่ผ่านมา การเมือง-การคลัง ทำให้ไทยเดินหน้ามาไกลพอสมควร แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายอย่าง ซึ่งนับเป็นความท้าทายทางการเมือง-การคลังไทยในระยะต่อไปอย่างมาก

เมื่อวันที่ 21 ..ที่ผ่านมา ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "การเมือง การคลัง พลังนำประเทศ" จัดโดยสมาคมศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 

"กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ถูกจัดตั้งขึ้น ก็ด้วยความหวังว่าจะเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาของไทย โดยหวังว่าที่เด็กไทยไม่ว่าจะเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวยหรือยากจน อาศัยอยู่จังหวัดไหนของประเทศ จะต้องมีสิทธิเข้าถึงการศึกษาและได้รับการพัฒนาโดยปราศจากความเหลื่อมล้ำได้ เพื่อให้ชีวิตเขาสามารถก้าวหน้าไปได้ตามศักยภาพ ดร.ประสาร ได้ให้มุมมองแง่คิดที่น่าสนใจ ที่ผู้เขียนขออนุญาตสรุปมา ที่นี้

157355942648

  • 5 อาการน่าเป็นห่วงของประเทศไทย

ที่ผ่านมา "การเมือง-การคลัง" ทำให้ประเทศไทยเดินหน้ามาไกลพอสมควร แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ หลายอย่างนับเป็นความท้าทายทางการเมือง-การคลังไทยในระยะต่อไปอย่างยิ่ง โดยมี 5 อาการสำคัญ ที่เห็นหัวข้อก็คงไม่มีใครออกมาบอกว่าไม่ใช่!! ดังนี้

- อาการแรก "ศักยภาพเศรษฐกิจถดถอย"

- อาการที่สอง "ความเหลื่อมล้ำสุดโต่ง"

- อาการที่สาม "การก้าวสู่สังคมคนชราเต็มรูปแบบ"

- อาการที่สี่ "เทคโนโลยีป่วนโลก"

- อาการสุดท้าย "การเมืองในม่านหมอก"

  • 4 มิติ การเมือง-การคลังกับการพัฒนาเพื่ออนาคต

มิติแรก ประเทศไทยที่เท่าเทียม การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องสำคัญในลำดับต้นที่รัฐบาลควรดำเนินการในภาพใหญ่ แนวทางสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ กระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นและพัฒนาหัวเมืองในภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะการกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาไปสู่ประชาชนแต่ละคนให้ทั่วถึงมากขึ้น ไม่กระจุกอยู่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ต้องทำให้คนไทยอยู่ได้อย่างมีความหวังว่า "ชีวิตข้างหน้าจะดีขึ้น" มีความหวังว่า จะสามารถก้าวพ้นจากความยากจนได้ในช่วงชีวิตถ้ามุ่งมั่นในการทำงาน และดำรงชีวิตด้วยความสุจริต การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเด็กไทยเกือบ 7 แสนคน หรือ 5% ของประชากรต้องหลุดจากระบบการศึกษา

มิติที่สอง ประเทศไทยที่แข่งขันได้ ทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังถูกประเทศอื่นไล่ตามมาติดๆ จากศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ลดลง ทางออกเดียว คือ คนไทย ธุรกิจไทย ภาครัฐไทย จะต้องเก่งขึ้น ทุกองค์กรในประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน มุ่งพัฒนาในอุตสาหกรรมที่ไทยเก่ง เช่น เกษตรแปรรูป อาหาร ท่องเที่ยว สุขภาพ เอสเอ็มอี ฮอสพิทาลิตี้ สร้างความเชื่อมโยงทางการตลาดและการลงทุนกับเพื่อนบ้าน CLMV ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการพัฒนา โดยส่งเสริมให้มีการทำวิจัยและสร้างนวัตกรรม ปรับนโยบายด้านการศึกษาและแรงงาน พัฒนาทักษะใหม่ได้ทันกับบริบทโลกใหม่และรองรับงานในอนาคต และสนับสนุนให้คนไทยสามารถที่จะเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

มิติที่สาม ประเทศไทยที่ทันสมัย โปร่งใส และเป็นธรรม มุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมการเมืองและสังคมที่เสรีเปิดกว้าง เป็นรากฐานสำคัญ เพราะเสรีภาพและการเปิดกว้างทางความคิดจะทำให้คนในประเทศทันสมัยเท่าทันโลกและทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น คนในสังคมต้องมีความอดกลั้น รับฟังความเห็นที่แตกต่างอย่างปราศจากอคติ นับเป็นเรื่องสำคัญและเป็นรากฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและเป็นประชาธิปไตย ถ้าคนในสังคมใดทนรับฟังความคิดเห็นหรือตรวจสอบจากคนนอกไม่ได้ ก็เท่ากับสังคมนั้นจะไม่สามารถเห็นความเป็นไปได้อื่นที่อาจจะดีกว่าได้

มิติที่สี่ ประเทศไทยที่ยั่งยืน การให้ความสำคัญกับ "ความยั่งยืน" (Sustainability) ที่กระตุ้นให้พวกเราต้องมองไกลไปข้างหน้า มองไปในอนาคตที่ไม่ใช่นึกถึงแค่วันนี้ และสหประชาชาติ (United Nations) ผลักดันแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งหมายถึงการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ของคนในปัจจุบัน โดยไม่เบียดบังทรัพยากรหรือลดทอนคุณภาพชีวิตของคนในเจเนอเรชันหน้า

ดร.ประสาร ท่านสรุปไว้ว่า มองไปในอนาคต ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ท้าทายในหลายมิติ แต่การเมือง-การคลังที่มีศักยภาพจะเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่นและมั่นคง 

โดยมิติสำคัญที่รัฐบาลควรดำเนินการหรือคำนึงถึง คือ 1.สร้างความเท่าเทียมในสังคม 2.เพิ่มศักยภาพของประเทศในทุกระดับ 3.ปรับกลไกภาครัฐให้ทันสมัย เปิดกว้าง เป็นธรรม และ 4.มีกรอบการดำเนินการด้านการคลังที่คำนึงถึงคนเจเนอเรชันต่อไปอย่างยั่งยืน