เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวปีหน้า?

เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวปีหน้า?

นักเศรษฐกิจ ธนาคาร รวมถึงนักธุรกิจ ต่างมองว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างมาก แต่คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาในปี 2020 สถานการณ์เช่นนี้จะเป็นจริงหรือไม่ หรือนี่จะเพียงการมองโลกในแง่ดีเท่านั้น

ปัจจุบันทุกคนเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลง แต่หากเชื่อรัฐบาลและเสียงส่วนใหญ่ก็จะยังมองว่าเป็นการชะลอตัวลงชั่วคราว และเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกในต้นปีหรือกลางปีหน้า ทั้งนี้แบงค์ออฟอเมริกาพันธมิตรของภัทรฯ ก็มองว่าเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจะขยายตัวที่ระดับต่ำสุดในไตรมาส 4 ของปีนี้ที่ประมาณ 0.7% และเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องมาขยายตัวที่ประมาณ 1.5% ในไตรมาส 3 ของปี 2020 ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐพอดี เพราะประเมินว่ารัฐบาลสหรัฐจะยุติการทำสงครามทางการค้ากับจีนเป็นการชั่วคราวในปี 2020 และหันมากระตุ้นเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกันก็คาดหวังว่าการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษหากไม่ถูกเลื่อนออกไปอีก ก็จะเป็นการแยกตัวที่มีความราบรื่นในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นอีซีบีก็คงจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มขึ้นและรัฐบาลเยอรมันอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง ทั้งนี้มีการฝากความหวังเอาไว้อย่างมากกับผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปคนใหม่คือนาง Christian La Garde ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการช่วยกอบกู้เศรษฐกิจยุโรปเมื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ของไอเอ็มเอฟ

ในด้านของเอเชียนั้น ก็เชื่อว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเพิ่มมาตรการด้านการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถรับมือกับการปรับขึ้นภาษีการค้าจาก 8% เป็น 10% เริ่มต้นจากวันที่ 1 ..ที่ผ่านมา นอกจากนั้นญี่ปุ่นก็สามารถเจรจาทำความตกลงการค้าเสรีกับรัฐบาลสหรัฐได้สำเร็จ ทำให้ญี่ปุ่นไม่ต้องเสี่ยงจากการถูกประธานาธิบดีทรัมป์ขู่ขึ้นภาษีศุลกากรเช่นที่ยุโรปและจีนกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ในทำนองเดียวกันนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อรัฐบาลจีนจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 6% ต่อปี (หรือใกล้เคียง) และจีนกับสหรัฐก็น่าจะสามารถหาลู่ทางในการทำข้อตกลงระยะสั้นและยุติสงครามทางการค้าไปก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการถดถอยของเศรษฐกิจโลกในปี 2020

โดยสรุปแล้วปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลกคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน เพราะเศรษฐกิจสหรัฐบวกเศรษฐกิจจีนรวมกันคิดเป็นสัดส่วนประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ นั้น ผูกพันกับเศรษฐกิจทั้ง 2 อย่างมาก เมื่อประเมินทั้งในทางตรงและทางอ้อม เช่น เศรษฐกิจยุโรป โดยเฉพาะเศรษฐกิจเยอรมันนั้นพึ่งพากำลังซื้อของจีนอย่างมาก และหากมองในมิตินี้ก็จะเห็นว่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐ ญี่ปุ่น จีนและยุโรปนั้น ก็รวมกันประมาณ 40% ของการส่งออกทั้งหมด นอกจากนั้นการท่องเที่ยวของจีนก็คิดเป็นสัดส่วนประมาณ ¼ ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดของไทย ทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยประมาณ 20% ของจีดีพี เป็นต้น

คำถามที่ตามมาคือหากมีการ "สงบศึก" เป็นการชั่วคราว (ประมาณ 1-2 ปี) แล้วจะทำให้เศรษฐกิจโลกสามารถฟื้นตัวได้จริงหรือ? ผมคิดว่าการสงบศึกแบบพร้อมจะรบกันอีกนั้น จะปิดกั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเกินกว่าที่ประเมินกันอยู่ในขณะนี้ เพราะการทำสงครามครั้งนี้ดูจะมีความต้องการที่แน่วแน่จากสหรัฐว่าจีนจะต้องถูกกีดกันออกจากห่วงโซ่อุปทานของโลก (global supply chain) จึงได้มีข่าวออกมาว่าสหรัฐกำลังทบทวนนโยบายดูว่าสมควรจะควบคุมการลงทุนของบริษัทและกองทุนของสหรัฐในประเทศจีนหรือไม่ และอาจรวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการให้บริษัทของจีนเข้ามาขายหุ้นและระดมทุนในตลาดหุ้นของสหรัฐอีกด้วย

ในบรรยากาศเช่นนี้การลงทุนทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศหลัก ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นและจีนเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะชะงักงันและจะต้องใช้เวลา 2-3 ปีในการปรับโครงสร้างและกระบวนการผลิต ตลอดจนการสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ กล่าวคือโลกอาจต้องมีห่วงโซ่อุปทานแยกเป็น 2 ส่วนก็ได้ ส่วนหนึ่งของจีน+เอเชีย และอีกส่วนหนึ่งของทวีปอเมริกา ซึ่งระหว่างการปรับตัวไปสู่โครงสร้างใหม่ที่ว่านี้ โลกเสี่ยงที่จะเข้าสู่สถานะถดถอยในปี 2020 ครับ

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ธปท.ก็ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจลงไปอย่างมากแล้วในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อเดือน ..ที่ผ่านมา โดยลดการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ลงจาก 3.3% เป็น 2.8% ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพ แต่ปรากฏว่ามีมติเอกฉันท์ที่จะคงดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 1.5% ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายลงในเดือน ..นั้น ถือว่าได้ทำหน้าที่ในการ "กระตุ้น" เศรษฐกิจไปแล้ว

ทว่าหากมองอีกแง่หนึ่งการลดดอกเบี้ยลงไป 0.25% หลังจากที่เพิ่มดอกเบี้ยไป 0.25% ในเดือน ..2018 จะไม่ใช่การผ่อนคลายนโยบายการเงินมากนัก นอกจากนั้นนโยบายการเงินจะใช้เวลาส่งผ่านประมาณ 12 เดือน แปลว่าการขึ้นดอกเบี้ยเมื่อปีที่แล้วจะส่งผลในปีนี้ แต่การลดดอกเบี้ยปีนี้จะส่งผลในปีหน้า อย่างไรก็ดี กนง. ก็ยืนยันว่านโยบายการเงินปัจจุบันเหมาะสมแล้ว และดูเสมือนว่าจะไม่ต้องการลดดอกเบี้ยลงอีกในเร็ววันนี้ แม้จะกล่าวในแถลงการณ์ว่าตัวเลขเกือบทุกตัวสะท้อนว่า "ฟื้นตัวช้ากว่าคาด" หรือ "ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้" (ทั้งนี้ตลาดคาดการณ์ว่ากนง.จะต้องลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งปลายปีนี้)

สำหรับปี 2020 นั้น ธปท.ประเมินว่าจีดีพีจะขยายตัวดีขึ้นเป็น 3.3% (จาก 2.8% ในปีนี้) แต่ก็ต่ำกว่าที่เคยประเมินว่า จีดีพี ปีหน้าจะขยายตัว 3.7% การขยายตัวที่สูงขึ้นในปี 2020 นั้น จากตัวเลขประมาณการของ ธปท. ผมสรุปว่ามาจากอุปสงค์ในต่างประเทศเป็นหลักเพราะ

  • การบริโภคเอกชนขยายตัวลดลงจาก 3.8% ในปีนี้ เป็นขยายตัว 3.1% (ขยายตัวต่ำกว่าจีดีพีโดยรวม) ในปี 2020 แม้ว่าการบริโภคของภาครัฐจะเพิ่มขึ้นบ้างจากขยายตัว 2.3% ในปี 2019 มาเป็น 3.4% ในปี 2020
  • ธปท.หวังมากจากการลงทุนของภาครัฐว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.5% ในปีนี้เป็น 6.3% ในปีหน้า แต่การลงทุนของภาครัฐนั้นต่ำกว่าเป้ามาหลายปีแล้ว การลงทุนของเอกชนนั้นฟื้นตัวไม่มาก กล่าวคือขยายตัวจาก 3.0% เป็น 4.8% และอาจต่ำกว่าเป้าได้อีกเช่นกันหากการลงทุนของรัฐต่ำกว่าเป้า
  • ธปท.ประเมินว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2020 จะเป็น 30,400 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเดิมที่ 26,300 ล้านเหรียญ การที่ดุลบัญชีเดินสะพัดสูงขึ้นอีก 4,100 ล้านเหรียญนั้นถือว่าค่อนข้างสูง ทั้งนี้ในปี 2018 ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเท่ากับ 32,400 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2019 สำหรับปีนี้นั้น ธปท.ประเมินว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 34,200 ล้านเหรียญ (เพิ่มขึ้นอย่างมากจากที่เดิมประเมินไว้ที่ 26,300 ล้านเหรียญ) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ช่วยทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วต่อไปอีกเพราะประเทศไทยจะยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นจำนวนมาก กล่าวโดยสรุปคือเรื่องเงินบาทแข็งค่าก็น่าจะเป็นปัญหาอีกได้ในปี 2020

ผลสำรวจคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของซีอีโอของไทย (58 รายจากรายงานข่าวเมื่อ 30 ..นั้น ก็มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1.เพียง 19.3% คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว อีก 40.4% คาดว่าเศรษฐกิจจะทรงตัวและ 42.4% คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว (31.6%) หรือถดถอย (8.8%) แปลว่าเศรษฐกิจจะทรงหรือทรุด?

2.แต่ซีอีโอมองธุรกิจของตัวเองว่า 71.4% ยอดขายเพิ่มขึ้น 0-10% อีก 12.5% ยอดขายเพิ่มขึ้น 11-15% และที่เหลือยอดขายเพิ่มขึ้น 15-20% แปลว่าธุรกิจยังดีอยู่มากเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในข้อ 1 ข้างต้น ทั้งนี้ 45.6% ประเมินว่ายอดขายจะทรงตัวและ 31.6% ประเมินว่ายอดขายจะดีขึ้น มีเพียง 15.8% บอกว่ายอดขายชะลอตัวและ 7% บอกว่ายอดขายถดถอย

3.มากถึง 75% บอกว่าจะลงทุนเพื่อรักษาการเติบโตของธุรกิจและอีก 13.6% จะขยายกำลังการผลิตรับดีมานด์ในประเทศ ซึ่งถือได้ว่าการลงทุนจะยังดำเนินการต่อเนื่อง ไม่ได้ตกใจกลัวว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวดังที่กล่าวในข้อ 1 หรืออาจจะส่งผลให้คู่แข่งอื่นๆ (ที่ไม่ได้อยู่ในการสำรวจ) จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอย่างมากในอนาคต เพราะเสียงส่วนใหญ่คือ 43.1% บอกว่ากำลังซื้อในประเทศชะลอตัว 

4.ประเด็นที่น่าสนใจคือการตอบคำถามว่าบริษัทจะรับมือกับเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างไร ซึ่ง 40% บอกว่าจะเจาะตลาดใหม่ทั้งในและนอกประเทศ และอีก 23.6% บอกว่าจะแตกไลน์ธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง (แปลว่าจะพยายามไปกินส่วนแบ่งในตลาดอื่น) มีเพียง 12.7% เท่านั้นที่บอกว่าจะ “wait & see” ทั้งนี้ข้อเสนอแนะหลักให้กับรัฐบาลคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ (60.3%) และการดูแลค่าเงินบาท (24.1%)

กล่าวคือธุรกิจก็จะยังพยายามขยายตัวต่อไปและหวังว่ารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างอุปสงค์มารองรับ แต่หากอุปสงค์โดยรวมไม่เพิ่มขึ้นมากก็คงจะนำไปสู่การแข่งขันกันอย่างรุนแรงที่จะรักษาส่วนแบ่งของตลาดของแต่ละบริษัทเอาไว้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวก็เป็นไปได้ว่าจะมีการตัดราคากันหรือความสามารถในการปรับราคาสินค้าขึ้นจะแทบไม่มี ดังนั้นก็อาจหันมาพยายามลดต้นทุนการผลิต ทำให้เงินเฟ้อลดลงไปอีก ซึ่งจะช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อไปเพราะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นทุนอยู่แล้วและอัตราเงินเฟ้อของไทยก็ถือได้ว่าต่ำเกือบจะที่สุดในโลกอยู่แล้ว

แม้ ธปท.และของซีอีโอของไทย (58 ราย) จะมีความกังวลอยู่บ้าง แต่ดูเสมือนว่าเสียงส่วนใหญ่จะเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในปีหน้า ซึ่งเป็นการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับการประเมินของไอเอ็มเอฟและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ ที่มองว่าเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวลงมากกว่าที่ได้เคยคาดการณ์เอาไว้

แต่ก็ยังประเมินว่าเศรษฐกิจจะไม่ถดถอยและจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นไป ในกรณีของไทยนั้น ธปท.และนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ (รวมทั้ง บล.ภัมรฯ) ประเมินว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ไม่ถึง 3% ในปีนี้ แต่จะขยายตัวประมาณ 3.2-3.3% ในปี 2563

มาถึงตรงนี้ประเด็นที่น่านำมาประเมินคือการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของไอเอ็มเอฟและนักเศรษฐศาสตร์นั้นมีความแม่นยำมากน้อยเพียงใด ซึ่งในเรื่องนี้ได้เคยมีนักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟประเมินความแม่นยำของการคาดการณ์เศรษฐกิจเอาไว้ และผมต้องขอบอกข่าวร้ายว่าข้อสรุปคือ ทั้งไอเอ็มเอฟและนักเศรษฐศาสตร์นั้นคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจคลาดเคลื่อน (ผิด) อย่างมาก ซึ่งปรากอยู่ใน "IMF Working Paper เรื่อง How Well Do Economists Forecast Recessions" (มี..2561)

ข้อมูลพื้นฐานที่ใช้คือการคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีของไอเอ็มเอฟ (ปีละ 2 ครั้งในเดือน เม..และ ..) และการคาดการณ์จีดีพีของนักเศรษฐศาสตร์สำนักต่างๆ (ส่วนใหญ่คือธนาคารและ บล.) ที่รวบรวมโดย Consensus Economist ซึ่งเป็นข้อมูลที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นรายเดือน ทั้งนี้โดยเก็บข้อมูลการคาดการณ์เศรษฐกิจของ 63 ประเทศ (ประเทศพัฒนาแล้ว 29 ประเทศ ประเทศกำลังพัฒนา 34 ประเทศ) ในช่วง 22 ปีระหว่างปี 2535 ถึง 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยประมาณ 10-12% ของช่วงเวลาดังกล่าว หมายความว่าในเวลา 22 ปีนั้น เศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอยประมาณ 2.2-2.6 ปี

งานวิจัยสรุปว่าไอเอ็มเอฟและนักเศรษฐศาสตร์ "miss the magnitude of the recession by a wide margin until the forecast horizon has drawn to a close" กล่าวคือ

1.ในช่วงเวลา 22 ปีที่กล่าวถึงข้างต้นสำหรับ 63 ประเทศนั้น มีกรณีที่เศรษฐกิจถดถอยรวมทั้งสิ้น 153 ครั้ง (เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว 86 ครั้ง ประเทศกำลังพัฒนา 67 ครั้ง) ดังนั้นจึงมีโอกาสให้คาดการณ์ (และ "แก้มือ") ได้กว่า 150 ครั้ง ดังนั้นหากประเมินผิดซ้ำซาก ก็แปลว่ามีนัยสำคัญทั้งในเชิงของความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายและในเชิงของสถิติที่มีความหมายในเชิงวิชาการ

2.ที่น่าเป็นห่วงคือทั้งไอเอ็มเอฟและนักเศรษฐศาสตร์จะปรับการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ (การขยายตัวของจีดีพี) ลงอย่างเชื่องช้า ทำให้การคาดการณ์ความตกต่ำของเศรษฐกิจล่าช้าอย่างมากกล่าวคือโดยรวมแล้ว 1 ปีก่อนการตกต่ำทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้น ทั้งไอเอมเอฟและนักเศรษฐศาสตร์จะคาดการณ์ว่าจีดีพีในปีเศรษฐกิจตกต่ำ (จีดีพีติดลบจริง 2.8%) จะทำนายว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเป็นบวก 3% (ผิดไป 5.8%) และแม้เวลาจะผ่านไปจนถึงเดือน ..ในปีก่อนที่เศรษฐกิจจะถดถอย (เหลือเวลาให้เตรียมการรับมือกับเศรษฐกิจเพียง 3 เดือน) นักเศรษฐศาสตร์และไอเอ็มเอฟก็ยังคาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัว (ไม่ใช่หดตัว) ประมาณ 2.0-2.5%

ต่อมาในเดือน ..ของปีที่เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยไปแล้ว (จีดีพีติดลบ 2.8%) นักเศรษฐศาสตร์และไอเอมเอฟก็คาดการณ์ว่าจีดีพีติดลบเพียง 0.5% ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจจะถดถอยไปแล้ว 9 เดือนในเดือน ..ของปีที่เศรษฐกิจถดถอย นักเศรษฐศาสตร์และไอเอมเอฟจึงปรับการคาดการณ์จีดีพีลงไปที่ติดลบ 2.5% (ตัวเลขจริงคือติดลบ 2.8%)

3.ส่วนใหญ่นักเศรษฐศาสตร์จะคาดการณ์ถูกต้องเพราะจะคาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัว เกือบทุกปีและในความเป็นจริงนั้นเศรษฐกิจก็จะขยายตัวทุกปีเช่นกัน กล่าวคือจะคาดการณ์ถูกต้อง (ว่าเศรษฐกิจขยายตัวอย่างปกติ) มากถึง 1,145 ครั้ง และเคยมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะถดถอย 8 ครั้งที่ผิดพลาด (เป็นกระต่ายตื่นตูม) เพราะเศรษฐกิจไม่ได้ถดถอยจริงในปีต่อไป

ตรงกันข้ามในกรณีที่เศรษฐกิจถดถอยจริง (ในปีถัดไป) 153 ครั้ง แต่มีการคาดการณ์ผิดพลาด (คือนึกว่าเศรษฐกิจขยายตัวเป็นปกติ) ถึง 148 ครั้ง มีเพียง 5 ครั้งเท่านั้นที่คาดการณ์ถูกต้องในเดือน เม..ของปีก่อนหน้าว่า สภาวะถดถอยจะเกิดขึ้นในปีต่อไป ข้อสรุปคือการคาดการณ์เศรษฐกิจนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการคาดการณ์ที่ดีเกินจริงและมักจะไม่สามารถเตือนภัยจากการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้

4.อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลในช่วงหลังจากการเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจของโลกครั้งใหญ่เมื่อปี 2552 ก็พบว่านักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ภาวะถดถอยได้แม่นยำมากขึ้น กล่าวคือหลังจากปี 2552 เกิดภาวะถดถอยในประเทศต่างๆ ของโลก 83 ครั้ง แต่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ผิด 78 ครั้ง กล่าวคือคาดการณ์ถูกต้อง 5 ครั้งในเดือน ..ของปีก่อนที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอย

บทวิเคราะห์ยังมีข้อสังเกตอีกด้วยว่า นักเศรษฐศาสตร์จะเริ่มปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจลง (เริ่มเห็นความผิดปกติและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ) ประมาณกลางปีของปีก่อนหน้าที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอย แปลว่าการปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจนั้นอาจมีความสำคัญในการบ่งบอกความเสี่ยงของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในอนาคตมากกว่าการจะรอให้นักเศรษฐศาสตร์ออกมา "ฟันธง" ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้มาถึงตัวแล้ว