‘รีท-อินฟาฯ’ ดิ่งหนัก ผวา‘กองภาษี’ใหม่สะดุด

‘รีท-อินฟาฯ’ ดิ่งหนัก  ผวา‘กองภาษี’ใหม่สะดุด

นักลงทุน แห่ขายหน่วยลงทุนกองโครงสร้างพื้นฐาน-รีท กดดัน “ทีเอฟเอฟไอเอฟ” ร่วงหนัก 4% ชี้ผลจากบอนด์ยิลด์พุ่ง กังวลกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่สะดุด ขณะ กองรีท อื่นราคารูดเฉลี่ย 8% ใน 1 เดือน

วานนี้ (11พ.ย.62) พบความเคลื่อนไหวราคาหุ้นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ปรับตัวลดลงกว่า 4.84% มาปิดตลาดที่ระดับ 11.80 บาท หรือ 0.60 บาท โดยมีมูลค่าการซื้อขายรวม 546 ล้านบาท ขณะที่ความเคลื่อนไหวดัชนีราคาหลักทรัพย์ของกลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (PF&REIT) ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงเกือบ 8% จากที่ดัชนีวิ่งขึ้นไปแตะระดับ 262 จุด ก่อนจะร่วงลงมาแตะ 242 จุด

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่าราคาหุ้น TFFIF ที่ปรับตัวลดลงนั้น คาดว่าเป็นผลมาจากแรงกดดันใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยิลด์) ที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบอนด์ยิลด์รุ่นอายุ 10 ปี ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 1.7% เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 1.5% จึงทำให้นักลงทุนบางส่วนเทขายหุ้นในกลุ่มที่จ่ายปันผลสูง (ไฮยิลด์) ออกมา 

และ2.ความไม่ชัดเจนของกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ที่จะมาแทนกองทุนรวมออมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งส่งผลให้แรงเก็งกำไรว่า TFFIF จะเป็นหุ้นตัวหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์จากการถูกเพิ่มน้ำหนักต้องหยุดชะงัก อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยยังคงมองภาพเป็นบวก โดยแนะนำซื้อ โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 14.1 บาท เนื่องจากเชื่อว่าผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ยังอยู่ที่ระดับ 4-5% ต่อปีและมีการจ่ายปันผลกว่า 3% ซึ่งสูงกว่าบอนด์ยิลด์รวมถึงยังมีแนวโน้มที่ผลตอบแทนจะปรับตัวสูงขึ้นจากการโอนทรัพย์สินเข้ากองทุนเพิ่ม

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การปรับตัวลงของหลักทรัพย์ในกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์และกองรีทในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากปัจจัยหลักคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ดูเหมือนจะคลี่คลายลงได้แล้ว เดิมทีนักลงทุนมองว่าหลักทรัพย์กลุ่มนี้เป็นเหมือนสินทรัพย์หลบภัย (Safe haven) เพราะมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงถึง 7-8% ต่อปี

ทั้งนี้ ความน่าสนใจของกองทุนอสังหาริมทรัพย์และกองรีทลดลงอย่างมาก เพราะผลตอบแทนในปัจจุบันเหลือเพียง 4-5% ขณะที่โอกาสจะได้ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหุ้นก็มีค่อนข้างน้อย อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนจากส่วนนี้ เพราะเริ่มมีนักลงทุนที่ตัดสินใจโยกย้ายเงินลงทุนจากหลักทรัพย์กลุ่มนี้ไปสู่สินทรัพย์อื่นๆ

“ก่อนหน้านี้ที่เศรษฐกิจผันผวนค่อนข้าง นักลงทุนจึงพยายามมองหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนแน่นอน ซึ่งกองรีทเหล่านี้ก็ค่อนข้างให้ผลตอบแทนดี ขณะเดียวกันการลงทุนในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง เริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในรีทเพิ่มขึ้น”

สำหรับนักลงทุนที่มีลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มนี้อยู่ อาจจะต้องพิจารณาทั้งในส่วนของราคาหลักทรัพย์ และอัตราเงินปันผล ณ ปัจจุบัน หากหลักทรัพย์นั้นๆ ราคาปรับขึ้นมามาก ก็มีโอกาสจะถูกเทขายออกมาได้ ขณะเดียวกันอัตราเงินปันผลจากหลักทรัพย์ในกลุ่มนี้ก็ไม่ควรจะต่ำกว่า 4%

“ความเสี่ยงอย่างหนึ่งของหลักทรัพย์ในกลุ่มนี้คือ สภาพคล่องต่ำ ทำให้เมื่อเกิดการโยกย้ายเงินลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่ หรือกองทุน จะกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ค่อนข้างมาก”

อย่างไรก็ตาม หากเป็นนักลงทุนที่ต้องการลงทุนเพื่อรับเงินปันผลเป็นหลัก การลงทุนในกองรีทก็ยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเป็นกลุ่มหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงเทียบกับความเสี่ยงที่มี

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ มองว่าการปรับตัวลดลงของหลักทรัพย์ในกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์และกองรีท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการโยกย้ายเงินลงทุน หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจลดดอกเบี้ยลง แม้ว่าตามทฤษฎีแล้ว การลดดอกเบี้ยลงจะเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นในกลุ่มนี้ เพราะทำให้นักลงทุนมองหาการลงทุนที่ให้เงินปันผลสูงเช่นนี้ แต่ในขณะเดียวกันการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ ก็เป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดหุ้นกลับมาน่าสนใจ อย่างที่ได้เห็นดัชนีวิ่งขึ้นตอบรับข่าวดังกล่าว ซึ่งนักลงทุนส่วนหนึ่งก็น่าจะโยกย้ายเงินจากกลุ่มกองรีทมาลงทุนในหุ้นสามัญอื่นๆ มากขึ้น