'ดร. เดือนเด่น' นักเศรษฐศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ

'ดร. เดือนเด่น' นักเศรษฐศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ

การสูญเสียอย่างกะทันหันของนักเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ "ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์" ผู้ที่มุ่งมั่นและจริงใจต่อการศึกษาวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ

การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายกำกับดูแลที่ดี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เป็นการสูญเสียนักเศรษฐศาสตร์ระดับมันสมองของประเทศ ผู้ที่มุ่งมั่นและจริงใจต่อการศึกษาวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ วันนี้จึงอยากเขียนถึง ดร.เดือนเด่น นักวิชาการผู้ที่ได้ทำงานมากมายเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ดร.เดือนเด่น จบการศึกษาเศรษฐศาสตรบัณฑิตและเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัย Queen’s ประเทศแคนาดา เศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย McGill ประเทศแคนาดาเช่นกัน หลังจากนั้นได้กลับประเทศไทย มาทำงานที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ทำการศึกษาวิจัยประเด็นด้านนโยบายต่างๆ ของประเทศมากมายกว่า 31 ปี เช่นนโยบายโทรคมนาคมและการขนส่ง นโยบายการแข่งขันและการป้องกันการผูกขาด นโยบายคุ้มครองผู้บริโภค นโยบายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ นโยบายรัฐวิสาหกิจและการกำกับดูแล การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลในภาครัฐและเอกชน

ซึ่งงานเด่นล่าสุดที่สามารถมีผลอย่างสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็คือ การทบทวนลดจำนวนกฎหมาย กฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ของภาคทางการเกี่ยวกับการขออนุญาตเพื่อลดความซ้ำซ้อนและขั้นตอนที่ไม่จำเป็นเพื่อลดอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ และโอกาสของการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นงานที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญและภาคธุรกิจรอคอย

การทำงานวิจัยที่ต่อเนื่องทำให้ ดร.เดือนเด่น เป็นที่ยอมรับในความรู้และความเชี่ยวชาญ ทั้งในวงการเศรษฐศาสตร์และวงการการทำนโยบายของประเทศ ในฐานะนักวิชาการที่มีความรู้จริง และสามารถให้ข้อคิดและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการทำนโยบายสาธารณะ ซึ่งในช่วงระหว่างปี 2550-2551 ดร.เดือนเด่นได้ใช้ความรู้ความสามารถดังกล่าวกลั่นกรองงานด้านนโยบายของกระทรวงการคลังเป็นอย่างดี ในฐานะเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยที่ ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ผมเองไม่เคยได้ร่วมงานกับ ดร.เดือนเด่นโดยตรง แต่มารู้จักความรู้ความสามารถของ ดร.เดือนเด่นมากขึ้นตอนทำงานในภาคเอกชนในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการสถาบันไอโอดี และขับเคลื่อนโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อด้านการทุจริต หรือ CAC ช่วงปี 2554-2561 ซึ่งขณะนั้นทางทีดีอาร์ไอให้ความสำคัญที่จะศึกษาวิจัยเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย โดยมี ดร.เดือนเด่นเป็นผู้ดูแลงานด้านนี้ในฐานะผู้อำนวยการวิจัยนโยบายกำกับดูแลที่ดี

ซึ่งเป็นช่วงที่ทีดีอาร์ไอผลิตงานวิจัยชิ้นสำคัญออกมาหลายเรื่อง ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแข่งขันและการผูกขาดในสังคมธุรกิจของไทย การศึกษาระบบนิเวศตัวแปรและผู้เล่นต่างๆ ในสมการคอร์รัปชันที่ทำให้เกิดการทุจริต และการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ

จากงานวิจัยเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนในความคิดของ ดร.เดือนเด่นคือความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส ที่สามารถเป็นกลไกผลักดันให้ธรรมาภิบาลในการทำนโยบายและการบริหารจัดการกิจการของภาครัฐดีขึ้น นำไปสู่การลดการเอาเปรียบ ลดประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้ง และลดโอกาสของการทุจริตคอร์รัปชัน

โดยครั้งล่าสุดที่ผมได้ร่วมอภิปรายกับ ดร.เดือนเด่น คืองานเสวนาขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เรื่องมารยาทหรือจรรยาบรรณ กรณีการเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ดร.เดือนเด่น ก็ได้ย้ำในประเด็นนี้ ถึงความสำคัญของความโปร่งใสในการสรรหาและคัดเลือกกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยบุคคลที่เข้ารับตำแหน่งกรรมการต้องมีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ ไม่ควรเป็นข้าราชการประจำ และควรมีกลไกตรวจสอบการทำงานของกรรมการที่เปิดเผยให้สาธารณชนทราบ นี่คือตัวอย่างของการสานแนวคิดไปสู่ข้อเสนอแนะในการทำนโยบายที่เป็นประโยชน์

และประเด็นที่ทำให้ ดร.เดือนเด่นเป็นที่ยอมรับในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ในความเห็นของผมคือ ความสามารถในการทำวิจัย โดยเฉพาะในเรื่องที่ยาก มีข้อมูลและรายละเอียดมาก และสามารถใช้ผลจากงานวิจัยมาถ่ายทอดอย่างมีเหตุมีผล เป็นข้อเสนอแนะที่จะแก้ไขปรับปรุงนโยบายสาธารณะของประเทศที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์ของส่วนร่วม กล้าคิดกล้าแสดงความเห็นตามเหตุและผลที่ได้จากงานวิจัย เป็นตัวอย่างให้นักวิจัยรุ่นต่อๆ ไปมีกำลังใจที่จะทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ปัญหาประเทศเราขณะนี้มีมาก ดูได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเราทุกวันนี้ หลายปัญหาเช่นปัญหาความเหลื่อมล้ำ การบังคับใช้กฎหมาย และการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นปัญหาสำคัญของสังคมที่ฉุดรั้งประเทศไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า กระทบความเป็นอยู่และอนาคตของคนทั้งประเทศ ปัญหาเหล่านี้ต้องการการแก้ไข และการแก้ไขต้องมาจากคนในสังคมที่ต้องช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประเทศดีขึ้น

นี่คือการบ้านที่ต้องทำ เป็นการบ้านของทุกคนที่ต้องทำต่อไปเพื่อให้ประเทศไทยของเราดีขึ้น

จากคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์ บัณฑิต

โดย ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

-ขอบคุณภาพจาก TDRI-